ทุนยักษ์เร่งพลิกโฉมย่านการค้า-ลงทุน ยกระดับกรุงเทพฯ เทียบเมืองระดับโลก
ทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทยผนึกพันธมิตรลุยเมกะโปรเจกต์มิกซ์ยูสระดับ “หมื่นล้าน-แสนล้าน” สร้างอาณาจักรย่านการค้า พลิกโฉมภูมิทัศน์ถนนสายเศรษฐกิจหลัก สุขุมวิท สีลม พระราม 4 สานยุทธศาสตร์ยกระดับกรุงเทพฯ เทียบชั้นเมืองระดับโลก สปริงบอร์ดดึงนักลงทุน นักท่องเที่ยวคุณภาพ
ถนนเศรษฐกิจสำคัญของมหานครกรุงเทพ เส้นเลือดหลักอย่าง “สุขุมวิท” รวมถึง สีลม และพระราม 4 เวลานี้ จะเห็นภาพการก่อสร้างเร่งพัฒนาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในรูปแบบผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส (Mixed-use) ตลอดเส้นทาง
โดยเฉพาะบนถนน "สีลม" วอลล์สตรีทแห่งเมืองไทย กำลังถูกพลิกโฉมครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษทีเดียว
นับตั้งแต่สองพันธมิตร “กลุ่มเซ็นทรัล” นำเรือธง “เซ็นทรัลพัฒนา” เข้าร่วมทุน “กลุ่มดุสิตธานี” ผนึกกำลังแห่งความเชี่ยวชาญพัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์บนที่ดิน 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลมและพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินีหรือที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีเดิม
สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่ากว่า 46,000 ล้านบาท กำหนดเปิดบริการเฟสแรกโรงแรมดุสิตธานี ไตรมาส 1 ปี 2567 เฟส 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพาร์ค และส่วนของอาคารสำนักงาน กลางปี 2567 ขณะที่อาคารที่พักอาศัยระดับอัลตร้าลักชัวรี จะแล้วเสร็จในปี 2568
ล่าสุด นับว่าเป็นอีกดีลประวัติศาสตร์ของ “กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์” ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพฯ ขยายอาณาจักร “วันสยาม” จากย่านการค้าปทุมวันเข้ามาปักหมุดบน "ถนนสีลม” ศูนย์กลางทางการเงิน และศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District : CBD ) ของกรุงเทพฯ
ในฐานะพันธมิตรผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกและบริหารจัดการสินทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ (Retail Asset Management and Property Management) โครงการมิกซ์ยูส “พาร์ค สีลม”(Park Silom) มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาทภายใต้การลงทุนของบริษัท นายณ์ แอนด์ อาร์จีพี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง“นายณ์ เอสเตท”และ“ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” นับเป็นการผสานขุมพลัง 3 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการร่วมปฏิวัติอสังหาริมทรัพย์และรีเทลย่านสีลม
++ ต่อจิ๊กซอว์สีลมย่านแห่งอนาคตสุดล้ำ
นายชลชาติ เมฆสุภะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า สยามพิวรรธน์ จะร่วมต่อจิ๊กซอว์ “สีลม” ให้เป็นย่านแห่งอนาคตสุดล้ำ ในฐานะ World Class Destination จะเข้ามาเติมเต็มประสบการณ์น่าตื่นตาตื่นใจตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนเมืองในการทำงานและสร้างไลฟ์สไตล์แบบใหม่ในทุกมิติ ด้วยการสร้าง one-of-a-kind retail ที่แตกต่างและโดดเด่นในย่านสีลม
"ย่านสีลมเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง เป็นศูนย์รวมองค์กรชั้นนำ สถาบันการเงิน บริษัทข้ามชาติจำนวนมาก แวดล้อมไปด้วยผู้คนที่มีกำลังซื้อสูง พาร์ค สีลมทำหน้าที่เป็นคอมมูนิตี้สำหรับคนเมือง และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ร่วมพลิกฟื้นให้สีลมกลับมาเป็นหนึ่งของศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ที่น่าจับตาที่สุดอีกครั้ง"
