เทคนิคการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ให้ลูกน้อง “โง่”และ“มีปัญหามากกว่าเดิม”!
ต้องใช้วิธีใดในการปรับวิธีคิดและสอนวิธีการ ให้เหมาะสมกับคนๆ นั้น ปัญหาเรื่องลูกน้องจะลดลง เพราะลูกน้องฉลาดขึ้น เก่งขึ้นเพราะได้รับการพัฒนาขึ้น
Part.1.เรื่องคุ้นเคย ที่ยังไม่เคยแก้ไขได้ ของผู้บริหารและผู้จัดการ ในเรื่องทีมงาน !?
หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินเสียงบ่นจากบรรดา ผู้บริหารหรือผู้จัดการ บ่นบ่อยๆว่า ที่ผ่านมาก็พยายาม สละเวลา(อันมีค่าเหลือล้นของตนเอง) พยายาม สอนลูกน้องให้แก้ปัญหาแล้ว แต่ทำไมลูกน้องกลับไม่มีการพัฒนา หรือหนักไปกว่านั้นคือ ลูกน้องยังคงทำงานผิดพลาดซ้ำซาก แก้ปัญหาไม่เป็น แถมโง่ลงกว่าเดิมอีก!
พอจะหาคนใหม่มาแทนในยุคนี้ ก็หาได้ไม่ง่าย เพราะเด็กรุ่นใหม่ ส่วนมากเข้ามาทำงานได้ไม่เท่าไหร่ก็ชิงลาออก หรือหายไปเฉยๆไม่มาทำงานเลยก็มี จะแก้ยังไงดีกับปัญหานี้!?
ก่อนที่จะแก้ปัญหานี้ ลองตั้งคำถามเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงหลักๆก่อน ว่า ปัญหาอยู่ที่ลูกน้องหรืออยู่ที่ผู้บริหาร/ผู้จัดการ หรือ ทั้งสองฝ่าย !?
Part.2.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้บริหารและผู้จัดการ สอนวิธีแก้ปัญหาให้กับ ลูกน้อง แบบนี้ใช่หรือไม่ !?
เรื่องที่มักจะพลาดกันง่ายๆ เพราะ มองแค่ผิวเผินไม่ได้เจาะลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงก็คือ
พอลูกน้องเจอปัญหา และลูกน้องแก้ปัญหาไม่เป็น บรรดาผู้บริหาร/ผู้จัดการ/หัวหน้างาน ก็ไป ติด มองปัญหาที่เจอ แล้วใช้ประสบการณ์ของตนเอง วิเคราะห์อย่างรวดเร็วว่า ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยวิธีนี้ เท่านั้น
อันนี้เรียกว่าพลาด เพราะติดยึดกับมุมมองและประสบการณ์ของตนเอง ในการแก้ปัญหาที่มีที่มาและรายละเอียดแตกต่างกัน และ โลกวันนี้กับโลกในอดีตของผู้บริหาร ไม่เหมือนกัน
เรื่องที่พลาดกันบ่อยๆอีกเรื่องก็คือ
ผู้บริหาร/ผู้จัดการ/หัวหน้างาน ประเภทที่คิดเร็ว ทำเร็ว มักจะใจร้อน ก็เลยเคยชินที่จะใส่อารมณ์ ก่อน ใส่ใจ เมื่อเจอปัญหา!
เรียกว่า พอเจอปัญหาปุ๊ป ต่อมควบคุมอารมณ์ที่มีเพียงน้อยนิดก็หดตัวทันที พร้อมกับระเบิดอารมณ์ ทั้งน้ำเสียง สีหน้า แววตา แถมรังสีอำมหิต พุ่งใส่ลูกน้องทันที!
ใส่อารมณ์ให้สะใจ แล้วค่อยซักไซ้ปัญหา พร้อมกับให้ทางแก้(แบบสำเร็จรูป) ตบท้ายด้วยการประชดประชัน มันก็เลยเป็นเรื่องยาก ที่ลูกน้องจะได้เรียนรู้ พัฒนา จากปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดพลาดของบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง
ข้อผิดพลาดในการบริหารและแก้ปัญหาทีมงานอีกเรื่องก็คือ ไม่ได้วิเคราะห์ประเภทของทีมงาน ที่แต่ละคนมีวิธีเรียนรู้ รับรู้ที่แตกต่างกัน บางคนเรียนรู้ช้า บางคนเรียนรู้เร็ว บางคนก็ต่อมอารมณ์โตมาก อะไรนิดอะไรหน่อยก็น้ำตาร่วงเป็นต้น
เรื่องสุดท้ายที่มักจะพลากันแทบทุกที่คือ เน้นแก้ที่วิธีการ มากกว่าวิธีคิด
เมื่อไหร่ที่หัวหน้าและผู้จัดการ ให้แต่วิธีการ “แบบสำเร็จรูป” ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาแบบ
สำเร็จรูป ไม่ได้เหมาะกับลูกน้องแต่ละประเภท!
นั่นก็คือที่มาของการ ยิ่งแก้ปัญหา ลูกน้องยิ่งมีปัญหามากกว่าเดิม
Part.3. แล้วจะสอนให้ลูกน้องแก้ปัญหาอย่างไร ให้ลูกน้องได้เรียนรู้และฉลาดขึ้น !?
เรามาเริ่มต้นกันที่….
เพราะอะไร ลูกน้องถึงแก้ปัญหาไม่เป็น? ตัวอย่างเช่น ลูกน้องไม่รู้วิธีแก้ปัญหา หรือเกิดจากความไม่ใส่ใจที่แก้ปัญหาจะของลูกน้อง หรือทั้งสองสาเหตุ เป็นต้น
หรือ เราไม่รู้วิธี ฝึกสอนการแก้ปัญหา และ หล่อหลอม ลูกน้องแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน !?
เพราะ
ลูกน้องบางคน ชอบและถนัดที่จะทำงานแบบอิสระ ไม่ชอบให้เจ้านายมาจู้จี้ จุกจิก ในขณะที่บางคนต้องให้หัวหน้าบอกทั้ง “ความต้องการ” และ “วิธีการ” ถึงจะทำงานได้ แก้ปัญหาเป็น
หรือ ลูกน้องบางคนต้องกระตุ้นด้วยแรงเสริมทางบวกเป็นระยะถึงจะมีผลงานให้เห็น แก้ปัญหาเป็น ลูกน้องบางคนต้องกดดัน ต้องเน้นแรงกระตุ้นทางลบถึงจะแก้ปัญหาได้...
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจความหลากหลายของคนที่เป็นลูกน้อง เราก็จะสื่อสาร ฝึกฝน สอนทุกคนให้แก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบเดียว มันย่อมยากที่จะได้ผล
Part.4. ข้อควรระวัง และ ทางออก !?
ปัญหาก็คือ ธรรมชาติของผู้จัดการ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ก็คือ จะไม่ชอบปรับตัวให้เข้ากับ ความแตกต่างของลูกน้องหลายๆประเภท โดยมีข้ออ้างและความเชื่อผิดๆว่า...ลูกน้องต้องเป็นฝ่ายปรับตัวและเข้าใจเจ้านาย ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ยิ่งไม่เข้าใจกันมากขึ้น !
การปรับตัวของผู้จัดการ หรือ ผู้บริหาร ไม่ใช่หมายถึงต้องละทิ้งความเป็นตัวตนของตัวเอง เราเป็นคนแบบใดก็เป็นแบบนั้นนั่นแหละ แต่สิ่งที่ต้องปรับก็คือ...ทำความเข้าใจความแตกต่างของลูกน้องแต่ละประเภท แล้วเลือกวิธีการสื่อสาร การบริหารให้เหมาะสมกับลูกน้องประเภทนั้นๆ
เช่น กับลูกน้องที่มีศักยภาพสูงและถนัดที่จะทำงานค่อนข้างอิสระ มีสไตล์ของตัวเอง และผลงานก็ออกมาดี ก็ไม่จำเป็นต้องไปวุ่นวายหรือจุกจิก หยุมหยิมกับลูกน้องประเภทนี้ เพียงแค่คอยให้การสนับสนุน หรือช่วยเหลือเมื่อถูกร้องขอ พร้อมกับมอบหมายงานสำคัญๆให้ไปคิดเอง ทำเอง และ แก้ปัญหาเอง....
ส่วนลูกน้องบางประเภท เราจำเป็นต้อง Coaching และ Feedbackอย่างละเอียด ต้องชี้แนะ ต้องฝึกฝน ทั้งวิธีคิดและวิธีการแก้ปัญหา ก็จะได้ผลอย่างที่ต้องการ
ขณะที่ลูกน้องบางประเภท ก็ต้องสื่อสารแบบเข้มข้น ให้รับรู้ว่าเราคาดหวังทั้งผลงานและความประพฤติ ต้องคอยทั้งให้กำลังใจผสมผสานกับคาดโทษกลายๆ ถ้าผลงานและความประพฤติไม่ได้รับการแก้ไข ก็ต้องรับโทษไปตามระบบ แต่ถ้าผลงานและความประพฤติดี ก็จะได้รับสิ่งดีๆไปเช่นกัน.....
Part.5. วิธีนี้ ถึงแม้จะเหนื่อย แต่รับรองเห็นผลและคุ้มค่า !?
ถ้าจะถามว่า มันต้องปรับตัวเรา และเหนื่อยกับการเลือกใช้วิธีการที่แตกต่างกันกับลูกน้องแต่ละคนขนาดนี้เลยหรือ ? ก็ให้ลองถามตัวเองว่า.... ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการเดียวแถมยังเป็นวิธีการเดิมๆ กับลูกน้องทุกคนแล้วผลเป็นยังไง? ต้องปวดหัว ต้องตามแก้ปัญหาเรื่องลูกน้อง มันไม่เหนื่อยกว่าหรือครับ ?
สรุปแล้ว ต้องเข้าใจคนแต่ละคน ว่าคนๆ นั้นเป็นคนประเภทใด และต้องใช้วิธีใดในการปรับวิธีคิดและสอนวิธีการ ให้เหมาะสมกับคนๆ นั้น ปัญหาเรื่องลูกน้องจะลดลง เพราะลูกน้องฉลาดขึ้น เก่งขึ้นเพราะได้รับการพัฒนาขึ้นนั่นเอง.