ยังคงสงสัยมั๊ย ทำไมลูกน้องไม่ได้ดังใจซะที !?
มื่อท่านแยกแยะลูกน้องแต่ละประเภทได้ และใช้วิธีการที่เหมาะสม สอดคล้องกับลูกน้องแต่ละประเภทได้ ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ท่านจะได้ดังใจจากลูกน้องแต่ละประเภทมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
Part.1. ในชีวิตจริง !
เป็นไปไม่ได้ ที่ใครก็ตามที่มีลูกน้องจำนวนหลายๆคน แล้วลูกน้องจะได้ดังใจทุกคน!
สาเหตุก็เพราะ ลูกน้องแต่ละคน มีความถนัด ความสามารถที่แตกต่างกัน และลูกน้องแต่ละคน ก่อนที่จะมาเป็นลูกน้องท่าน ต่างก็ถูกครอบครัว สภาพแวดล้อม หลอมมาแตกต่างกัน
แต่เป็นไปได้ ที่จะให้ลูกน้องส่วนมาก ได้ดังใจท่าน ขึ้นอยู่กับว่า ท่านจะ หล่อหลอมลูกน้องที่แตกต่างกัน
ด้วยวิธีการใด!
Part.2. ที่ผ่านมา ท่านบริหารและหล่อหลอมลูกน้องอย่างไรล่ะ….?
ถ้าที่ผ่านมา….ท่าน ”บริหาร” และ ”หล่อหลอม” ลูกน้องของท่านแต่ละคน” ที่มีความแตกต่างกัน”ด้วย
วิธีเดียวกัน ก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้วหล่ะครับ!
ตัวอย่างเช่น…..
ลองสังเกตดูสิครับ ลูกน้องที่เก่งๆบางคน ท่านอาจจะเคยเผลอไปจู้จี้ จุกจิก หรือตามงานจนดูเหมือนไม่ไว้วางใจ ผลที่เกิดขึ้นคือ ลูกน้องที่เก่งๆคนนั้นกลับเฉยเมยหรือต่อต้านท่านในช่วงนั้น
หรือลูกน้องบางคนที่ค่อนข้างเฉื่อยชา แต่ท่านใช้มาตรฐานของตนเองที่ท่านเป็นคนมีวินัย มีความรับผิดชอบสูง ท่านเผลอปล่อยปละละเลย ไม่ตามงาน ไม่กระตุ้น เพราะคิดไปเองว่า ลูกน้องก็น่าจะมีความคิด ความอ่าน ความรับผิดชอบสูงเช่นเดียวกับท่าน ก็น่าจะส่งงานได้ก่อนหรือทันเวลา แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ ลูกน้องที่เฉื่อยชา กลับไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน จนส่งงานไม่ทัน
โดยสรุปในประเด็นนี้ก็คือ ท่านไม่สามารถนำมาตรฐานของตนเอง ไปวัดลูกน้องแต่ละคน ว่าน่าจะคิดและทำเหมือนท่าน
และท่านไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันในการสื่อสาร บริหาร และหล่อหลอมลูกน้องแต่ละคนที่แตกต่างกัน !
Part.3. แล้วจะทำยังไงให้ลูกน้อง ส่วนมาก ได้ดังใจ!?
ก็ต้องเริ่มต้นที่คำถามสำคัญคือ คำว่าได้ดังใจของท่านคืออะไรล่ะ?
ถ้าได้ดังใจของท่านคือ ลูกน้องแต่ละคนต้องเก่งเท่าๆกัน รู้ใจและตอบสนองท่านได้ดังใจเหมือนกันทุกเรื่องทุกคน ก็อาจจะผิดตั้งแต่ต้นอีกแล้ว!
