2ข้อคิดสำหรับปี 2023 “วิกฤติหรือไม่” อยู่ที่ “มุมมอง และ ปฏิกิริยาตอบสนอง” !
ความยากของการคิดในแต่ละสถานการณ์ที่ผู้บริหาร รวมทั้งทีมงานทุกระดับ ทุกคนมักจะพบในแต่ละวันก็คือ…เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่วิกฤติขององค์กรหรือหน่วยงาน…
1.“ในสถานการณ์วิกฤติ ต้อง “คิดบวก” ในสถานการณ์ที่ดีเลศ ต้อง “คิดลบ” !
Part.1.ไม่ใช่เรื่อง ย้อนแย้ง แต่เป็นเรื่องที่น่าคิด !
ความยากของการคิดในแต่ละสถานการณ์ที่ผู้บริหาร รวมทั้งทีมงานทุกระดับ ทุกคนมักจะพบในแต่ละวันก็คือ…เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่วิกฤติขององค์กรหรือหน่วยงาน…บ่อยครั้งที่เรามักจะคิดในแง่ลบ และมักจะคิดในแง่ลบที่มากกว่าสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น จนทำให้ท้อหรือถอดใจ ผลก็คือเป็นการตอกย้ำและขยายผลสิ่งที่ไม่ดีให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น
ในทางตรงกันข้าม…ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างดูดีเหลือเกินทั้งการบริหารองค์กรของผู้นำที่บริษัทมีการเจริญเติบโตที่โดดเด่น หรือพนักงานในแต่ละหน่วยงานได้รับความสำเร็จได้รับการเลื่อนขั้น…ทุกๆอย่างในเรื่องงานและชีวิตช่างดีจนเกินคาด… บ่อยครั้งที่เรามักจะคิดบวกเกินไปกว่าความเป็นจริง หลงระเริงกับความสำเร็จที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนทำให้คิดว่าความสำเร็จที่เป็นอยู่จะคงอยู่และดียิ่งขี้นตลอดไป…..
ทั้ง 2 สถานการณ์ที่คนทุกระดับคิด เป็นธรรมชาติของคนที่ผมเรียกว่า “คิดและยึดติดกับสิ่งที่เป็นอยู่มากเกินไป”! จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ผลของการคิดแบบยึดติดจะทำให้เกิดสิ่งที่ “ผิดความคาดหมาย”ตามมาโดยเฉพาะผู้ที่ คิดบวกมากเกินไปในสถานการณ์ที่กำลังดีวันดีคืน!
แทบทุกท่านอาจจะได้เรียนรู้ ได้ยิน ได้อ่านในเรื่องการคิดบวกในสถานการณ์ที่เลวร้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะยิ่งสถานการณ์เลวร้ายยิ่งจำเป็นต้องคิดบวก คิดสร้างสรรค์เพราะสถานการณ์เหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมและยกระดับเราให้ “เก่งและแกร่ง”ยิ่งขึ้น โดย เลือกมองในมุมที่เราอาจจะไม่เคยมอง…ในสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้ เราได้เรียนรู้ เราได้ทดสอบ เราได้ประโยชน์อะไรบ้างกับสิ่งที่เกิดขี้น และเมื่อท่านเริ่มมอง เริ่มคิดอย่างจริงจัง ท่านก็จะพบทางสว่างจากปัญญาและสติที่ท่านพิจารณากับสิ่งที่เกิดขึ้น…
สิ่งที่น่าห่วงก็คือ กลุ่มผู้นำ ผู้บริหาร ที่กำลังพบสถานการณ์ดีๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ ผ่านการคิดบวกเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายมาแล้ว และสามารถผ่านมาได้เป็นอย่างดีในหลายๆครั้ง…แต่ไม่เคยเรียนรู้วิธีการที่จะคิดในแง่ลบเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ดูเหมือนดีโดยเฉพาะดีแบบคาดไม่ถึง!
