ดีเดย์ มิ.ย. เก็บ ‘ค่าเหยียบแผ่นดิน’ ต่างชาติ

ดีเดย์ มิ.ย. เก็บ ‘ค่าเหยียบแผ่นดิน’ ต่างชาติ

การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ได้เลื่อนจากกำหนดเดิมเริ่มต้นจัดเก็บในเดือนเมษายน 2565 ออกไปอีก 2 เดือน หรือเริ่มในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งจะเริ่มต้นเก็บจากการเดินทางจากทางอากาศก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนทางบกและทางน้ำ ยังอยู่ระหว่างหารือวิธีดำเนินการ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิพัฒน์ รัชกิจประการ ระบุ กรณีผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ซบเซา เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินทางผ่านด่านพรมแดนสะเดาเข้ามาใช้จ่ายและท่องเที่ยวเหมือนทุกปี ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะนักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จากการเรียกเก็บ ค่าเหยียบแผ่นดิน คนละประมาณ 5,000-7,000 บาทนั้น ยืนยันว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 

เพราะปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน หรือค่าธรรมเนียมการเข้าไทย ที่เก็บในอัตราคนละ 300 บาท เพราะที่ผ่านมาได้เลื่อนการจัดเก็บออกไปแล้ว

ค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ที่เฉลี่ยคนละประมาณ 5,000 บาทนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ในประเทศไทยจำนวน 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายห้องพักสำหรับการรอผลตรวจ 1 คืน และการทำประกันภัยในวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 2 หมื่นดอลลาร์  ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ รัฐบาลเตรียมผ่อนปรนมาตรการให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในกรณีของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ที่เดินทางเข้ามาน้อยอาจเป็นเพราะมีค่าใช้จ่ายด้านนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่การเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินตามที่เข้าใจกันแน่นอน

ส่วนของการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ได้เลื่อนจากกำหนดเดิมเริ่มต้นจัดเก็บในเดือนเมษายน 2565 ออกไปอีก 2 เดือน หรือเริ่มในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งจะเริ่มต้นเก็บจากการเดินทางจากทางอากาศก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนทางบกและทางน้ำ ยังอยู่ระหว่างหารือวิธีดำเนินการ 

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อนำเงินมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและดูแลสวัสดิการนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป โดยการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน คนละ 300 บาท แบ่งเป็นวงเงิน 50 บาท ไปจัดซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว กรณีเกิดอุบัติเหตุจะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท และกรณีเสียชีวิต จะได้รับชดเชย 1 ล้านบาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 45 วัน เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุข 

ส่วนอีก 250 ล้านบาท จะนำเข้ามาเก็บไว้ในกองทุนนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่าจะนำเงินไปใช้อะไรได้บ้าง โดยเฉพาะนำไปส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สามารถแข่งขัน และสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน