“ความฝัน” ของ ผู้จัดการ ..(ที่ไม่เคยเป็นจริง) !
ความท้อแท้ ความทนอยู่ที่ไม่ใช่อยู่ทน ของบรรดาผู้จัดการในแต่ละที่ ที่ต้องเผชิญแรงกดดัน จากส่วนบน แรงต้านจากส่วนล่าง จนเหมือน ผู้จัดการโดดเดี่ยวอย่างไม่ตั้งใจและไม่เต็มใจ
Part.1.ความฝันของผู้จัดการทุกที่....
ในการทำงาน ความฝันของคนที่เป็นผู้จัดการ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจอะไร และเป็นผู้จัดการฝ่ายใดก็ตามมีความคาดหวังหลักๆอยู่สองส่วน ที่เรียกว่า ส่วนบน กับ ส่วนล่าง
ส่วนบน ก็คือ เจ้าของบริษัท ผู้บริหารระดับสูง หรือทุกคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าผู้จัดการ
ส่วนล่าง ก็คือ บรรดาลูกน้องของผู้จัดการ
เพราะผู้จัดการ อยู่ตรงกลาง ต้องแบกรับ ส่วนบน และต้อง แบกภาระส่วนล่าง ยังไม่รวมผู้จัดการของหน่วยงานอื่นๆที่ต้องประสานงาน
ความฝันของผู้จัดการ...(ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริง) ก็คือ...
การได้รับ “การสนับสนุน” อย่างเต็มที่ จากส่วนบน และได้รับ “การตอบสนอง” อย่างดีจากลูกน้อง
Part.2.ความฝัน กับ สิ่งที่ได้รับ จากส่วนบน
ส่วนบน ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือ ผู้บริหารระดับสูง ย่อมมีความคาดหวังสูง จากคนที่เป็นผู้จัดการ
และสิ่งที่คาดหวัง มักจะสูงกว่าสิ่งที่เป็นจริง!
ตัวอย่างเช่น คาดหวังจากผู้จัดการฝ่ายขาย ให้ทำยอดขายได้ทะลุเป้าหรือเกินเป้า คาดหวังจากผู้จัดการฝ่ายผลิต ให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและตรงตามเวลา คาดหวังจากผู้จัดการฝ่ายบุคคลให้บริหารจัดการเรื่องกำลังคนได้แบบไม่มีคนลาออก รับคนได้ตรงคุณสมบัติ รับสมัครคนได้ทันใจเมื่อต้องการคนเพิ่ม
ความคาดหวังจากส่วนบนเป็นเรื่องปกติ แต่การสนับสนุนจากส่วนบน มักจะเป็นเรื่องไม่ปกติ!
เช่น งบประมาณและเวลามีให้จำกัด ปัญหาใหญ่ๆและปัญหาเดิมๆไม่เคยได้รับการแก้ไขจากส่วนบน
สิ่งเหล่านี้คือ “ปัญหากดทับจากส่วนบน”ที่คนเป็นผู้จัดการต้องแบกรับในโลกความเป็นจริง
Part.3.ความฝัน กับ สิ่งที่ได้รับ จากส่วนล่าง
คนที่เป็นผู้จัดการทุกคน มักจะคาดหวังว่า มีผู้ช่วยที่ช่วยแบ่งเบาภาระ ช่วยคิดช่วยทำให้งานบรรลุเป้าหมาย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่เป็นผู้จัดการ มักจะมีผู้ช่วยผู้จัดการที่ ช่วยสร้างภาระเพิ่ม ช่วยสร้างปัญหาเพิ่มให้แทบทุกวันมากกว่า!
สาเหตุเพราะ คนที่เป็นผู้ช่วยหรือคนที่เป็นมือรอง คุณสมบัติและความสามารถยังไม่ถึง!
และสาเหตุที่คุณสมบัติและความสามารถไม่ถึง ก็เพราะผู้จัดการไม่มีเวลาหรือไม่รู้วิธีบ่มเพาะ สร้างมือรองสร้างผู้ช่วยผู้จัดการให้มีความสามารถ!
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องผู้ช่วยผู้จัดการแล้ว ปัญหาใหญ่อีกเรื่องก็คือ ลูกน้องทั้งหมดที่ผู้จัดการมี
จะกี่คนก็แล้วแต่ ส่วนมากเป็นลูกน้องที่สร้างภาระ สร้างปัญหา มากกว่าสร้างผลงาน!
Part.4:สาเหตุและทางแก้ กับ “ส่วนบน”
ถ้าผู้จัดการไม่รู้สาเหตุและทางแก้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ที่ผู้จัดการจะบริหารหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมาย
แต่จะกลายเป็นผู้จัดการที่เหนื่อยหน่าย อ่อนล้า เครียดสะสมกับตำแหน่งผู้จัดการไปทุกๆวัน
ที่ผมเรียกว่า “ปัญหากดทับสะสมทางจิตใจ”!
สิ่งที่ผู้จัดการต้องเข้าใจ “ส่วนบน” คือ ส่วนบน มักจะมีวิสัยทัศน์“กว้างไกลเกินความสามารถขององค์กรตนเอง!” การมีวิสัยทัศน์ของผู้นำหรือส่วนบนเป็นเรื่องที่ดีและเรื่องปกติ แต่ผู้จัดการต้องสื่อสารให้ส่วนบนเข้าใจว่า ถ้าต้องการไปให้ถึงจุดนั้น สภาพหน่วยงานและองค์กรในปัจจุบันเป็นอย่างไร อะไรที่ขาด อะไรที่เกิน และต้องเติมเต็มในเรื่องใดอย่างเร่งด่วน เป็นต้น
พูดง่ายๆคือ ต้องบริหารความคาดหวังของส่วนบนให้เป็น แต่ก็ไม่ใช่การปฏิเสธเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์
ของส่วนบน ต้องสื่อสารให้ถูกจริตกับคนที่เป็นส่วนบนรับรู้ว่า ต้องการสนับสนุนและการแก้ไขในเรื่องใดบ้างเพื่อช่วยให้ทุกหน่วยงานทั้งองค์กรบรรลุเป้าหมายตามที่ส่วนบนต้องการ
Part.5.สาเหตุและทางแก้ กับ “ส่วนล่าง”
สิ่งที่ผู้จัดการต้องเข้าใจธรรมชาติของ “ส่วนล่าง” คือ แต่ละคนมีเป้าหมาย มีความคาดหวัง มีปัญหาที่แตกต่างกัน ไม่ใช่คนที่เป็นลูกน้องทุกคน จะคิดจะทำเหมือนผู้จัดการได้!
ต้องสื่อสารให้แต่ละคนที่แตกต่างกัน “เห็นเป้าหมายร่วมเดียวกัน” เป็นอันดับแรก แล้วค่อยหาวิธีที่แตกต่างในการเชื่อมโยงเป้าหมายของแต่ละคน รวมทั้งกระตุ้น พัฒนาแต่ละคน อย่าอ้าง อย่าบอกว่าไม่มีเวลา เพราะถ้าไม่มีเวลาทำแบบนี้ เวลาแทบทั้งหมดของผู้จัดการจะหมดไปกับการแก้ปัญหาเพราะไม่ได้สร้างทีมงาน!
เมื่อให้ทุกคนในหน่วยงาน รับรู้เป้าหมายร่วมเดียวกันแล้ว เรื่องเร่งด่วนคือต้องมีและสร้างผู้ช่วยหรือมือรองให้ช่วยแบ่งเบาภาระ และให้มือรองไปสร้างไปบริหารไปพัฒนาทีมงาน
Part.6.เราเห็นอะไรบ้าง...?
เราเห็น “ความไม่พึงพอใจ” ของผู้บริหารระดับสูง ผู้นำ ที่เป็น “ส่วนบน”ที่มีกับบรรดา ผู้จัดการ ในแทบทุกที่ เพราะไม่สามารถตอบสนอง วิสัยทัศน์ เป้าหมายของส่วนบน ได้อย่างที่ควรจะเป็น
เราเห็น “ความอึดอัด ความไม่พึงพอใจ ความเฉื่อยชา แม้กระทั่งการต่อต้าน” ของบรรดา ส่วนล่าง ที่มีกับบรรดาผู้จัดการแทบทุกที่
เราเห็น “ความท้อแท้ ความทนอยู่ที่ไม่ใช่อยู่ทน” ของบรรดาผู้จัดการในแต่ละที่ ที่ต้องเผชิญแรงกดดัน จากส่วนบน แรงต้านจากส่วนล่าง จนเหมือน ผู้จัดการโดดเดี่ยวอย่างไม่ตั้งใจและไม่เต็มใจ
จะขับเคลื่อนแผนงาน ก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน การอนุมัติในหลายๆเรื่องจาก ส่วนบน เสนอเรื่องไปแล้วก็เงียบ หลายเรื่องถูกปฏิเสธ หลายเรื่องยังรอการตัดสินใจที่รอมานานมากแล้ว.. จากส่วนบน
จะสั่งงาน จะตามงานอะไรกับ ส่วนล่าง ก็ไม่มีความคืบหน้า หรือพบแต่ปัญหา มากกว่าผลงาน
Part.7.แล้วผู้จัดการ ควรทำอย่างไรล่ะ!?
ถ้าท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว แสดงว่าท่านอ่าน สาเหตุและทางแก้ไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ หรือต้องการทบทวนเพื่อความชัดเจน จะได้นำไปปรับใช้ทันที..
ลองย้อนกลับไปอ่าน สาเหตุและทางแก้ Part. 4 และ Part.5 อีกสักรอบดูครับ!