บลจ.แนะจัดพอร์ตสู้เงินเฟ้อ หนุนหลังเกษียญสุขสบาย

บลจ.แนะจัดพอร์ตสู้เงินเฟ้อ  หนุนหลังเกษียญสุขสบาย

กูรู แนะ จัดพอร์ตการลงทุน มีเงินใช้ยามเกษียณอย่างมีสุข บลจ.ทหารไทยอีสท์สปริง แนะพอร์ตลงทุน 3 รูปแบบ ตามความเสี่ยงรับผลตอบแทน 3% -8.5% บลจ.กสิกรไทย ชี้ หากต้องการผลตอบแทนสูง ควรเพิ่มสัดส่วนลงทุนหุ้นต่างประเทศ

รัฐบาลประกาศ “สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ” เนื่องจากในปีนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบและในปี 2573 จะมีสัดส่วนประชากรที่สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 27% ของประชากรทั้งหมด   คาดว่าจะไม่เพียงพอรองรับสังคมสูงวัย คาดการณ์กันว่ารัฐจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพปีนี้มากถึง 2.2 แสนล้านบาทห รือประมาณ 2.8% ของจีดีพี

ในปีนี้ เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่า นอกจาก “คนไทยยังมีเงินออมไม่มากพอรองรับการใช้ชีวิตในยามเกษียณ” แล้ว ภายใต้ภาวะตลาดการลงทุนที่ผันผวนจากปัจจัยเงินฟ้อสูง แล้วเงินออมระดับ 4- 5 ล้านบาท จะยังเป็นไปได้หรือไม่  เพื่อไว้ใช้สุขสบายหลังเกษียณ ?  และควรจัดหรือปรับพอร์ตลงทุนอย่างไรเพื่อชนะเงินเฟ้อ? 

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ทหารไทย อีสท์สปริง กล่าวว่า ถึงแม้ปัจจุบันการลงทุนค่อนข้างมีความผันผวน แต่สำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณ อยากให้พิจารณาถึงเป้าหมายระยะยาวในการลงทุน มากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น หรือ การหลบความผันผวนในระยะสั้นจนพลาดเป้าหมายในระยะยาว 

สำหรับการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาว เพื่อการเกษียณอายุนั้น มี 3 สิ่งจำเป็น ที่ผู้ลงทุนควรจะต้องคำนึงถึง ดังนี้ 

 1.ความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ซึ่งข้อนี้เองจะเป็นตัวกำหนดเบื้องต้นว่าเราควรลงทุนในสินทรัพย์อะไรในสัดส่วนเท่าไหร่  แต่สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แต่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น การลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวอาจทำให้ผลตอบแทนไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาในส่วนนี้

2.ระยะเวลาการลงทุน ซึ่งระยะเวลาลงทุนนี้เองจะเป็นตัวบอกว่า เรามีระยะเวลาที่คาดดว่าจะลงทุนได้ยาวเพียงใด ซึ่งหากระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างยาวอาจมีการลงทุนในตราสารทุนที่มากกว่าตราสารหนี้ และค่อยๆลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนหรือสินทรัพย์เสี่ยงลงตามระยะเวลาที่คาดว่าจะลงทุนได้จนถึงเกษียณ

3.ข้อจำกัดส่วนบุคคล ในแต่ละบุคคลอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น รายได้ที่มีหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ในแต่ละเดือนอาจจะต้องแบ่งมาใช้จ่ายหรือดูแลบุคคลในการอุปการะของตน หรือต้องนำสินทรัพย์หรือรายได้มาผ่อนชำระที่อยู่อาศัยทำให้เรื่องของสภาพคล่องที่จำเป็นอาจมีความแตกต่างกัน

แนะประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

ส่วนหลังเกษียณต้องมีเงินเท่าไหร่?  นายบดินทร์ กล่าวว่า  จริงๆแล้ว หลังเกษียณควรจะมีเงินเท่าไหร่นั้น  "ไม่ได้มีคำตอบตายตัว" เพราะแต่ละบุคคลมีรูปแบบของการใช้ชีวิต(Lifestyle) ที่แตกต่างกัน 

แต่เราสามารถประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณได้โดยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา  คือ 

 1.อายุเกษียณและอายุขัยเฉลี่ย เช่นอายุเกษียณที่ 55 ปีและอายุขัยที่ 80 ปี  ก็จะมีจำนวนปีหลังเกษียณที่ 25 ปี

2.ค่าใช้จ่ายต่อปีที่ต้องใช้หลังเกษียณ ในส่วนนี้ควรประมาณ เอาไว้อย่างน้อย 60% ของรายจ่ายปีสุดท้ายก่อนเกษียณ

 3.อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งโดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายในแต่ละปีจะมีเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะใช้อัตราเงินเฟ้อที่ 3% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยระยะยาว เพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายที่อาจจะต้องเพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่เป็นผลมาจากเงินเฟ้อ

ชูโมเดลพสร้างผลตอบแทนสูง 8.5%

 จากนั้นจะสร้างพอร์ตหรือปรับพอร์ตลงทุนอย่างไรเพื่อให้เหมาะกับเป้าหมายระยะยาวและชนะเงินเฟ้อ แนะว่าเราควรแบ่งเงินลงทุนในพอร์ทเป็น 2 ส่วน คือ  ส่วนหลัก(Core)ของพอร์ตเพื่อเป้าหมายระยะยาว และการลงทุนเพิ่ม( Satellite)เพื่อหาผลตอบแทนสูง ( Alpha) จากการลงทุนในช่วงสั้นๆ  

 โดยสามารถแบ่งสัดส่วนการลงทุน  3 รูปแบบ ดังนี้

 1.ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ มีสัดส่วนตราสารทุนประมาณไม่เกิน 20%อาจมีการลงทุนที่เป็น Core port 90% และ Satellite 10% สร้างผลตอบแทนคาดหวังระยะยาว เฉลี่ยที่ 2.5-3% ต่อปี 

2. ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง มีสัดส่วนตราสารทุนประมาณไม่เกิน 60% อาจมีการลงทุนที่เป็น Core port 80% และ Satellite 20%สร้างผลตอบแทนคาดหวังระยะยาว  เฉลี่ยที่ 5.5-6% ต่อปี 

3. ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง มีสัดส่วนตราสารทุนประมาณ 80-100% อาจมีการลงทุนที่เป็น Core port 70% และ Satellite 30%สร้างผลตอบแทนคาดหวังระยะยาว เฉลี่ยที่ 7.5-8.5% 

 ความผันผวนระยะสั้นไม่กระทบพอร์ตเกษียณ

นายนาวิน อินทรสมบัติ  รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ  บลจ. กสิกรไทย กล่าวว่า  ในสถานการณ์ตลาดผันผวน มีการเปลี่ยนแปลงใหม่หลังโควิดและสงครามยืดเยื้อ เงินเฟ้อพุ่ง  มองว่า ไม่ได้กระทบกับพอร์ตการลงทุนเพื่อเกษียณที่เป็นการลงทุนระยะยาว 

ทั้งนี้ในระยะสั้น หากประเมินแล้วว่า พอร์ตลงทุนมีความเสี่ยงมากเกินไป ผู้ลงทุนก็สามารถปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความผันผวนสูงก่อนได้ แต่เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่าลืม ปรับพอร์ตการลงทุนกลับมาที่เป้าหมายเดิมที่จะเงินใช้อย่างมีความสุขในช่วงเกษียณ  

อย่างไรก็ตาม หากใครที่ไม่มีความสามารถในการปรับพอร์ตในช่วงตลาดผันผวน แนะนำว่า  ไม่ควรปรับพอร์ตใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการปรับพอร์ตมักจะเป็นการปรับพอร์ตตามอารมณ์มากกว่า ทำให้อาจพลาดโอกาสไปในระยะยาวที่จะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้

 “การลงทุนรองรับวัยเกษียณ เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งความผันผวนระยะสั้นแทบไม่มีผลกระทบต่อเป้าหมายการลงทุนเลย จากในอดีตที่ผ่านมา ทุกช่วงเวลาจะมีวิกฤติแตกต่างกันไป ตอนนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงที่ต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากเกินไป ยกเว้นหลักจากนี้ ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 3 ทำให้ต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นหลัก”