ผมไม่ได้แนะนำให้ ทุกท่านคิดในแง่ลบ….แต่ผมกำลังแนะนำ “วิธีคิดในแง่ลบเพื่อป้องกัน ความผิดพลาด ความผิดหวังแบบคาดไม่ถึง”! เพราะความผิดพลาดของผู้นำในหลายๆธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึง ขนาดใหญ่ก็คือ….เพลินและหลงระเริงกับความสำเร็จ จนขยายการลงทุน หรือ รุกไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง..จนกระทั่งไปหัวทิ่มหัวคะมำ เกิดความผิดพลาด ความล้มเหลวจากการขยายและรุกอย่างไม่หยุดยั้ง ถึงจะเริ่มได้คิดว่าพลาดไปแล้ว!
Part.2.ไม่ใช่คำพูดเท่ห์ๆ แต่เป็นภาคบังคับ!
การฝึกคิดในแง่ลบระหว่างที่เผชิญกับสถานการณ์ที่ดีเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ ! แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการคิดในแล่ลบขณะที่เผชิญกับสถานการณ์ที่กำลังดี จะช่วยให้เราหยุดคิดและตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจ….นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้รุกไปโดยไม่คิดแล้ว ยังช่วยต่อยอดสิ่งที่ดีให้มีโอกาสดียิ่งขึ้น….จากการวิเคราะห์ว่า
ถ้าจะรุกต่อต้องระมัดระวังในเรื่องอะไรบ้าง? อะไรที่จะเป็นความผิดพลาด หรือจะเกิดเหตุพลิกผันที่ไม่ได้คาดหมายในเรื่องอะไรบ้าง? และสิ่งที่เราคิดว่าดีในปัจจุบัน….จะดีไปได้อีกนานเท่าไหร่? มีอะไรบ้างที่เราอาจจะลืมหรือมองข้ามและสิ่งนี้อาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดหรือความล้มเหลวได้?.....
การตั้งคำถามเหล่านี้ ผมเรียกว่า….”เป็นการคิดในแง่ลบเชิงสร้างสรรค์” เพราะยิ่งสถานการณ์บวกยิ่งต้องคิดลบ แต่เป็นการคิดลบทั้งในเชิงป้องกันและในเชิงสร้างสรรค์
เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ที่ผู้บริหารเก่งๆที่ล้มเหลว…เกือบจะร้อยทั้งร้อย….มักจะล้มเหลวในช่วงที่เพิ่งประสบความสำเร็จและเป็นความล้มเหลวที่ต่อเนื่องจากความสำเร็จทันที!
ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ แต่อย่าลืมที่จะ “คิดในแง่ลบเชิงสร้างสรรค์” ด้วยนะครับ
เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต้องไปคิดบวกในสถานการณ์วิกฤติ!
2. “วิกฤติหรือไม่” อยู่ที่ “มุมมอง และ ปฏิกิริยาตอบสนอง” !
Part.3.อย่าให้วิกฤติมาทำให้ วิกลจริต!
หลายปีที่ผ่านมา มีหลายประเด็นให้แต่ละองค์กรเกิดอาการตระหนกและ “วิตกจริต” จากหลายเรื่องอย่างที่ทราบๆกัน ซึ่งเรามักจะเห็นอาการ “ตระหนก” แต่ไม่ “ตระหนัก”ของแต่ละองค์กรปีละหลายๆครั้ง ก็พอเข้าใจได้ครับ
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ วิกฤติที่เกิดมีมากหรือน้อย…. แต่ประเด็นอยู่ที่….
1.เรามักจะติดตามข่าวสารจนเกิดอาการ “ตระหนก”เกินความเป็นจริงหรือไม่?
2.ในฐานะผู้นำ ผู้บริหารมืออาชีพ เราควรจะเห็นสัญญาณที่เกิดขึ้นหรือไม่ ?
3.ถ้าวิกฤติเกิดขึ้น…(ไม่ว่าจะมากหรือน้อย) ทำไมต้องรอให้รุนแรงก่อนแล้วค่อยมาคิดแก้ไข?
“วิกฤติ..เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะขยายผลวิกฤติให้มากยิ่งขึ้น หรือ จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นช่วงเวลาทองของการ…..”ลอกคราบและสร้างสรรค์”ได้หรือไม่ ขี้นอยู่กับ วิธีมองและวิธีรับมือของสิ่งที่จะเกิดขึ้น”!
Part.4.ไม่มีอะไรยากเกินไปถ้าจะทำ!
ตัวอย่างเช่น…
@ ถ้าเกิดวิกฤติในเรื่อง กำลังซื้อในตลาดถดถอย ลูกค้าเริ่มซื้อน้อยลง….
วิธีคิดและวิธีรับมือก็คือ “เป็นโอกาสที่จะขยายหรือสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆที่เรายังเข้าไปไม่ถึงหรือไม่เคยคิดที่จะเข้าถึง จากการสรรค์สร้างสินค้า-บริการรูปแบบใหม่ๆ สู่ตลาดใหม่ๆ เพื่อชดเชยกลุ่มลูกค้าเดิมที่เริ่มลดลง”
@ ถ้าเกิดวิกฤติในเรื่อง ต้นทุนของการผลิตสินค้า-บริการเพิ่มสูงขึ้น….
วิธีคิดและวิธีรับมือก็คือ…แทนที่จะคิด “ผลักและโยนภาระ”ไปให้ลูกค้า (ซึ่งคู่แข่งของเราต้องทำแน่) ท่านจะ “ซื้อความรู้สึก”เพื่อให้ “ได้ใจ”ลูกค้าของท่าน…โดยที่ท่านไม่เพิ่มราคา แต่กลับ เพิ่มมูลค่าในรูปแบบการให้บริการเชิงรุกเพื่อให้ลูกค้าของท่านประทับใจมากยิ่งขี้น แต่สิ่งที่จะตามมาก็คือลูกค้าองท่านนอกจากจะไม่เปลี่ยนใจไปซื้อกับคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า ยังจะแนะนำลูกค้ามาให้ท่านโดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องไปใช้ Campaign ลุกค้าแนะนำลูกค้าให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย…
@ ถ้าเกิดวิกฤติในเรื่อง ยอดขายจากช่องทางขายต่างๆของท่านเริ่มลดลงอย่างรุนแรง
วิธีคิดและวิธีรับมือก็คือ….เป็นโอกาสที่ท่านจะ “ลดหรือปรับช่องทางขายที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่คุ้มกับต้นทุน” แต่เพิ่มช่องทางขายใหม่ๆหรือเพิ่มศักยภาพช่องทางขายที่ท่านมีอยู่ (เช่นจะเพิ่มศักยภาพ ทีม TELE-SALES ที่ยังยึดติดทักษะวิธีการเดิมๆ โดยเพิ่มวิธีการใหม่ๆ ผสมผสานกับช่องทาง Onlineในการ ขาย สร้าง รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบยั่งยืน) ท่านก็จะค้นพบโอกาสในการ “ยกระดับและปรับเปลี่ยน”ช่องทางขายของท่านในวันนี้!
@ ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดยินดีปรีดาถ้าวิกฤติจะเกิดขึ้นกับท่าน เพียงแต่ท่าน “ตระหนัก”ถึงสิ่งที่จะเกิดขี้นอย่างไม่”ตระหนก” ท่านจะมีทั้ง สติและปัญญามองเห็นหนทางที่ท้าทายรอพิสูจน์ฝีมือของท่าน เพราะ”ปฏิกิริยาตอบสนองของทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้น คือตัวชี้วัดศักยภาพขององค์กรและผู้นำตัวจริง”!
@ สรุปประเด็นหลักของข้อคิดก็คือ ….
ท่านเล็งเห็นโอกาสอะไรบ้างจากวิกฤติที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจของท่าน?
และถ้าเห็นแล้ว ท่านจะเริ่ม “คิดก่อน-ทำก่อน”ในรูปแบบใดได้บ้าง? ..เพราะทุกวิกฤติที่เกิดขี้น….ก็เป็นวิกฤติที่เกิดกับคู่แข่งของท่านเช่นกัน แต่อาจเป็นโอกาสของท่านครับ!
สวัสดีปีใหม่ 2566 ขอให้เป็นปีที่ดีของผู้อ่านทุกๆท่านนะครับ