ลองเปลี่ยนโดยตั้งคำถามใหม่ว่า จะทำยังไง ให้ลูกน้องแต่ละคนที่แตกต่างกัน ได้ดังใจในแบบที่ควรจะเป็น
ตัวอย่างเช่น ลูกน้องที่เก่ง ได้ดังใจของท่าน น่าจะหมายถึง ท่านสามารถไว้วางใจ หรือ เป็นมือรองให้กับท่านได้ เป็นผู้ที่สร้างผลงานที่โดดเด่นที่ชัดเจนให้กับท่านได้ โดยที่ท่าน แค่บอกเป้าหมายของท่าน แล้วปล่อยให้ลูกน้องที่เก่งๆได้คิดเอง ทำเอง โดยที่ท่านไม่ต้องไปจุกจิก หยุมหยิม มีโอกท่านเพียงแค่คอยช่วยสนับสนุน ช่วยแก้ปัญหาบางเรื่องที่ลูกน้องเก่งๆต้องการให้ช่วยบ้างเท่านั้น
ส่วนลูกน้องที่ค่อนข้างเฉื่อยชา หรือ ไม่ค่อยมีการเรียนรู้ ไม่ค่อยมีการพัฒนา คำว่าได้ดังใจของท่าน
ควรจะเป็น ลูกน้องที่มีการเรียนรู้มากขึ้น มีพัฒนาการมากขึ้น และกระตือรือร้นมากขึ้น โดยสร้างผลงานที่
ได้มาตรฐานมากขึ้น แต่คงไม่สามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นเท่าลูกน้องเก่งๆ ถึงจะเป็นความคาดหวังที่มีโอกาสเป็นจริงในโลกแห่งความเป็นจริง
วิธีการก็คือ ท่านต้องหล่อหลอมลูกน้องประเภทนี้ให้มากขึ้น ถี่ขึ้น จะด้วยการ Coaching และการสื่อสารที่บอกความต้องการที่ชัดเจนของท่าน และติดตามงานแนะนำอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยห้ามปล่อยปละละเลยอย่างที่ท่านเคยทำมา
และในโลกแห่งความเป็นจริง ลูกน้องที่เฉื่อยชาบางคน จะยังคงรักษาความเฉื่อยชาให้ครบตลอดชาติภพโดยไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่คิดที่จะเรียนรู้และพัฒนาอะไรใหม่ๆ
คำถามคือ ถ้าท่านพยายามเต็มที่กับลูกน้องคนนี้แล้ว ก็ยังคงเหมือนเดิม ท่านต้องเปลี่ยนคำถามจากที่จะทำให้ลูกน้องคนนี้ได้ดังใจ ไปเป็นคำถามว่า จะให้ลูกน้องคนนี้ยังทำงานกับท่านหรือไม่ น่าจะดีกว่านะครับ!
เหตุผลก็เพราะ ลูกน้องที่เฉื่อยชาบางคนนี้ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ได้ ”ลดระดับ” ตนเองลงให้แย่ลงกว่าเดิม กลายเป็นผู้สร้างภาระ สร้างปัญหาให้กับทีมของท่าน หน่วยงานและบริษัทของท่านไปแล้ว!
Part.4.เมื่อเปลี่ยนคำถามใหม่และเปลี่ยนวิธีการบริหารใหม่!
โดยแยกแยะ “ความคาดหวัง” ให้เหมาะสมกับ คน (ลูกน้อง) แต่ละประเภทของท่าน อย่างที่กล่าวมาบางส่วนใน Part.3 แล้ว ท่านจะได้ ความคาดหวังในโลกแห่งความเป็นจริง และคำว่า ได้ดังใจของท่าน
จะมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้นจากลูกน้องแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน
ประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้ท่านได้ดังใจจากลูกน้องแต่ละคนก็คือ จนถึงทุกวันนี้ ท่านเข้าใจหรือยัง ว่าลูกน้องแต่ละคน ก็มีความคาดหวัง ความต้องการ ที่ส่งผลให้วิธีคิด วิธีการทำงานของลูกน้อง แตกต่างกัน
เพราะถ้าท่านยังมองลูกน้องทั้งหมดว่าเหมือนๆกัน ก็ยากที่จะบริหารลูกน้องแต่ละประเภทให้ได้ดังใจ
แต่เมื่อท่านแยกแยะลูกน้องแต่ละประเภทได้ และใช้วิธีการที่เหมาะสม สอดคล้องกับลูกน้องแต่ละประเภทได้ ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ท่านจะได้ดังใจจากลูกน้องแต่ละประเภทมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
Part5.ขอให้ท่าน ได้ดังใจในเร็วๆนี้!
หวังว่าช่วงปีใหม่ไทย (เทศกาลสงกรานต์) ที่ท่านได้หยุดพักกาย พักใจจากงานมาบ้าง จะทำให้ท่านกลับมาอย่างมีชีวิตชีวา พร้อมกับ ความคาดหวังที่ท่านได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับลูกน้องแต่ละประเภทเพื่อให้ลูกน้องแต่ละประเภทได้ดังใจของท่านมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ขอให้ผู้อ่านและแฟนๆของ กรุงเทพธุรกิจและแฟนๆของ CEO Blog ทุกท่าน พักผ่อน ท่องเที่ยว เดินทางอย่างปลอดภัยและมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์นะครับ.