"บิ๊กป้อม” จี้แผนรับมืออุทักภัยหน้าฝน 65ป้องน้ำท่วมนิคมฯบางปู
สมุทรปราการมีจุดอ่อนเป็นพื้นที่ราบต่ำ จึงมีปัญหาเมื่อฝนตกหนักจนระบายน้ำไม่ทัน จนทำให้ปี 2559 เกิดน้ำท่วมใหญ่รุนแรงในนิคมอุตสาหกรรมบางปู พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีจึง สั่งให้เตรียมความพร้อมเฉพาะหน้าเพื่อรับมือฤดูฝน ปี 65 ที่คาดว่าจะมาเร็วกว่าปกติ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง เปิดเผยว่า น้ำท่วมใหญ่รุนแรงในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ในปี 2559 สาเหตุส่วนหนึ่งมากจากคลองลำสลัดที่อยู่ใกล้เคียงนิคมฯบางปูมีการบุกรุกทำให้ปากคลองที่เคยกว้าง 5 เมตร เหลือ 2 เมตร เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ กระทั่งปี 2564 ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในบริเวณพื้นที่กว่า5,000 ไร่ของนิคมฯบางปูทำให้มีปริมาณน้ำในพื้นที่มากถึง 2 ล้าน ลบ.ม. คูคลองโดยรอบมีน้ำเต็มทุกคูคลอง จึงทำให้เกิดน้ำหลากเข้ามาในพื้นที่บริเวณนิคมฯ อีกทั้งเป็นช่วงที่เกิดน้ำทะเลหนุนสูง จึงเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำลงสู่ทะเล
จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยๆในพื้นที่นิคมฯบางปูซึ่งมีพื้นที่มากถึง 5,039 ไร่ ถือเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการ มีจำนวน 370 โรงงาน อยู่ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 324 โรงงาน เขตประกอบการเสรี 46 โรงงานมีผู้ใช้แรงงานประมาณ 58,000 คนมี เงินลงทุนในประมาณ 203,595 ล้านบาทและมูลค่าการส่งออกประมาณ 49,590 ล้านบาท ทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดสมุทรปราการด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2564 และเพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำสองเกิดขึ้นจนส่งกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนในพื้นที่
ล่าสุด พลเอกประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติและประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง ประชุมร่วมกับคณะทำงานบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่โดยรอบ ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามการจัดแผนเผชิญเหตุ แผนเตรียมความพร้อมเฉพาะหน้าให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. นี้ เพื่อรับมือช่วงฤดูฝนปี 65 ที่จะมาถึงซึ่งคาดว่าฝนจะมาเร็วกว่าปีปกติ
รวมทั้งติดตามแผนบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมนิคมฯบางปูและพื้นที่ใกล้เคียงทั้งแผนระยะกลางและระยะยาวเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและปกป้องผลกระทบนิคมฯ บางปูและประชาชนในพื้นที่และรอบนอก
โดยแผนดังกล่าวต้องสอดรับกับนโยบายมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 13 มาตรการของรัฐบาล ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับจังหวัด/ท้องถิ่นได้มีการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้เร็วยิ่งขึ้นและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา เป็นต้น ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้จึงได้เร่งรัดติดตามใน 3 เรื่องคือ 1.แผนการดำเนินการระบายน้ำในบริเวณพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู 2.แผนงานการขุดลอก การกำจัดวัชพืช ในคลองลำสลัด คลองหัวลำภูคลองหกส่วนและคลองธรรมชาติอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและ3.ติดตามแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่คลองชายทะเล
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นิคมฯบางปูและพื้นที่รอบนอกประสบปัญหาน้ำท่วมหนักบ่อยๆเกิดจากปัจจัยหลักๆ 6 ด้าน คือ
1.เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
2. เกิดจากการระบายน้ำในบริเวณลำคลองใกล้เคียงมีปัญหาตื้นเขิน
3. อยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนทำให้การระบายน้ำลงทะเลล่าช้า
4. สิ่งก่อสร้างรุกล้ำทางระบายน้ำ
