การแก้ไขหนี้นอกระบบ ที่ไร้ระบบของประเทศไทย (2)
จากตัวเลขที่มีการรายงาของภาครัฐ ดูเหนือนจะดี แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือความสำเร็จในการแก้ไขหนี้นอกระบบของประเทศไทย
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับ GDP ในไตรมาส 2 ของปี 2566 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 86.3% หนี้ครัวเรือนคงค้างอยู่ที่ 15.3 ล้านล้านบาท หนี้เฉลี่ยรายบุคคลอยู่ที่ 231,818 บาทต่อคน 546,428 แสนบาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้นอกระบบสูงกว่า 20% คิดเป็น 3.48 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก
และเตือนว่าเศรษฐกิจไทยอาจกดทับด้วยวิกฤติหนี้สิน ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจลุกลามเป็นปัญหาสังคมซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น
นโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล ให้ความสำคัญกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง โดยได้เปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา
จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เวลา 15.30 น ของวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 128,813 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 110,647 ราย
ลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 18,166 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 93,367 ราย มีมูลหนี้รวม 8,306.69 ล้านบาท ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยทั่วประเทศ 9,464 ราย ไกล่เลี่ยสำเร็จ 3,822 ราย มูลหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 783.57 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 437.57 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 346 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้นอกระบบ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 โดยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 11 วัน มีมูลหนี้รวม 4,570.55 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 86,067 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 78,548 ราย ลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 7,609 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 55,863 ราย
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยให้ทุกพื้นที่สามารดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบ ด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มากำหนดมาตรการและเจรจาไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้ได้ทันที
จากรายงานของจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ ในหลายพื้นที่สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี และในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล รัฐบาลได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อทบทวนกระบวนการ/ขั้นตอนการทำงานและกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566
จากประสบการณ์ในการทำงานอำนวยสินเชือ การติดตามหนี้ การแก้ไขหนี้ ในธนาคารพาณิชย์ นานเกือบ 40 ปี ตั้งแต่เป็นพนักงานสินเชื่อเกษตรในชนบท ปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่กี่พันบาท จนเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของธนาคารกรุงไทย รับผิดชอบดูแลสินเชื่อของธนาคารหลายแสนล้านบาท งานที่ยากที่สุดเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา คืองานติดตามหนี้ การแก้ไขหนี้ที่มีปัญหา ถึงจะเป็นหนี้ในระบบที่มีกฎระเบียบอย่างชัดเจน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจ
จากตัวเลขที่มีการรายงาของภาครัฐ ดูเหนือนจะดี แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือความสำเร็จในการแก้ไขหนี้นอกระบบ นึกไม่ออกว่าท่านผู้ว่า ท่านผู้การ นายเภอ ท่านผู้กำกับ รู้จักกับคำว่า ดอกเบี้ยค้างรับ ดอกเบี้ยพัก ดอกเบี้ยแขวนเพียงไร
นึกถึงคำว่า Put the right man on the right job แล้วผมยังย้ำว่า ต้องไปเชิญ เจ๊เอ๋ ออกซิเจนคนจน มาเป็นที่ปรึกษาครับ…