AOT คัมแบ็ก! ท่องเที่ยวฟื้น-ผู้โดยสารพุ่ง
บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศตั้งแต่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยยกเลิกตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง ให้มาตรวจครั้งแรกเมื่อถึงประเทศไทย และเมื่อครบ 5 วัน ให้ตรวจด้วย ATK เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
ซึ่งปรากฏว่าได้ผลตอบรับเกินคาด นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทันทีตั้งแต่วันแรก สนามบินที่เคยเงียบเหงากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ระบุว่า
ตั้งแต่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มเป็นเฉลี่ยวันละ 11,623 คน จากช่วงเดือนมี.ค. เฉลี่ยวันละ 7,003 คน หรือ เพิ่มขึ้น 65.97% ขณะที่จำนวนเที่ยวบินขาเข้าระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 141 เที่ยวบิน จากเดือนก่อน 137 เที่ยวบิน หรือ เพิ่มขึ้น 2.92%
โดยแนวโน้มจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดเดือนเม.ย. นี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทย มีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 9-18 เม.ย. นี้ จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 551,665 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 55,167 คน เพิ่มขึ้น 106.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 195,484 คน และผู้โดยสารภายในประเทศ 356,181 คน ในส่วนของเที่ยวบินคาดมีเที่ยวบินให้บริการทั้งหมด 4,715 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 472 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 0.68%
ส่วนสนามบินภูมิภาคน่าจะคึกคักขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะจากตลาดไทยเที่ยวไทย แม้ว่าปีนี้ ศบค. ยังห้ามเล่นน้ำสงกรานต์ แต่ข้อบังคับต่างๆ ดูผ่อนคลายลงเมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย. จะมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 3.34 ล้านคน-ครั้ง และมีเม็ดเงินสะพัดรวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ล่าสุด ศบค. ได้เห็นชอบหลักการปรับเงื่อนไขรับผู้เดินทางเข้าประเทศเพิ่มเติม ทั้งปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อเมื่อมาถึงประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ตรวจ ATK วันแรกแทน RT-PCR, ปรับลดวงเงินประกัน, ลดเวลาการกักตัว ฯลฯ ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์ในช่วงสงกรานต์ก่อนที่จะปลดล็อกเงื่อนไขเพิ่มเติม
ดูจากแนวโน้มแล้วหากหลังสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนน่ากังวล คงได้เห็นการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม สอดรับกับที่ภาครัฐเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค. ที่จะถึงนี้ หนุนบรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคักไปด้วย
“หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว” ที่เจ็บหนักตั้งแต่เกิดโรคระบาด น่าจะกลับมากระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง คาดหวังการเทิร์นอะราวด์ของธุรกิจ เช่นเดียวกับ AOT ที่ถูกโควิดเล่นงานจนผลประกอบการดิ่งเหลว งวดปี 2562/2563 (ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563) ซึ่งเกิดการระบาดเป็นครั้งแรก กำไรลดลงเหลือ 4,320.68 ล้านบาท จากงวดปีก่อนมีกำไรสุทธิ 25,026.37 ล้านบาท
ต่อมาปี 2563/2564 (ต.ค. 2563 – ก.ย. 2564) พลิกขาดทุน 16,322.01 ล้านบาท และล่าสุดงวดไตรมาส 1 ปี 2564/2565 (ต.ค.-ธ.ค. 2564) ยังขาดทุนอยู่ 4,271.66 ล้านบาท แต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แน่นอนว่าสนามบินซึ่งถือเป็นด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวย่อมได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ
ด้านบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ผลการดำเนินงานปกติงวดไตรมาส 2 ปี 2564/2565 (ม.ค.-มี.ค. 2565) จะปรับตัวดีขึ้น คาดขาดทุนลดลงเหลือ 3.1 พันล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 3.7 พันล้านบาท และไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 3.5 พันล้านบาท โดยได้ปัจจัยบวกจากผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้น 659% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 76% จากไตรมาสก่อน
หลังกลับมาใช้มาตรการ Test & Go ตั้งแต่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา และหลายประเทศทั่วโลกลดระดับความเข้มงวดในการเดินทาง ส่งผลให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นมาก ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในประเทศเพิ่มเป็น 7.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 23% จากไตรมาสก่อน
โดยฝ่ายวิจัยปรับประมาณการผลการดำเนินงานปกติงวดปี 2564/2565 (ต.ค. 2564 – ก.ย. 2565) และ ปี 2565/2566 (ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566) ดีขึ้นเป็นขาดทุน 1 หมื่นล้านบาท และกำไร 6.8 พันล้านบาท จากเดิมคาดขาดทุน 1.05 หมื่นล้านบาท และกำไร 6.1 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยปรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม ตามการผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้ามาประเทศไทย รวมถึงมีการเร่งปรับโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่ 1 ก.ค. นี้ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ง่ายขึ้น