ทบทวนใช้เงินหลังเกษียณเพื่อรับพอร์ต

นายนาวิน กล่าวว่า  ตอนนี้ แต่ละคนทบทวนความต้องการใช้เงินหลักเกษียณเปลี่ยนไปหรือไม่?  หากเห็นว่า เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเป็นเวลานานและมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น  ทำให้เงินใช้ 20,000 ต่อเดือนหลังเกษียณ ไม่เพียงพอแล้ว สำหรับในอนาคตในอีก 15-20 ปีข้างหน้านี้  ทำให้ตอนนี้ก็ต้องปรับพอร์ตการลงทุน เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงมากขึ้น นั้นคือ  “หุ้น” โดยการกระจายการลงทุนไปใน “หุ้นต่างประเทศ” เพิ่มขึ้น เน้นกลุ่ม“หุ้นเติบโต” สร้างผลตอบแทนระดับ 10%ต่อปี ในระยะยาว ยังให้ผลตอบแทนที่ดีชนะเงินเฟ้อได้   

นอกจากนี้สิ่งสำคัญการจัดพอร์ตรับวัยเกษียณ เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงขึ้นนั้น ยังไม่ควรมีการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล  เพราะตอนนี้อาจจะเร็วเกินไป ยังมีความเสี่ยงสูงของการเสียหายเงินทั้งก้อน จากราคาที่มีความผันผวนสูงและการถูกโจรกรรมยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ 

ขณะที่ระยะข้างหน้า หากใครที่ไม่ได้มีภาระค่าครองชีพสูงขึ้นมาก แน่นอนว่า พอร์ตการลงทุนเดิมที่เคยลงทุนตามช่วงอายุและเป้าหมายความต้องการใช้เงินวัยเกษียณอย่างสุขสบาย สามารถใช้ได้อยู่   ยกตัวอย่าง วัยทำงาน (วัยกลางคน) อายุ 40 ปี จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ 20 ปี จำนวน 5.04 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 21,000 บาทต่อเดือน 

แนะจัดพอร์ตตามช่วงอายุ

สำหรับคำแนะนำรูปแบบการลงทุน สำหรับช่วงอายุเริ่มต้นออมเงินที่ 40-49 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย 20-25% ของเงินเดือน เน้นลงทุนในหุ้น 75%และที่เหลือในตราสารหนี้ 25%เพื่อโอกาสในการเติบโตเงินลงทุน และปรับลดสัดส่วนของหุ้นลงเหลือ 45% และมาเน้นการลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้นเป็น 55% เมื่อขยับเข้าใกล้ปีเกษียณ เพื่อช่วยปกป้องเงินลงทุนเมื่อใกล้เกษียณอายุ

 รวมถึงหากสามารถรับความเสี่ยงการจากลงทุนในต่างประเทศ ก็ควรเปิดโอกาสรับผลตอบแทนจากทั่วโลก ผลตอบแทน10%ต่อปี    อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนควรเริ่มวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะให้มีระยะเวลามากพอให้เงินสามารถงอกเงยได้ตรงตามเป้าที่วางไว้

โดย ช่วงอายุเริ่มต้นออมเงิน เริ่มทำงานถึง 39 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย 10% - 15% ของเงินเดือน, อายุ 40-49 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย20-25%ของเงินเดือน, อายุ 50-54 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย45-50%ของเงินเดือน และ อายุ 55-59 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย80-85%ของเงินเดือน

 จะสังเกตได้ว่า เราควรเริ่มออมอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ตอนอายุน้อยๆ เพราะยิ่งเราเริ่มต้นออมช้าเท่าไหร่ ภาระในการเก็บออมต่อเดือนก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเงินออมรายเดือน(%ของเงินเดือน)นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคน

ทั้งนี้ถ้ายิ่งออมเร็ว จำนวนเงินออมต่อเดือนจะยิ่งน้อยลง เพราะมีระยะเวลาออมเงินที่นานขึ้น ถ้ายอมรับความเสี่ยงในการลงทุนได้สูงขึ้น เช่น การลงทุนในกองทุนผสม ที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้มีโอกาสรับผลตอบแทน10%ต่อปี จะมีเงินออมต่อเดือนน้อยลง​

สำหรับปัจจัยหลักจะมาจากการรู้จักเลือกลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น กองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ฯลฯ โดยต้องคำนึงถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในแต่ละช่วงอายุ  ซึ่งโดยปกติเมื่อมีอายุน้อยก็ควรรับความเสี่ยงได้มากและค่อยๆลดไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนมือใหม่ทั่วไปอาจจะรับความเสี่ยงมากไปหรือน้อยเกินไปในแต่ละช่วงอายุทำให้ปลายทางไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเกษียณได้