ลดหุ้น เพิ่มบอนด์สหรัฐฯ รับดอกเบี้ยพีค เศรษฐกิจถดถอย
เวลานี้เป็นจังหวะที่ดีในการปรับพอร์ตลงทุนให้เข้ากับภาพเศรษฐกิจระยะข้างหน้า การปรับลดการลงทุนในหุ้น เพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากแนวโน้มดอกเบี้ยระยะข้างหน้า เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุน
นับตั้งแต่ต้นปี ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นมาราว 16% ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวพร้อมกับสภาพคล่องในระบบที่คาดว่าจะปรับลดลง ในขณะที่ฝั่งตราสารหนี้กลับมีความน่าสนใจมากขึ้นจาก Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในช่วงรอบ 13 ปี และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงหลังจากนี้ ช่วงเวลานี้จึงเป็นจังหวะสำคัญในการปรับพอร์ต
ปัจจุบัน ดัชนี S&P500 อยู่ที่ราว 4,400 จุด ด้วยระดับ Fwd P/E ที่ 19 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ยิ่งเมื่อพิจารณาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะข้างหน้าจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ที่อยู่ในระดับหดตัว โดยล่าสุด ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย.ออกมาที่ระดับ 46 (PMI ที่ระดับ 50 ขึ้นไปเป็นระดับการขยายตัว) ชะลอตัวลงจาก 46.9 ในเดือน พ.ค.
นอกจากนั้น สภาพคล่องในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับลดลงอย่างมากจากการออกขายพันธบัตรรอบใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังการขยายเพดานหนี้เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าพันธบัตรที่ออกขายนี้จะมีมูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหากนับรวมมาตรการ QT ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปล่อยให้พันธบัตรหมดอายุโดยไม่ซื้อกลับ ที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน จะทำให้พันธบัตรสหรัฐฯ ที่จะออกสู่สาธารณะมีมูลค่าถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สภาพคล่องที่ลดลงนี้ TISCO ESU ประเมิว่าจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นถึง 10% และจะทำให้ดัชนี S&P500 ปรับลงมาซื้อขายที่ระดับ Fwd PE ที่ 17 เท่า
นอกจากนี้ หากพิจารณาที่บริษัทจดทะเบียนจะพบว่า มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่คาดการณ์กำไรถูกปรับขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่ดึงให้ดัชนี S&P500 ดีดตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากกระแสของเทคโนโลยี AI อย่างเช่น Microsoft, NVIDIA, AMAZON, Meta, Alphabet, Apple และ Tesla ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในดัชนี S&P500 กลับถูกปรับลดคาดการณ์กำไรลง ซึ่งหากพิจารณาภาพรวมของ S&P500 จะพบว่าอัตรากำไรต่อหุ้นอยู่ที่เพียง 4.8% หมายความว่าด้วยระดับราคาปัจจุบัน S&P500 มีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำมาก
ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี (US 10 Year Bond Yield) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับราว 3.8-4% ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มในระยะข้างหน้าที่ Bond Yield มีโอกาสปรับลดลงตามแนวโน้มการคงและปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่บรรเทาลงอย่างต่อเนื่อง
โดยปกติราคาของตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวผกผันกับผลตอบแทนของตราสารหนี้ นั่นหมายความว่าหาก Bond Yield ปรับตัวลงราคาของตราสารหนี้ก็จะปรับตัวขึ้น และหากพิจารณาจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในช่วง 1 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่ Bond Yield จะปรับลงมาที่ระดับ 3.2% และด้วยระดับนี้คาดว่าการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบันจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 9%
ภาพ: พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชนิดอายุ 10 ปี มีโอกาสให้ผลตอบแทนโดยรวมสูงถึง 9-16% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ที่มา: TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU)
ดังนั้น เวลานี้เป็นจังหวะที่ดีในการปรับพอร์ตการลงทุนให้เข้ากับภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยการปรับลดการลงทุนในหุ้น และเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุน
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager