กรุงศรี คาดกรอบเงินบาทอ่อนค่า 33.40 - 33.85 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้
กรุงศรี มองกรอบเงินบาท 33.40 - 33.85 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ อ่อนค่าเมื่อเทียบสัปดาห์ก่อนหน้า 33.37 - 33.65 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐ และประชุมธนาคารกลางยุโรป
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.40 - 33.85 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.61 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.37 - 33.65 บาท/ดอลลาร์
เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลด์)ของสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2562
หลังรายงานการประชุมวันที่ 15-16 มีนาคม ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ถึงโอกาสสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50bp เป็นจำนวนหลายครั้งเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ
อีกทั้งผู้ดำเนินนโยบายเห็นว่าจะมีการปรับลดขนาดงบดุลลงในอัตราราว 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งจะเป็นการลดการถือครองพันธบัตรลง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (Mortgage-backed Securities) 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน
โดยมาตรการ Quantitative Tightening นี้จะเริ่มหลังการประชุม FOMC วันที่ 3-4 พฤษภาคม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 1,861 ล้านบาท และ 8,462 ล้านบาท ตามลำดับ
นางสาวรุ่ง กล่าวว่า กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนมีนาคมของสหรัฐ เพื่อประเมินแนวทางการคุมเข้มนโยบายของเฟดในระยะถัดไป
นอกจากนี้ เงินยูโรมีแนวโน้มผันผวนหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส รอบแรกค่อนข้างสูสี โดยผู้นำคนปัจจุบันมีคะแนนนำผู้ท้าชิงฝ่ายขวาจัด และการเลือกตั้งรอบตัดสินจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 เมษายน อีกทั้งตลาดจะจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 14 เมษายน ซึ่งคาดว่าจะแสดงความกังวลมากขึ้นต่อเงินเฟ้อที่เร่งตัวแม้เศรษฐกิจยูโรโซนจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามในยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย
สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 5.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงเกินคาด และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีครั้งใหม่ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสด และพลังงาน เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดเช่นกันในอัตรา 2.0% โดยกระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปีนี้เป็น 4-5%
ขณะที่ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบนำเข้ารวมถึงค่าขนส่ง ในภาวะเช่นนี้ เรามองว่าค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันหากราคาน้ำมันดิบทรงตัวที่ระดับสูงนานกว่าคาด
นอกจากนี้ มาตรการควบคุมโรคในจีนฉุดรั้ง Sentiment เกี่ยวกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยเช่นกัน อนึ่ง กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจซึมลงก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์และอีสเตอร์
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์