++ เชื่อมไลฟ์สไตล์-ประสบการณ์ใหม่
สำหรับ “พาร์ค สีลม” สูง 39 ชั้น บนที่ดิน 6 ไร่ ภายใต้แนวคิด “New Breed of Silom” ที่คำนึงถึงผู้คน ชุมชน และการใช้ชีวิตของทุกคนในย่านสีลม ด้วยการนำเสนอประสบการณ์แปลกใหม่ตอบโจทย์ชีวิตทำงานและไลฟ์สไตล์ทุกรูปแบบ รองรับความต้องการของผู้ใช้อาคารที่เป็นกลุ่มองค์กรชั้นนำและบริษัทข้ามชาติ พร้อมเติมเต็มไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตใน “พาร์ค สีลม” และพื้นที่ใกล้เคียงให้ใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างสมดุล ทั้งการทำงาน ช้อปปิ้ง เป็นแหล่งนัดพบระหว่างวัน และหลังเวลางานอย่างมีสีสันแตกต่างไปจากเดิม
บริเวณหัวมุมถนนสีลมฝั่งตรงข้าม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี”เข้าลงทุนอาคารห้างสรรพสินค้าโรบินสันเดิม พลิกโฉมเป็นมิกซ์ยูส “สีลมเอจ” (Silom Edge) มูลค่า 1,800 ล้านบาท ที่เรียกได้ว่า “เล็กพริกขี้หนู” ด้วยคอนเซปต์ที่แตกต่างเจาะผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เติบโตก้าวกระโดด
ขณะที่ดีเวลลอปเปอร์เก่าแก่แห่งสีลม "ธนิยะ กรุ๊ป” ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท พลิกโฉม “ธนิยะ พลาซา” ในรอบกว่า 30 ปี สู่ไลฟ์สไตล์มอลล์ แนวคิด The Future of Thaniya ย้ำการเป็นแลนด์มาร์คแห่งถนนสีลมด้วยเช่นกัน
++ “วันแบงค็อก”ปักหมุดแลนด์มาร์คโลก
เส้นถนนพระราม 4 มีการเปลี่ยนแปลงในรอบหลายทศรรษเช่นกันหลังเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ปักหมุดสร้างแลนด์มาร์คระดับโลก “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่และครบวงจร มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท บนที่ดินรวม 104 ไร่ (เตรียมทหารเดิม) ประกอบไปด้วยสำนักงานพรีเมียม 5 อาคาร พื้นที่รีเทล 4 โซน โรงแรมระดับลักชัวรีและไลฟ์สไตล์ 5 แห่ง และที่พักอาศัยระดับลักชัวรีอีก 3 อาคาร ภายใต้แนวคิดที่คำนึงถึงผู้คน ความยั่งยืน และการใช้ชีวิตแบบเมืองอัจฉริยะ กำหนดเปิดบริการเฟสแรก ไตรมาส 4 ปี 2566 และก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2569
วัน แบงค็อก จะเป็นอีกหนึ่งโครงการร่วมยกระดับกรุงเทพฯ สู่ศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ในระดับโลก จากมุมมองที่ได้เรียนรู้ผ่านย่านสำคัญต่างๆ ของมหานครทั่วโลก นำสู่การสร้างและผสานพื้นที่ของ วัน แบงค็อก ให้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา เปี่ยมด้วยพลังและไม่มีวันหลับใหลจากความหลากหลายตอบโจทย์ทุกความต้องการและทุกรูปแบบไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม และที่พักอาศัย พร้อมด้วยพื้นที่ส่งเสริมการศึกษา การพักผ่อน สุขภาพ รวมถึงพื้นที่สำหรับศิลปะและวัฒนธรรม ดึงดูดองค์กรชั้นนำและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยหนึ่งในไฮไลต์นั่นคือ Signature Tower ที่จะเป็นหนึ่งในสิบตึกที่สูงที่สุดของอาเซียน
++ “สุขุมวิท”ย่านการค้าโลกไม่เคยหลับใหล
