วิกฤติธนาคารล้มในสหรัฐ คนและความเชื่อมั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด (3)
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากธนาคารในสหรัฐฯจนลามไปถึงยุโรป อาจจะไม่ส่งผลทางตรงจนก่อวิกฤติต่อสถาบันการเงินในประเทศไทย เพราะจากการประกาศผลการดำเนินธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทยต่างก็กำไรอู้ฟู่
การตกต่ำของ Credit Suisse เริ่มต้นจากผลพวงของวิกฤติ sub-prime ปี 2008 และ euro debt crisis ในปี 2009 ทำให้ธนาคารประสบผลขาดทุนจำนวนมากจากการตัดหนี้สูญของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และการซื้อขายที่ผิดพลาดใน Trading book ของธนาคาร จึงได้มีการปรับโครงสร้างภายในและขยายกิจการเพื่อหาธุรกิจใหม่ ๆ จนกลับมาทำกำไรอีกครั้ง
ในปี 2018 แต่ในปี 2021 ก็กลับมาเป็นข่าวใหญ่จากการไปร่วมปล่อยกู้ Margin Loan เพื่อให้ Archegos Capital ซึ่งเป็นกองทุน Hedge Fund ที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นใช้การ Leverage สูง จนเกิดผลขาดทุน ไม่สามารถหาหลักประกันเพิ่มเพื่อรักษาระดับ maintenance margin ได้ทำให้ต้องสั่งบังคับขาย (Force Sell) เกิดผลขาดทุนจำนวนมาก ไม่สามารถชำระเงินกู้ให้กับธนาคารได้. เกิดความเสียหายรวมกันกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย Credit Suisse ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
กรณีที่เกิดขึ้นกับ SVB กับ Credit Suisse นอกจากการเผชิญวิกฤติทางการเงินทั้งในสหรัฐและยุโรป ยังมีปัจจัยสำคัญคือผู้บริหารที่ไม่โปร่งใส ในปี 2018 หนึ่งในผู้บริหารของ Credit Suisse ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี ในข้อหาปลอมแปลงลายเซ็นลูกค้าเพื่อนำเงินออกไปซื้อหุ้น โดยปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินคืนและยังอยู่ระหว่างดำเนินคดีกับ Credit Suisse ปี 2021
Credit Suisse ถูกหน่วยงานกำกับของสหรัฐและอังกฤษ สั่งปรับ 475 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในข้อหาติดสินบนเพื่อให้ Credit Suisse ได้รับเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ที่ได้เปรียบจากรัฐบาล Mozambique ปี 2022 ถูกศาลในฝรั่งเศษสั่งปรับ 238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการช่วยเหลือลูกค้า ในการหลบเลี่ยงภาษี ปี 2023 Credit Suisse ได้ประกาศเลื่อนการออกรายงานประจำปีก่อนเส้นตายเพียง 1 วัน เนื่องจากถูก ก.ล.ต.สหรัฐฯ(SEC)ตรวจสอบความถูกต้องของงบกระแสเงินสด ในปี 2019 และ 2020
การขาดความเชื่อมั่นในผู้บริหารธนาคารของลูกค้า จนถอนเงินออกอย่างต่อเนื่องทำให้ธนาคารเกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ในขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารอย่าง Saudi National Bank ก็ประกาศว่าจะไม่เพิ่มทุนเนื่องจากติดปัญหากฎระเบียบ SNB ที่ห้ามถือหุ้นเกินกว่า 10% จนรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ต้องเป็นตัวกลางรับหน้าที่เป็นนายหน้าและผู้ค้ำประกัน เพื่อให้ UBS เข้าซื้อกิจการของ Credit Suisse ที่มูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยแบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ ช่วยลงขัน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯและค้ำประกันให้อีก 9,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เรื่องที่ยากที่สุดในการบริหารสถาบันการเงินคือ Crisis Management ที่จะต้องยุติปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เกิด Domino Effect ที่กระทบต่อระบบการเงินของประเทศ และก่อปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา จนกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาสถาบันการเงินในการดำเนินกิจการ การล่มสลายของ SVB ทำให้มีวิกฤตตามมาคือ วิกฤติสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch)
ไมค์ วิลสัน นักยุทธศาสตร์หุ้นระดับอาวุโสของ มอร์แกน สแตนลีย์ ได้เปิดเผยผ่านหนังสือพิมพ์ Business Insider ว่าระดับการปล่อยกู้ของธนาคารต่าง ๆ ในสหรัฐฯลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลบ่งชี้ว่าสินเชื่อตึงตัวได้เริ่มขึ้นแล้ว สอดคล้องกับการประเมินของ แมตธิส ลูซเซตติ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯของดอยซ์แบงก์แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของธนาคารที่เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 10% ทำให้ GDP ของสหรัฐฯลดลงราว 0.5% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าภาวะถดถอย (Recession) ไม่ใช่แค่การเติบโตต่ำ (Meager Growth) เท่านั้น
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากธนาคารในสหรัฐฯจนลามไปถึงยุโรป อาจจะไม่ส่งผลทางตรงจนก่อวิกฤตต่อสถาบันการเงินในประเทศไทย เพราะจากการประกาศผลการดำเนินธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทยต่างก็กำไรอู้ฟู่ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศยังย่ำแย่ คนยากคนจนเต็มประเทศ แต่ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการมีแน่นอนครับ …