การฟัง... จุดอ่อนและจุดตาย ของคนที่เป็นหัวหน้า/ผู้จัดการ/ผู้นำ
ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะเริ่ม "การฟัง" แบบผู้นำและ Coach และสิ่งที่ตามมา จะเป็นประโยชน์อย่างมากแบบที่คาดไม่ถึงระหว่างท่านกับทีมงาน หรือแม้กระทั่งกับคนในครอบครัวและชีวิตส่วนตัวของท่านเอง !
Part.1.ฟัง ครั้งสุดท้าย... เมื่อไหร่!?
ครั้งสุดท้ายในฐานะที่ท่านเป็นลูกน้อง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่ท่านคุยกับคนที่เป็นเจ้านายของท่าน คนเหล่านั้น “ฟังท่านอย่างใส่ใจ” คือเมื่อไหร่ครับ!?
ท่านอาจจะใช้เวลานึกนานหน่อย แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็น ท่านรู้สึกว่า ผู้จัดการหรือเจ้านายของท่าน
เคยไม่ค่อยฟังท่านหรือไม่? ท่านอาจจะตอบได้ทันทีเลยว่า ทุกวัน หรือทุกครั้งที่คุยกัน!
Part.2.ยิ่งสูง.... หูยิ่งตัน!
ถ้าเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ อายุงานไม่มาก ยังไม่เก๋า จะถูกให้รับบทบาทให้มีหน้าที่ต้องฟัง เพราะยังเป็นแค่พนักงานระดับปฏิบัติการ
แต่เมื่อพนักงานระดับปฏิบัติการ ค่อยๆเติบโตมาเป็นผู้จัดการ หรือออกไปเป็นเจ้าของกิจการ การฟัง... กลายเป็นสิ่งที่ลืมไปซะสนิทเลย ไม่ใช่เพราะเก็บกดตอนยังเป็นลูกน้องตัวเล็กๆที่ต้องฟัง แต่เป็นเพราะ ทักษะการฟังหายไปพร้อมกับความอดทนที่จะฟัง เนื่องจากตำแหน่งยิ่งสูง... หูกลับยิ่งตัน แต่ปากกลับยิ่งกว้าง! ชอบพ่นและพูดแต่ไม่ชอบฟัง!
Part.3.แล้วทำไม... ถึงไม่ค่อยฟังกัน!?
ส่วนมากบรรดาผู้จัดการหรือผู้นำ มักจะบอกว่า “ยุ่งจนไม่มีเวลาที่จะฟังใคร” นั่นก็เป็นทั้งข้ออ้างและข้อเท็จจริง ยิ่งงานยุ่ง ยิ่งรู้สึกเวลามีไม่เพียงพอที่จะทำงานอยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมาฟังลูกน้อง!?
ยิ่งผู้จัดการหรือผู้นำบางคน ที่มีอคติกับลูกน้อง มักจะคิดไปว่าลูกน้องคนนี้ชอบพูดมาก ชอบบ่น ชอบพูดเรื่อยเปื่อยไม่ค่อยเข้าประเด็น ก็ยิ่งไม่อยากฟังเข้าไปอีก
Part.4. ผลเสียที่มากกว่าที่คิด ของการ“ไม่ฟัง”!
ผลเสียมีมากกว่าที่คิดจริงๆนะครับ เพราะการที่ท่านสักแต่ว่า “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” เพราะไม่มีสมาธิ เพราะไม่สนใจที่จะฟัง ทำได้แค่ทนฟัง ท่านจะไม่ได้รับร้องข้อมูล ข้อเท็จจริง ของปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น
หนักไปกว่านั้น ท่านจะไม่ได้รับรู้ ความรู้สึกของลูกน้อง ในขณะที่ลูกน้องต้องการคำแนะนำ ต้องการความช่วยเหลือ หรืออย่างน้อยให้เจ้านายได้ฟังได้รับรู้ก็ยังดี
แต่สิ่งที่ลูกน้องได้รับเกือบทุกครั้งจากเจ้านายก็คือ....
เจ้านาย( หัวหน้า/ผู้จัดการ/ผู้นำ) ฟังแบบ.... ไม่มองหน้า เพราะในใจเจ้านายร้อนรน เพราะยุ่ง หรือร้อนรุ่มเพราะมีอคติ และเจ้านายคิดในใจว่า เมื่อไหร่มันจะพูดให้จบๆซะที โดยเจ้านายลืมคิดไปว่า ทุกอย่างที่เจ้านายคิดและแสดงออกมานั้น มันชัดยิ่งกว่าชัดว่า “ไม่อยากฟัง!”
และเจ้านายหลายคน แสดงออกชัดเจนยิ่งกว่า ด้วยการฟังแบบมีสีหน้าหงุดหงิด ขมวดคิ้ว ทำหน้ายุ่งๆ จนลูกน้องท้อใจที่จะเล่า จะบอกเรื่องที่เจ้านายควรรับรู้ แต่เจ้านายทำหน้าแบบไม่อยากจะรู้!
ถ้าไปเจอเจ้านายบางประเภท ที่ชาติที่แล้วเป็น“ชาวสวน” คือชอบพูดสวน พูดแย้ง พูดขัด ลูกน้องยังพูดไม่จบประโยค เจ้านายผู้เป็นชาวสวนมาหลายชาติภพ ก็จะรีบพูดสวนทันที!
หรือเจอเจ้านายผู้รู้ไปหมดทุกเรื่องยกเว้นเรื่องลูกน้อง ก็มักจะด่วนสรุปโดยที่ลูกน้องยังพูด ยังรายงานไม่จบ จนลูกน้องต้องจำใจจบคำพูด เพราะเจ้านายด่วนสรุป(แบบผิดๆ)ไปเรียบร้อยแล้ว!
Part.5.ประโยชน์ของการ ฟังแบบผู้นำและ Coach
ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะเริ่ม ฟังแบบผู้นำและ Coach และสิ่งที่ตามมา จะเป็นประโยชน์อย่างมากแบบที่คาดไม่ถึงระหว่างท่านกับทีมงาน หรือแม้กระทั่งกับคนในครอบครัวและชีวิตส่วนตัวของท่านเอง!
อย่างแรก ท่านจะได้ยินสิ่งที่คนต้องการบอกกับท่านจริงๆ ไม่ใช่ได้ยินแค่เสียงแต่ไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงแบบที่ผ่านมา อย่างที่สอง ท่านกำลังให้เกียรติคนที่กำลังสื่อสารกับท่าน แล้วท่านจะได้รับความเคารพ ความนับถือจากใจจากคนทุกคนที่สื่อสารกับท่าน ส่วนประโยชน์อีกมากมาย... ท่านจะค้นพบจากการฟัง!
Part.6.เริ่มง่ายๆโดย....
1.ฟังแบบเป็นมิตร ด้วยสายตา ไม่ใช่ฟังแค่หู เพราะคนส่วนมากที่ขาดทักษะการฟัง จะฟังด้วยหู แต่ไม่ได้ยิน ไม่สบตา แต่เมื่อท่านหยุดทุกอย่างที่คิดที่ทำ ปรับสภาพจิตใจ แล้วสบตาด้วยความเป็นมิตร ท่านจะได้รับทั้งข้อความที่เป็นคำพูด น้ำเสียงที่บ่งบอกความในใจ และภาษากายของผู้พูด!
2.ฟัง ด้วยใจ ใส่ใจ เข้าใจความรู้สึก เมื่อท่านสบตา แสดงความตั้งใจสนใจที่จะฟัง ความใส่ใจของท่านจะค่อยๆแสดงออกมา และสิ่งที่ท่านแสดงออกมาทั้งหมดเป็นการบอกกับผู้พูดว่า ท่านใส่ใจ เข้าใจในความรู้สึก คนที่พูดกับท่านจะยิ่งไว้วางใจ บอกสิ่งที่ท่านควรรับรู้มาทั้งหมด
3.ฟัง โดยไม่ยึดตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ถึงแม้สิ่งที่ฟังจะขัดความรู้สึกความเชื่อของตัวเอง
เพราะบ่อยครั้ง เรามักจะใช้ค่านิยมและความเชื่อของตัวเรา ด่วนสรุปตัดสินคนพูดโดยที่ยังไม่ทันได้ฟังให้จบ ท่านต้องลืมบรรทัดฐาน เลิกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ฟังแบบใจเป็นกลาง ว่างเปล่าเพื่อที่จะไม่ด่วนตัดสินด่วนสรุป
4.ฟัง เพื่อช่วยให้หาทางออกด้วยตัวเองให้มีสติ ด้วยการตั้งคำถามให้คิด
นี่คือขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การสรุป ด้วยการตั้งคำถามแบบเป็นมิตร ไม่ใช่ตั้งคำถามแบบคาดคั้น จับผิด
แต่ถามเพื่อให้ผู้พูดได้มีสติ ได้คิด ไปจนถึงเริ่มมองเห็นปัญหาและทางออกที่แท้จริง
นี่เป็นกระบวนการฟังแบบผู้นำและฟังแบบ Coach ที่จะช่วยพัฒนาทั้งตัวท่านและคนที่พูดกับท่านไปพร้อมๆกัน
ค่อยๆ ฝึกไปทีละขั้น ช่วงแรกอาจฝืนความรู้สึกตัวเองบ้าง แต่เมื่อท่านเริ่มใช้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว
ท่านจะคิดได้ในทันทีว่า... ที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้ฟังใครอย่างจริงจังเลย รู้ยังงี้ฟังแบบนี้มาตั้งนานแล้ว!