ลงทุนให้กำไร สดใสไปกับ China Clean Energy
"กำไรหุ้น" ในดัชนี Solactive China Clean Energy ที่รวบรวมบริษัทจดทะเบียน "ธุรกิจพลังงานสะอาดจีน" โดยเฉพาะในปี 2023 ถึง +29.54% ด้วยแรงสนับสนุนเงินลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดแตะ 1.1 ล้านล้านดอลล่าร์
นักวิเคราะห์ทั่วโลกคาดการณ์การเติบโตของกำไรหุ้นในดัชนี Solactive China Clean Energy ที่รวบรวมบริษัทจดทะเบียนธุรกิจพลังงานสะอาดจีนโดยเฉพาะในปี 2023 ถึง +29.54% ด้วยแรงสนับสนุนเงินลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดแตะ 1.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เทียบเท่ากับการลงทุนในพลังงานฟอสซิลนับตั้งแต่ปี 2004
นำโดยประเทศจีนที่มีส่วนแบ่งเงินลงทุนราว 49.2% หรือ 5.46 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ผ่านการลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมที่รวมกันเพิ่มขึ้นราว 17% ซึ่งเร่งตัวขึ้นจากการเติบโตระยะยาวที่ปีละ 8.7%
จากข้อมูลของ Mordor Intelligence ซึ่งมีปัจจัยผลักดันที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก หรือปัญหาพลังงานขาดแคลนในยุโรป ทำให้ต้องหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทนเพิ่มเติม จึงทำให้แต่ละประเทศจำเป็นต้องหามาตรการลดการใช้พลังงานฟอสซิลที่สร้าง CO2 และหันมาใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ ที่ปล่อย CO2 ต่ำ อย่างแหล่งพลังงานสะอาด หรือ พลังงานหมุนเวียนที่มาจากธรรมชาติทดแทน เช่น น้ำ, แสงแดด, ลม เป็นต้น
จากข้อมูลของ Carbon Brief เปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี 2005 แหล่งพลังงานที่ปล่อย CO2 มากที่สุดในโลกคือถ่านหิน และประเทศที่ใช้มากที่สุดมาตั้งแต่ 2005 เป็นต้นมา คือ ประเทศจีน ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ ณ ปี 2005 กว่า 70%
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2020 ตั้งเป้าหมายปล่อย CO2 สูงสุดภายในปี 2030 และปลอดคาร์บอนในประเทศภายในปี 2060 โดยระบุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ของจีนว่าจะเร่งการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่มีการปล่อย CO2 ต่ำอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2025 ดังนั้นจากแนวทางของประเทศจีนทำให้จีนจำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในประเทศให้เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น
ผลลัพธ์ของการผลักดันธุรกิจพลังงานสะอาดของจีนนับแต่การลงนามในความตกลงปารีส ทำให้ประเทศจีนเป็นผู้นำห่วงโซ่อุปทานของการผลิตพลังงานสะอาด
โดยข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าปี 2021 งานประกอบ ติดตั้งรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในสัดส่วน 78% และ 70% ตามลำดับมาจากบริษัทสัญชาติจีน
ดังนั้น หากทั่วโลกต้องการเร่งพัฒนาและติดตั้งพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีส ธุรกิจพลังงานสะอาดในจีนจะได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้นำด้านห่วงโซ่อุปทานมากที่สุด
ตัวอย่างของบริษัทที่เป็นผู้นำพลังงานสะอาดของจีน เช่น บริษัท LONGi Green Energy Technology เป็นผู้ผลิตแผงโซล่าร์เซลล์ซิลิคอนชนิดผลึกเดี่ยวรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นชนิดที่มีประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานเป็นไฟฟ้าได้มากที่สุด
โดยปี 2013 บริษัทได้รับรางวัล Most Innovative Company บริษัทที่มีนวัตกรรมยอดเยี่ยมจากนิตยสาร Fastcompany ด้วยการผลิตแผงซิลิคอนสำหรับแผงโซล่าร์เซลล์ที่มีคุณภาพดีและต้นทุนต่ำที่สุด และนับตั้งแต่ปี 2013 จนถึง 2021 บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้ก้าวกระโดดถึง +56% ต่อปี
หรืออีกบริษัทพลังงานลมในจีนอย่างบริษัท Goldwind ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับทุนจากแผนพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของรัฐบาลจีนมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทและในปัจจุบันยังเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยการถือหุ้นของรัฐบาลจีนราว 40%
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้ประกอบธุรกิจพลังงานลมถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม โดยสภาพลังงานลมโลกเปิดเผยว่ากำลังการผลิตที่ติดตั้งในปี 2020 ทั่วโลกโดยบริษัท Goldwind อยู่ในลำดับที่ 3 ของโลกและเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ส่วนในด้าน Valuation ของการลงทุนในหุ้นธุรกิจพลังงานสะอาดภายในประเทศจีนที่คาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ทั่วโลก และรวบรวมโดย Bloomberg ถือว่าน่าสนใจลงทุน เพราะตัวเลขการเติบโตของกลุ่มพลังงานสะอาดในจีนนั้นมากกว่าการเติบโตของกำไรในดัชนีหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ (A-share) กว่า 2 เท่า และเมื่อเทียบกับการลงทุนในสหรัฐอเมริกาอย่างหุ้นในดัชนี S&P500 ที่มีโอกาสติดลบ -1.74% ในปีนี้ เห็นได้ว่าหุ้นพลังงานสะอาดในจีนมีอัตราการเติบโตของกำไรโดดเด่นมากในปีนี้
จากปัจจัยต่างๆ บ่งชี้ว่าธุรกิจพลังงานสะอาดของจีนมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากความตกลงปารีสที่เป็นแกนหลักของทั่วโลกในการผลักดันให้ประเทศต่างๆ ลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่ธุรกิจพลังงานสะอาดในจีนเป็นผู้นำด้านห่วงโซ่อุปทาน
ดังนั้นความต้องการลงทุนพลังงานสะอาดจากทั่วโลกย่อมส่งผลประโยชน์แก่บริษัทในจีน อีกทั้งอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยคำมั่นที่ต้องการปลอดคาร์บอนภายในปี 2060 หรืออีกกว่า 40 ปีข้างหน้า ย่อมส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจพลังงานสะอาดมีอนาคตที่สดใส และส่งผลให้พอร์ตการลงทุนที่มีธุรกิจพลังงานสะอาดในจีนมีโอกาสเติบโตสดใสไม่แพ้อนาคตของธุรกิจนี้เช่นกัน
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager