สินค้าแพงมาอีกระลอก! ข้าวของจำเป็น ร้านอาหาร ส่งสัญญาณแบกต้นทุนไม่ไหว

สินค้าแพงมาอีกระลอก! ข้าวของจำเป็น ร้านอาหาร ส่งสัญญาณแบกต้นทุนไม่ไหว

ต้นทุนการผลิตสินค้าพุ่งไม่หยุด และคงไม่กลับไปจุดเดิม ทำให้ผู้ประกอบการส่งสัญญาณถึงรัฐ ถึงการแบกภาระไม่ไหว และจะกลายเป็นฝันร้ายของผู้บริโภค ต้องเผชิญราคาสินค้าแพงอีกรอบ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ลามไปถึงร้านอาหาร ที่หวั่นค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ซ้ำเติมวัตถุดิบพุ่ง

ครึ่งปีหลัง อาหาร สินค้าจำเป็น ส่งสัญญาณแบกภาระต้นทุนไม่ไหวต่อเนื่อง หลังไร้ปัจจัยบวกหนุนธุรกิจ ซ้ำร้ายโลกเต็มไปด้วยความเสี่ยงทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติศรีลังกา ลามโลกเป็นโดมิโน เอฟเฟ็กต์ ด้านกำลังซื้อรากหญ้าหดหาย ปรับการซื้อสินค้า มุ่งไซส์เล็ก ประหยัดเงินก้อนโต เลิกตุน ธุรกิจร้านอาหารกังวลวัตถุดิบ-ค่าแรงแพง 

แหล่งข่าวจากวงการสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า แนวโน้มการผลิตสินค้าจำเป็นในช่วงครึ่งปีหลัง ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจ ซ้ำร้ายเผชิญปัจจัยลบหนักขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะภาวะต้นทุนวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหาร ซึ่งฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรใหม่ทิศทางราคามีแต่จะพุ่งขึ้น เช่น ปาล์มดิบ เกษตรกรสวนปาล์มไม่ยอมรับราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ราคาแป้งสาลีในตลาดโลกที่จะขยับจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น

++สินค้าจำเป็นแบกต้นทุนไม่ไหว

“ตอนนี้ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคกัดฟันแบกต้นทุนที่สูงมาก แม้พยายามบริหารจัดการภายในองค์กร ทั้งการประหยัดรอบด้าน แต่แนวโน้มครึ่งปีหลังจะแบกรับภาระไม่ไหวแล้ว เพราะแบกมาหลายเดือน และสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย มีแต่แย่และหนักกว่าเดิม ไม่มีทางที่ราคาจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม”

นอกจากนี้ สถานการณ์หลายประเทศสาหัสขึ้นทั้งสงคราม วิกฤติศรีลังกา ฯ อาจเป็นโดมิโนลามโลก ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทย และปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่มีรายได้กลับเข้ากระเป๋า ส่งผลต่ออำนาจการจับจ่ายใช้สอย มีการปรับพฤติกรรมซื้อสินค้าขนาดเล็กลง ซื้อถี่ขึ้น ไม่เน้นซื้อปริมาณมากเพื่อตุนสินค้าแล้ว

สินค้าแพงมาอีกระลอก! ข้าวของจำเป็น ร้านอาหาร ส่งสัญญาณแบกต้นทุนไม่ไหว

“ครึ่งปีหลัง รัฐจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่กำลังซื้อก็ไม่กลับมา โดยเฉพาะประชากรฐานรากที่ไม่มีเงิน ทำให้การซื้อสินค้าจำเป็นมีขนาดเล็กลง อย่างการขายสินค้าออนไลน์ 30 รายการส่งฟรี ลูกค้าไม่เลือก ขอเป็น 10 ชิ้นส่งฟรีแทน”

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบการขนส่งสินค้า แต่ยังไม่ส่งผลต่อราคาสินค้าของบริษัท เนื่องจากเป็นต้นทุนเดิมที่ทำสัญญาล่วงหน้า 6 เดือน ซึ่งครึ่งปีหลังจะมาพิจารณาต้นทุนกันอีกครั้ง

“น้ำมันแพง ผู้ขนส่งไม่สามารถขอขึ้นราคาขนส่งสินค้ากับเราได้ เพราะทำสัญญากันล่วงหน้าแล้ว หรือหากน้ำมันลดราคา เราก็ไปขอลดราคาขนส่งไม่ได้เช่นกัน”

รายงานข่าวจากบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) หรือบีเจซี ระบุว่า ผลกระทบราคาพลังงานเชื้อเพลิงเกิดขึ้นก่อนมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่สงครามยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้า รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปาล์ม ฟิล์มที่นำมาทำซองบรรจุภัณฑ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

"บริษัทต้องดูแลบริหารจัดการเพื่อประหยัดต้นทุน ส่วนราคาสินค้ากำลังพิจารณาอยู่ และอาจมีการลดโปรโมชั่นลงบ้าง ต้องดูความพร้อมตลาดและผู้บริโภคด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ"

สินค้าแพงมาอีกระลอก! ข้าวของจำเป็น ร้านอาหาร ส่งสัญญาณแบกต้นทุนไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม สินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งสัญญาณแบกภาระต้นทุนไม่ไหว ต้องการขยับราคาสินค้า ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว สินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิต บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ฯ ที่ผ่านยังมีสินค้าปรับไซส์ ปรับราคาล่วงหน้าแล้ว เช่น บะหมี่ฯ ไวไวปรุงสำเร็จ น้ำอัดลมแฟนต้าฯ กลับกันผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายยังตรึงราคาไว้ เช่น กระทิงแดง คาราบาวแดง ขายราคา 10 บาท เป็นต้น

++วัตถุดิบแพง-ค่าแรงขั้นต่ำขึ้น กระทบร้านอาหาร

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ครึ่งปีหลังธุรกิจร้านอาหารต้องรับมือความท้าทายด้านต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น บางรายการราคาพุ่ง 100% แต่บริษัทเน้นบริหารจัดการหลังบ้าน เพื่อไม่ให้กระทบการขึ้นราคาหน้าร้าน

ที่ผ่านมา เซ็นฯ ได้ผนึกพันธมิตรบริษัท คิงมารีน ฟู้ดส์ มาอยู่ภายใต้บริษัทพร้อมมอบภารกิจในการจัดหาวัตถุดิบจากทั่วโลกที่ราคาเหมาะสมมาทดแทนวัตถุดิบบางตัว แต่ไม่ให้กระทบความต้องการของลูกค้าอย่าง แซลมอน มีหลายแหล่ง เช่น ชิลี เนื้อหมูแพง แต่ซีฟู้ด ราคาต่ำลง และคุณภาพวัตถุดิบดีขึ้น ผสานสัดส่วนวัตถุดิบต้นทุนที่แพงและราคาลดลงให้สมดุล เป็นต้น

“วิกฤติโควิด-19 กระทบธุรกิจร้านอาหารให้ปิดตัวลงจำนวนมาก ทำให้วัตถุดิบบางรายการดีมานด์ ราคาลดลง แต่คุณภาพดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาคือนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางพื้นที่หลังวันแรงงาน 1 พ.ค.65 ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการร้านอาหารอีกด้าน บริษัทจึงต้องนำหุ่นยนต์มาเสิร์ฟบริการลูกค้ามากขึ้น