ส่องตลาดหุ้นเด่นมองข้ามการเลือกตั้งสหรัฐฯ

ส่องตลาดหุ้นเด่นมองข้ามการเลือกตั้งสหรัฐฯ

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งของประเทศมหาอำนาจที่นำไปสู่การเปลี่ยนผู้นำประเทศอาจทำให้แนวทางการบริหารประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปและกระทบกับทั่วโลก การเลือกลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่ว่าอย่างไรจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงต่อการลงทุนมากนัก

เข้าสู่โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะชี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกว่าจะเป็นไปอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างแน่นอน เพราะการเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ย่อมมีทิศทางของการบริหารประเทศที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ดีด้วยคะแนนความนิยมในปัจจุบันที่มีความสูสีอย่างมาก การเลือกตลาดหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากทั้ง 2 ผู้นำจะเป็นตัวช่วยในการจัดพอร์ตการลงทุนโดยข้ามความเสี่ยงจากสถานการณ์เลือกตั้งที่ยังมีความไม่แน่นอนได้

สำหรับตลาดหุ้นที่น่าสนใจแห่งแรก คือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าดูผิวเผินแล้วนโยบายด้านเศรษฐกิจหลัก ๆ คือ ด้านภาษีและการค้าระหว่างประเทศของทั้ง 2 ผู้ท้าชิงจะมีความแตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะยาวอาจไม่แตกต่างกันมาก

โดยนโยบายของพรรครีพับลิกันที่เน้นลดภาษีนิติบุคคลทันทีเหลือ 15% ย่อมส่งผลบวกต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนและเสริมให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น โดย Goldman Sachs คาดว่านโยบายลดภาษีเหลือ 15% จะส่งผลบวกต่อกำไรต่อหุ้นของดัชนี S&P500 +4% ทันที

ขณะเดียวกันทางฝั่งของพรรคเดโมแครตที่เน้นการขึ้นภาษีนิติบุคคลสู่ 28% นั้นแม้ว่าจะทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะลดลงขณะที่การขึ้นภาษีเป็น 28% จะกระทบกำไร -5% เป็นอย่างน้อย ซึ่งสวนทางกับของพรรครีพับลิกัน แต่นโยบายจะถูกลดทอนผลกระทบด้วยมาตรการการค้าระหว่างประเทศ

โดยพรรคเดโมแครตที่ไม่คิดตั้งกำแพงภาษีเพิ่มเติมจะทำให้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดิม ซึ่งเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นในระยะถัดไป

อีก 2 ประเทศที่สามารถทยอยสะสมได้ คือ ตลาดหุ้นอินเดีย และตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากคาดว่าเป็น 2 ประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเพิ่มกำแพงภาษีของสหรัฐฯ จำกัด และมีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นภายในประเทศด้วย

โดยหากพิจารณาจากปริมาณส่งออกของอินเดียและญี่ปุ่นต่อ GDP ของประเทศตนเอง ในปี 2023 จะมีสัดส่วนเพียง 2-3% อีกทั้ง สัดส่วนปริมาณการขาดดุลการค้าต่อ GDP ของสหรัฐฯ กับอินเดียและญี่ปุ่นยังไม่มากนัก

โดยปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศของอินเดียในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 2025 IMF คาดว่าจะเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด +6.5% ซึ่งขับเคลื่อนโดยการบริโภคภายในประเทศของอินเดียที่ยังแข็งแกร่งจากภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น 

ส่วนในด้านตลาดหุ้นแม้ว่า กลต. ของอินเดีย (SEBI) เพิ่งออกมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในตลาดตราสารอนุพันธ์มากขึ้นทำให้กระทบกับภาวะการเก็งกำไรในตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นอินเดียมี Valuation ที่เหมาะสมกับการลงทุนมากขึ้น โดย Bloomberg Consensus ระบุ P/E ของกำไรในปี 2025 อยู่ที่ 19.8 เท่าบนการเติบโต 15%

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นในด้านเศรษฐกิจ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2025 เพิ่มขึ้นเป็น +1.1% ซึ่งจะเร่งตัวขึ้นจากปีนี้ที่ +0.3% จากการบริโภคภาคเอกชนที่จะเร่งตัวขึ้นในปีหน้า อีกทั้งญี่ปุ่นอาจได้รับอานิสงค์จากเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงซึ่งช่วยทำให้ยอดส่งออกเร่งตัวขึ้นได้

นอกจากนี้ BoJ ยังส่งสัญญาณว่าจะไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าข้อมูลเศรษฐกิจจะเหมาะสมกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยซึ่งแนวทางยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนในด้านตลาดหุ้นเริ่มมี Valuation ที่ดีขึ้น จากข้อมูลของ Bloomberg Consensus แม้จะระบุว่าการเติบโตของกำไรในปี 2025 จะเติบโตเพียง 10% ซึ่งต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ 13% แต่ระดับ P/E ของปี 2025 ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 19.25 เท่าซึ่งยังต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ถึง 10%

ดังนั้น ในช่วงก่อนการเลือกตั้งของประเทศมหาอำนาจที่นำไปสู่การเปลี่ยนผู้นำประเทศอาจทำให้แนวทางการบริหารประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปและกระทบกับทั่วโลก การเลือกลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่ว่าอย่างไรจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงต่อการลงทุนมากนัก เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ, อินเดีย และ ญี่ปุ่น น่าจะเป็นตลาดหุ้นที่จะมีความผันผวนน้อยและช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีจนสามารถก้าวข้ามสถานการณ์เลือกตั้งที่ไม่แน่นอนนี้ได้

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager