ถ้าไม่ใช่ อย่าไป “ฝืน”!”

ผู้นำหรือเจ้าของธุรกิจ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องรู้ว่า อะไรที่ไม่ใช่ อะไรที่ไม่ควรฝืน
Part.1. ผู้นำที่ชื่อ ดัน นามสกุล…….!
เจ้าของกิจการ และ CEO บางท่าน คงจะมีชื่ออีกชื่อว่า “ดัน” นามสกุล “ทุรัง” ถ้าจะรียกให้รวมๆกันคือ “ดันทุรัง”!
เพราะมีความพยายามแบบผิดทิศผิดทาง หรือจะใช้คำว่า ฝืน น่าจะตรงที่สุด ในการ ”ดันทุรัง” จนกลายเป็นฝืนแล้วก่อให้เกิดโทษกับคนในหน่วยงาน ในองค์กร จนเกิดผลเสียกับธุรกิจ!
มีหลายเรื่อง ที่ผู้นำหรือ CEO บางท่าน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มักจะฝืน ดันทุรัง จนพลาด เรื่องที่พลาดเรื่องหลักๆก็คือ……
Part.2.ฝืนและฝัน “ดันทุรัง”ในเรื่อง มือรอง และ ผู้สืบทอด !
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มักจะมีปัญหาในเรื่อง ทุกอย่างต้องพึ่งพา ผู้นำหรือเจ้าของกิจการเพียงผู้เดียว อย่างที่เคยเขียนไปแล้ว ทำให้เจ้าของกิจการเหนื่อยแทบรากเลือด
แต่ก็มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กบางที่ ที่ผุ้นำหรือเจ้าของกิจการ มีความเก่ง สามารถสร้างมือรอง หรือมีลูก เป็นผู้สืบทอด ช่วยแบ่งเบาภาระได้
แต่ก็มีบางที่ ที่อยากมีมือรอง พยายามสร้างมือรอง หรืออยากให้ลุกเป็นผู้สืบทอด แต่น่าเสียดายที่ วิธีคิดและวิธีการในการเลือกมือรองของผู้นำ ที่แอบหวังว่าอาจเป็นผุ้สืบทอดในอนาคต แต่ก็เลือกพลาดตั้งแต่ต้น!
เรื่องที่มักจะพลาดกันมากที่สุดก็คือ เลือกมือรองที่ สนิท คุ้นเคย คุยถูกคอ หรือร่วมสร้างกิจการมาด้วยกันตั้งแต่ในช่วงแรกๆ
ดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด จุดที่พลาดก็คือ มือรองที่เลือก “ถูกใจ” เจ้าของกิจการ หรือ ผู้นำ แต่อาจไม่ถูกไม่เหมาะกับสถานการณ์และไม่ได้รับการยอมรับจากทีมงานในองค์กร!
อาจจะด้วยข้อจำกัดคือ มีตัวเลือกที่จะให้เป็นมือรองไม่มาก บางที่อาจมีแค่เพียงคนเดียวด้วยซ้ำ ก็เลยได้เป็นมือรองแบบส้มหล่น แต่ถ้ามีให้เลือกหลายคน ก็จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้
เช่น ถ้ามีให้เลือกมากกว่าหนึ่งคน อาจมีสักสามสี่คน สามารถวิเคราะห์ ทดสอบ จุดแข็งของแต่ละคนได้ว่าใครที่เหมาะที่จะเป็นมือรอง
หรือ บางที่ตั้งใจจะให้ ลูกเป็นมือรอง เป็นผู้สืบทอด แต่ลูกอาจมือไม่ถึง หรือ ไม่อยากจะสืบทอดกิจการ อยากเป็นอิสระ ออกไปทำธุรกิจของตัวเอง หรือไปทำงานประจำสบายใจกว่า
มือรองที่เก่ง จะแบ่งเบาภาระผู้นำ ส่วนมือรองที่ไม่เหมาะ มักจะเพิ่มปัญหา เช่น ขาดทักษะการสื่อสาร การบริหารคน คิดว่าเป็นมือรองเป็นเบอร์สองรองจากเจ้าของ ก็ใช้อำนาจแบบผิดๆ หรือสื่อสารแบบไม่สนใจความรู้สึกทีมงาน
มือรองที่เก่ง ยังสามารถต่อยอด พัฒนาเป็นผู้สืบทอดกิจการในอนาคตได้ แต่มือรองที่มีปัญหา ถ้าไม่ใช่ ก็อย่าฝืน หาใหม่ สร้างใหม่ หรือไม่มีอาจจะดีเสียกว่าด้วยซ้ำ!
Part.3. ฝืนและฝัน “ดันทุรัง” ในเรื่อง สินค้าบริการ ที่ ตายแล้ว !
เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากของเจ้าของกิจการ ที่จะยอมรับความจริง ยอมทิ้ง ยอมเลิก ขายสินค้า/บริการ บางตัว โดยเฉพาะสินค้า/บริการบางตัวที่เป็นตัวที่ทำให้กำเนิดธุรกิจที่ทำมาตั้งแต่ต้น
สินค้า/บริการในยุคนี้ เกิดได้เร็ว ตายได้เร็ว และมีสินค้า/บริการใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน บางตัวมาทดแทนสินค้า/บริการของเราได้ในราคาที่ถูกกว่า คุณภาพดีกว่า โดยเฉพาะสินค้าที่มากจากจีน
หลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ในบ้านเรา (รถยนต์ เทคโนโลยี หรืออื่นๆ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่สามารถต้านแรงสินค้าจากจีนได้ ทยอยล้มหายตายจากให้เห็นเป็นระยะ และจะเห็นมากยิ่งขึ้นในปีนี้)
นับประสาอะไรกับ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในบ้านเรา ถ้ายังฝืน ยังฝันว่าสินค้า/บริการของเรา น่าจะไปได้อีก มีวิธีตรวจสอบง่ายๆว่าควรเลิก สินค้า/บริการตัวนี้ได้หรือยัง แล้วหา หรือสร้างตัวอื่นมาทดแทน ดูง่ายๆไม่กี่ประเด็นดังนี้ครับ
3.1. ขายไม่ออก! โดยเฉพาะ แทบไม่มีลูกค้าใหม่ มาซื้อสินค้า/บริการตัวนี้อีกเลย
3.2. ลูกค้าประจำ ลูกค้าเก่า ที่เคยซื้อ ทยอยเลิกซื้อ (เพราะไปซื้อที่อื่น ที่ถูกกว่า ดีกว่า)
3.2. มีสินค้า/บริการ ที่เหมือน หรือใกล้เคียง หรือใช้ทดแทนกันได้ ขายกันเกลื่อนกลาดตามapp ช้อปปิ้งและใน app อื่นๆ ให้เลือกเพียบ!
เอาแค่สามประเด็นนี้ ก็ไม่ควรลังเล คิดมาก ยกเว้นจะมีวิธีเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือนำสินค้าลงไปเล่นสงครามราคาด้วยก็ไม่รู้จะคุ้มหรือเปล่า!?
หรือที่ยังต้องฝืนขายสินค้า/บริการที่ตายแล้วไปแบบซังกะตายไปเรื่อยๆ เป็นเพราะยังหาสินค้า/บริการใหม่ๆ มาทดแทนไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบคิด รีบหา รีบสร้างล่ะครับ
Part.4. เรื่องอื่นที่ไม่ควรฝืน…….?
คำถามที่เจ้าของกิจการ ควรถามเพื่อคิดวิเคราะห์ต่อจากเรื่องนี้คือ…..
ยังมีเรื่องอะไรอีกบ้าง ที่เราไม่ควร “ฝืน” ไม่ควร “ดันทุรัง” คิดและทำต่อ เพราะยิ่งทำยิ่งเจ็บตัว ยิ่งทำสิ่งเสียโอกาสใหม่ๆ ที่เราจะไปหา
Part.5.บทสรุป
เพราะฉะนั้น ความฝัน ความมุ่งมั่น ที่ไม่สอดคล้องกับบริบท สถานการณ์ จุดแข็งขององค์กร ของธุรกิจท่าน ยิ่งฝันยิ่งฝืน มักจะลงเอยเป็นฝันร้ายขององค์กร
ความพยายาม ความมุ่งมั่น เป็นสิ่งที่ดี แต่เส้นแบ่งระหว่าง ความพยายาม ความมุ่งมั่น ไม่ล้มเลิกกับ ความดันทุรัง เส้นแบ่งมันบางมาก
ผู้นำหรือเจ้าของธุรกิจ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องรู้ว่า อะไรที่ไม่ใช่ อะไรที่ไม่ควรฝืน ก็ควรปรับเปลี่ยน หรือเลิก ก่อนที่….จะถูกสถานการณ์ คู่แข่งบังคับให้เลิกแล้วยังไม่มีทางออกที่ควรจะเตรียมตั้งแต่วันนี้ครับ!