5. การถมพื้นที่คลองเพื่อการก่อสร้างขยายถนน และชุมชนมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น
และ 6. การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่รอบบริเวณนิคมฯ
โดยแนวทางแก้ปัญหาในขณะนี้คือ ได้สั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจำทำแผนดำเนินงานโครงการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็ว รวมทั้งเร่งรัดแผนงานโครงการต่างๆให้สามารถดำเนินการโดยเร็ว ทั้งการตัดยอดน้ำจากพื้นตอนบนเบนไปทิศทางอื่นไม่ให้ปริมาณน้ำมากระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจด้านล่าง การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสู่คลองระบายน้ำสุวรรณภูมิและอ่าวไทยโดยเฉพาะพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ การแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ การวางระบบท่อลอดใต้ถนน (pipe jacking) เขื่อนป้องกันตลิ่ง การขุดลอกคลอง เป็นต้น
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้วางแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปูไว้5แนวทาง คือ
1.จัดหาเครื่องสูบน้ำทดแทนเครื่องเดิมที่มีอายุการใช้งานมากว่า10ปี
2.จัดหาเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติทดแทนสถานีสูบน้ำเดิม
3.ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำและระบบโทรมาตร 4.ปรับปรุงประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำเดิมและใหม่และ
5.ปรับปรุงคลองชลประทานภายใต้แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างปี 2567"
สำหรับวางแนวทางป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่นิคมฯบางปูและรอบนอก กรมชลประทานได้ให้ความสำคัญทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว โดยในระยะเร่งด่วนต้องแล้วเสร็จโดยเร็วก่อนเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งมีการคาดการณ์ว่าปีนี้น่าจะมาเร็วขึ้น ด้วยการเร่งทำการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำทั้งหมด ส่วนระยะกลางมีแผนปรับปรุงคลอง 7 สาย ตามแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ คลองพระองค์ไชยานุชิตคลองปีกกา คลองสำโรง คลองด่าน คลองประเวศน์บุรีรมย์ คลองอุดมชลขจร และคลองชวดพร้าว -เล้าหมู-บางพลีน้อย
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างบริเวณสะพานน้ำยกระดับสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร มีการขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของคลองต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความจุของบ่อหน่วงน้ำ เพิ่มกำลังการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำเดิม สร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ เพิ่มเติม เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากคลองขายทะเลลงสู่อ่าวไทยรวมทั้งพัฒนาระบบพยากรณ์ฝนและน้ำท่วมเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้ติดตามสถานการณ์ล่วงหน้า และใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำท่วมแบบบูรณาการร่วมกัน เช่น เตรียมพร่องน้ำในคลองต่าง ๆ
ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำหรือแผนเผชิญเหตุ กรณีปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือไหลมาสมทบมากจนมีระดับความสูงกว่าระดับเฝ้าระวัง จะพร่องน้ำในคลองชายทะเล โดยสถานีสูบน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นแก้มลิงออกสู่ทะเล ควบคุมให้อยู่ในระดับ ๐.๐๐ ม.รทก. มีตามแนวคันพระราชดำริจะควบคุมอาคารชลประทานไม่ให้น้ำหลากเข้าไปในกรุงเทพมหานคร(พื้นที่ชั้นใน) ส่วนกรณีคลองแสนแสบ คลองประเวศน์บุรีรมย์และคลองสำโรง มีระดับน้ำสูงกว่าระดับเฝ้าระวังจะประสานกับสำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อระบายน้ำผ่านแนวคันพระราชดำริออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งได้เตรียมแผนพร่องน้ำในลำคลองต่างๆลงในช่วงที่คาดว่าจะเกิดฝนตกหนักขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอรับน้ำเพื่อระบายลงสู่ทะเล