อินทรี อีโคไซเคิลย้ำZero Waste เป็นจริงได้ไม่ใช่แค่ฝัน!

อินทรี อีโคไซเคิลย้ำZero Waste เป็นจริงได้ไม่ใช่แค่ฝัน!

อินทรี อีโคไซเคิล ตอกย้ำจุดยืน ร่วมช่วยภาคอุตสาหกรรมลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste)รองรับ BCGโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นจริงได้ไม่ใช่แค่ฝัน!

 สุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด  บริษัทในเครือปูนซีเมนต์นครหลวง กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญและมีความยินดีในการให้บริการด้านคำปรึกษาและดำเนินการช่วยภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมลดขยะฝังกลบให้เป็นศูนย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ และการนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงขยะ (refuse derived fuel : RDF) สนับสนุนการปิดวงจร Close the Loop ของขยะที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ตามหลักการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยที่เรียกว่า "BCG"  หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 "จากประสบการณ์และความเข้าใจที่ลึกซึ้งในการจัดการขยะในทุกขั้นตอน ด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ เราสามารถช่วยลูกค้าให้ประสบความสำเร็จในการลดขยะฝังกลบให้เป็นศูนย์และบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้"

 

นอกจากนี้ยังสามารถช่วยภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการปรับปรุงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการรักษาสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการนำของเสียมาเผาร่วมกับเชื้อเพลิงหลักในเตาปูนซีเมนต์ โดยกากของเสียจะต้องนำมาผ่านการปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบทางเลือก

 การนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีของเสียหรือขี้เถ้าหลงเหลือไปสู่หลุมฝังกลบ (Zero Waste to Landfill)

นอกจากนี้ อินทรี อีโคไซเคิลยังมีโครงการผลิตเชื้อเพลิงขยะ Refuse Derived Fuel (RDF) นั่นคือการนำขยะมูลฝอยจากชุมชนที่ผ่านการคัดแยกแล้ว รวมทั้งการรื้อร่อนขยะที่เผาไหม้ได้จากบ่อขยะมาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้กลายเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถช่วยให้นำขยะชุมชนมาใช้เป็นพลังงาน อีกทั้งบ่อขยะสามารถรองรับขยะได้นานขึ้น และช่วยลดการหลุดรอดของขยะพลาสติกสู่ทะเล

 สุจินตนา กล่าวว่า การนำขยะกลับมาใช้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของ UN SDGs ข้อที่ 17 ที่เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและการจัดการของเสีย  เมื่อเร็วๆ นี้ อินทรี อีโคไซเคิล ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวสูงสุด ระดับ 5 ผู้ให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับระดับสูงสุดครอบคลุมทุกกระบวนการเพื่อความยั่งยืนในการกำจัดขยะอุตสาหกรรมอีกด้วย