เส้นเลือดใหญ่ของกรุงเทพฯ ถนนสุขุมวิท ไม่เคยหลับใหลจากการลงทุนไม่ว่าจะห้วงเศรษฐกิจซบเซาหรือเฟื่องฟูมีการพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงรูปโฉมธุรกิจเก่าสู่โมเดลใหม่ตลอดเวลา โดยเฉพาะทำเลไข่แดงของกรุงเทพฯ ย่านการค้าปทุมวัน หรือ ย่านสยาม โดยกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เช่าลงทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ เป็นระยะเวลา 30 ปีจากสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) วางแผนสร้างสรรค์พื้นที่ใจกลางเมืองแห่งนี้้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่จะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ เป็นศูนย์กลางและพื้นที่แห่งการเรียนรู้สมัยใหม่ เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนร่วมขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เซ็นทรัลพัฒนา ผู้เช่าลงทุนพัฒนาพื้นที่ Block A ของสยามสแควร์ เนื้อที่ 7 ไร่ 31 ตารางวา อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการภายในกรอบพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา โดยต้องเว้นระยะร่นบนพื้นที่ถนนสยามสแควร์ซอย 7 จำนวน 6 เมตร และสยามสแควร์ซอย 1 จำนวน 9 เมตร เป็นอย่างน้อยตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง และการดำเนินการ
“ย่านสยามสแควร์” มีความครบวงจรของโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โรงแรม อาคารสำนักงาน สถาบันการศึกษา ห้างร้านค้าปลีกขนาดเล็ก รวมทั้งหอศิลป์ มีโครงการข่ายคมนาคมที่สะดวกอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส และผู้คนครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ในแวดวงต่างๆ ทำให้ในอนาคตย่านนี้จะถูกยกระดับมากขึ้นเป็นหนึ่งในย่านการค้าสำคัญเช่นเดียวกับมหานครใหญ่ทั่วโลกที่เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนจะต้องแวะมายังชอปปิงเดสทิเนชั่นยอดนิยม เช่น ชินจูกุ ฮาราจูกุ อ็อกฟอร์ดสตรีท ฯลฯ
ขณะที่ย่านพร้อมพงษ์ หรือ เอ็มดิสทริค อาณาจักรธุรกิจของกลุ่มเดอะมอลล์ อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการเอ็มสเฟียร์ ต่อจิ๊กซอว์และเสริมความแข็งแกร่งช้อปปิ้งมอลล์หรู ดิ เอ็มโพเรียม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ รวมทั้งเมกะโปรเจ็กต์ “แบงค็อก มอลล์” (BANGKOK MALL) มูลค่าราว 50,000 ล้านบาท บนที่ดินกว่า 100 ไร่ สร้างเมืองใหม่บริเวณสี่แยกบางนารองรับการใช้ชีวิตของผู้คนฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก คาดว่าจะเปิดบริการบางส่วนได้ประมาณปี 2567
++ พัฒนาเมืองน่าอยู่ยกระดับคุณภาพชีวิต
นักวิเคราะห์ในวงการค้าปลีก กล่าวว่า โครงข่ายคมนาคมที่สะดวกสยายเอื้อต่อการใช้ชีวิตโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นสุขุมวิทมีผลอย่างมากในการดึงดูดนักลงทุนต้องการเข้ามาปักหมุดธุรกิจต่อเนื่องตลอดเส้นทางที่มีการเปลี่ยนแปลงของทุนเก่าและรายใหม่เข้ามาใช้ประโยชน์ของที่ดินตลอดทุกยุคทุกสมัย
“ความน่าสนใจของการพัฒนาโครงการในยุคหลัง ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทุกมิตินอกเหนือจากเชิงการค้า แต่มองถึงองค์รวมของการใช้ชีวิต มีการดีไซน์และวางแนวคิดครอบคลุมความสะดวกต่างๆ สามารถใช้ชีวิตได้ในย่านนั้นๆ แบบวันสต็อปช้อปปิ้ง วันสต็อปเซอร์วิส พร้อมพื้นที่สีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นการยกระดับการพัฒนาเมืองไปพร้อมๆ กันสร้างเมืองน่าอยู่ และสร้างคุณภาพชีวิตให้กับสังคมยุคใหม่”
นอกจากนี้จะเห็นว่าดีเวลลอปเปอร์ต่างมุ่งยุทธศาสตร์เดียวกันนั่นคือการพัฒนาโครงการระดับโลก ยกระดับการใช้ชีวิต ที่สามารถดึงดูดการนักลงทุน ธุรกิจข้ามชาติ และนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มคุณภาพเข้ามาเยือนเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าจะโตเกียว มิลาน ปารีส ฯลฯ ซึ่งต้นแบบการพัฒนาเมืองเหล่านี้จะเห็นว่าล้วนมีผู้มาเยือนมหาศาล เป็นส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง