ถอดบทเรียนมาตรกการพักชำระหนี้เกษตรกรไทย ทางเลือกที่ควรพิจารณาช่วยเหลือ SME ไทย
บทเรียนมาตรการพักหนี้ของเกษตรกรไทย เป็นประโยชน์ในการนำมาปรับปรุงเพื่อเป็นมาตรการในการช่วยเหลือ SME ไทย
ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SME ไทยที่กลายเป็น “หนี้เสีย” หรือ NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาหลายปี ทั้งจากจากสงครามการค้า สงครามในภูมิภาคต่าง ๆ ที่รุนแรงที่สุดคือ สงครามโควิด-19 มองไปข้างหน้ายังมีมรสุมทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งต่าง ๆ มากขึ้นในภูมิภาคต่าง โดยเฉพาะสงครามในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ เศรษฐกิจของประเทศจีนคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยชะลอตัวจนรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ในการส่งสินค้าราคาถูกเข้ามาแย่งชิงตลาดมากยิ่งขึ้น
มาตรการต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินและภาครัฐดำเนินการอยู่ ซึ่งผมได้นำเสนอผ่านคอลัมน์ SME KEEP UP คงไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้อยู่รอดได้ ปัญหาหนี้สินของผู้ประกอบการ SME เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ผมจึงขอนำเสนอมาตรการพักชำระหนี้ (debt moratorium : DM) ที่เป็นมาตรการหลักของรัฐในการช่วยเหลือปัญหาหนี้ของเกษตรกรไทย โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีมาตรการพักชำระหนี้สำหรับเกษตรกรไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ โดย Rattanavarak & Chantarat (2022) ได้ศึกษาผลกระทบของมาตรการพักชำระหนี้และพฤติกรรมการชำระหนี้ตลอดถึงผลต่อการออมและการลงทุนในการทำเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศ โดยใช้ข้อมูลระดับสัญญาสินเชื่อของครัวเรือนตัวอย่าง 1 ล้านราย ที่สุ่มจากลูกหนี้ ธกส ในช่วง 9 ปี (2014-2023) และนำมาเชื่อมต่อในระดับครัวเรือนกับข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ที่สามารถสะท้อนลักษณะการทำเกษตรและคุณสมบัติต่าง ๆ ของครัวเรือนได้ ความละเอียดและครอบคลุมของข้อมูลจึงทำให้งานวิจัยนี้สามารถคำนวณผลกระทบของมาตรการทั้งในระยะสั้นและกลาง และผลกระทบที่แตกต่างกันระหว่างครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดถึงสามารถสะท้อนถึงกลไกที่มาตรการพักหนี้ในอดีตส่งผลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาวได้
มาตรการพักชำระหนี้ของเกษตรกรไทยมีทุกปี ปีละหลายมาตรการ ตั้งแต่ปี 2014 มีมาตรการพักหนี้ถึง 13 มาตรการ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ มาตรการพักหนี้ที่ออกโดยไม่มีเหตุการณ์ (shock) ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ เช่นมาตรการพักหนี้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง หรือปลูกผลไม้โดยเฉพาะ รวมไปถึงมาตรการพักหนี้ขนาดใหญ่ที่ให้เกือบถ้วนหน้า อย่างมาตรการขยายเวลาชำระหนี้ ภายใต้มาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ มาตรการพักหนี้ที่ออกเมื่อเกิด (shock) ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เช่นมาตรการพักหนี้เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ
มาตรการพักหนี้ที่ผ่านมา มักให้กับเกษตรกรในวงกว้าง ไม่มีเงื่อนไขที่จะช่วยรักษาวินัยการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ บางมาตรการได้รับเงื่อนไขพักเพียงแค่เงินต้นแต่ไม่ได้พักดอกเบี้ย มีเพียงบางมาตารการเท่านั้นที่พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังคงต้องชำระดอกเบี้ยในงวดนั้นอยู่
มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรของไทยมีความต่างจากมาตรการในต่างประเทศ ที่มุ่งทำมาตรการเฉพาะจุด และมีกลไกในการรักษาวินัยให้ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการ เช่น Debt Relief Orders (DRO) และ payment holiday ของสหราชอาณาจักร ผู้กู้ต้องยื่นเรื่องคำขอเข้าไป (opt in) และแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาด้านการชำระหนี้ การเข้าร่วมมาตรการอาจมีประวัติในเครดิตบูโร ซึ่งช่วยป้องกันการขอสินเชื่อใหม่ที่เกินความสามารถที่จะจ่ายได้
ข้อดีและข้อเสียจากบทเรียนมาตรการพักหนี้ของเกษตรกรไทย เป็นประโยชน์ในการนำมาปรับปรุงเพื่อเป็นมาตรการในการช่วยเหลือ SME ไทย ขอนำเสนอในตอนต่อไปครับ…