เกษตรฯ แนะปลูก ‘ถั่วเขียว-ข้าวโพด’ ช่วงแล้ง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ระบุ จากการที่เกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทานปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องหรือปลูกมากกว่า 2 ครั้งต่อปี ทำให้บางพื้นที่ประสบปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ระบุ จากการที่เกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทานปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องหรือปลูกมากกว่า 2 ครั้งต่อปี ทำให้บางพื้นที่ประสบปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าว และการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องยังทำให้ดินเสื่อมโทรม เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว
ที่ผ่านมากรมฯได้ให้คำแนะนำเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชไร่ในฤดูแล้งเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ โดยเน้นปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเมื่อเทียบกับการปลูกข้าว มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น และมีตลาดรองรับผลผลิตอย่างกว้างขวาง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเขียว ซึ่งนอกจากจะใช้น้ำน้อยแล้วยังสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ด้วย
กรมฯได้วางแผนการเตรียมความพร้อมด้านเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร โดยพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม เพื่อเป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่เกษตรกร ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านเมล็ดพันธุ์ สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองตรงตามคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำไว้ใช้เองหรือจำหน่ายในชุมชน โดยคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ จัดอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี โดยมีนักวิชาการเกษตรของกรมฯเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ
สำหรับการพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ในปีนี้ ได้ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองของกรมฯ จำนวน 5 กลุ่ม ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี และอำนาจเจริญ มีเกษตรกรทั้งหมด 48 ราย พื้นที่ดำเนินการ 235 ไร่ โดยเกษตรกรได้ดำเนินการปลูกถั่วเขียวในฤดูแล้งแล้ว
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวในจังหวัดอุทัยธานีอีก 1 กลุ่ม โดยจะเริ่มปลูกในเดือนเมษายนนี้
สำหรับถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ให้ผลผลิตสูง 232 กิโลกรัมต่อไร่ การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน มีขนาดเมล็ดใหญ่ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก การแปรรูปเป็นวุ้นเส้น สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ
นอกจากนี้ กรมฯยังได้พัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 5 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร มีลักษณะเด่น คือ ทนแล้ง ผลผลิตสูง 1,176 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่ และโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส เก็บเกี่ยวเร็วที่อายุ 95-100 วัน
โดยดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 5 และจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ และตั้งเป้าหมายให้สมาชิกภายกลุ่มเกษตรกรนำร่องนำเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 5 ผลิตในพื้นที่ 100 ไร่ ภายใน 4 จังหวัดเป้าหมายดังกล่าว