พลิกมุมคิด ให้ประกันบำนาญเป็นที่หนึ่งในใจวัยเกษียณ
ประกันบำนาญคือประกันชีวิตประเภทหนึ่งที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดหลังเกษียณ การเลือกซื้อประกันบำนาญเพื่อลดความไม่แน่นอนของเงินเกษียณจะต้องเน้นการให้ผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ มากกว่าการให้ประโยชน์หลังผู้เอาประกันเสียชีวิต
ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีสำหรับคนไทยอาจเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อลดหย่อนภาษีในปีนี้ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณจะต้องเลือกผลิตภัณฑ์การเงินที่ทั้งสามารถลดหย่อนภาษีและให้ผลตอบแทนสูงเพื่อบรรลุเป้าหมายเกษียณง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามค่านิยมของคนไทยจะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนสูงแต่ไม่นิยมการบริหารความเสี่ยง เช่น ในรายการลดหย่อนภาษีด้านการลงทุนไม่เกิน 500,000 บาท บนโลกอินเทอร์เน็ตมักจะแนะนำให้ซื้อกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี เช่น RMF หรือ SSF มากกว่าแนะนำให้ซื้อประกันบำนาญ เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นสามัญมักให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว แต่ในสภาวะการลงทุนจริงที่มีความผันผวนอาจมีโอกาสที่ผลตอบแทนจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้และกระทบกับเงินทุนเพื่อการเกษียณได้หากไม่มีการป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสม
ยกตัวอย่างเป้าหมายการวางแผนเงินทุนหลังเกษียณของนายเอ ปัจจุบันอายุ 40 ปี มีเงินเดือน 100,000 บาท โดยต้องการมีเงินใช้จ่ายตั้งแต่เกษียณที่อายุ 60 ปีจนถึงอายุ 90 ปี เฉลี่ยเดือนละ 80,000 บาท ตั้งใจจะจัดพอร์ตลงทุนที่มีผลตอบแทนคาดหวังก่อนเกษียณ 6.6% ต่อปี
และผลตอบแทนหลังเกษียณที่ปรับด้วยเงินเฟ้อปีละ 2% ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี โดยกรณี (1) จากเป้าหมายของนายเอจะต้องเริ่มออมเงินที่ 30% ของรายได้ปัจจุบันหรือ 360,000 บาทต่อปี และออมเพิ่มขึ้นปีละ 5% ตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน ซึ่งจะทำให้เงินทุนเพียงพอกับเป้าหมายที่วางไว้ที่อายุ 90 ปีพอดี
อย่างไรก็ตามการลงทุนย่อมมีโอกาสผันผวนและทำให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หากกรณีที่ (2) ผลตอบแทนการลงทุนก่อนเกษียณของนายเอเหลือเพียง 4% ต่อปี และ ผลตอบแทนหลังเกษียณปรับด้วยเงินเฟ้อเหลือเพียง 0% หากนายเอไม่มีการวางแผนลดความเสี่ยงเงินทุนเพื่อการเกษียณเลย
โดยยังคงลงทุนด้วยกองทุนรวมทั้งหมด จะทำให้เงินทุนเพื่อการเกษียณจะหมดลงตั้งแต่อายุ 78 ปี ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่วางแผนไว้ถึง 12 ปี ซึ่งอยากต้องการยืดระยะเวลาให้เงินทุนเพียงพอจนถึงอายุ 90 ปี จะต้องลดจำนวนเงินที่ใช้หลังเกษียณต่อปีจากเดิมที่ 960,000 บาทต่อปี เหลือ 580,000 บาทต่อปีเท่านั้นซึ่งลดลงกว่า 1 ใน 3 จากเป้าหมายเดิม
และกรณีที่ (3) หากใช้ประกันบำนาญมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเงินทุนเพื่อการเกษียณ โดยต้องเป้าหมายจะให้ประกันบำนาญสร้างกระแสเงินสดประมาณ 360,000 บาท โดยชำระค่าเบี้ยที่ 323,880 บาท จนถึงอายุ 59 ปี โดยนำเงินที่เหลือไปลงทุนในกองทุนรวม แม้ว่าส่วนของการลงทุนจะหมดเร็วกว่าประมาณ 3 ปี เมื่อเทียบกับกรณี (2) แต่ยังมีเงินบำนาญที่จะได้รับต่อเนื่องอีกปีละ 360,000 บาท ช่วยประคองการดำรงชีวิตหลังเกษียณไปได้จนถึงอายุเป้าหมายที่ 90 ปี และหากต้องการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณให้เท่ากันทุกปีจนถึงอายุ 90 ปี จะต้องลดค่าใช้จ่ายลงเพียง 760,000 บาทต่อปี ซึ่งใช้เงินได้มากกว่ากรณีที่ (2) ถึง 180,000 บาทต่อปีหรือมากกว่าราว 30%
อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยประกันบำนาญคือประกันชีวิตประเภทหนึ่งที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดหลังเกษียณ การเลือกซื้อประกันบำนาญเพื่อลดความไม่แน่นอนของเงินเกษียณจะต้องเน้นการให้ผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ (Living benefit) มากกว่าการให้ประโยชน์หลังผู้เอาประกันเสียชีวิต (Death benefit) สังเกตจากการให้เงินคืนต่อเนื่องเมื่อดำรงชีวิตและให้มีระยะเวลานานพอให้เทียบเท่ากับระยะเวลาที่เราต้องการใช้เงินเกษียณนั้น มากกว่าการให้วงเงินคุ้มครองเมื่อเสียชีวิตจำนวนมาก หรือระยะเวลาไม่เหมาะสมกับระยะเวลาที่เราต้องการได้เงินทุนเพื่อการเกษียณ เพราะหากประกันบำนาญหยุดจ่ายเงินก่อนระยะเวลาทั้งหมดที่ต้องการใช้เงินเกษียณก็เท่ากับว่าเงินทุนหมดก่อนสิ้นอายุอยู่ดี
จากตัวอย่าง 3 กรณีข้างต้นจะเห็นได้ว่าแม้ประกันบำนาญจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เท่ากับการลงทุนอื่นๆ แต่เงินทุนเพื่อการเกษียณมีข้อควรพิจารณาสำคัญการเกษียณจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตจึงไม่มีโอกาสให้วางแผนผิดพลาด ดังนั้น จุดเด่นสำคัญในการลดความเสี่ยงของเงินทุนหลังเกษียณที่ประกันบำนาญมี เช่น การป้องกันไม่ให้เงินทุนลดลงในกรณีที่ราคาสินทรัพย์ลงทุนมีความผันผวน โดยสามารถช่วยยืดระยะเวลาให้มีเงินทุนประคองการดำรงชีวิตและช่วยให้ผู้เกษียณค่อยๆ ปรับตัวในการใช้เงินจากผลกระทบของตลาด ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับการวางแผนเกษียณ จึงอยากให้มีประกันบำนาญเป็นที่หนึ่งในใจของผู้ที่กำลังวางแผนเกษียณทุกท่าน
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager