ซีอีโอหนุน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯ - 'พิธา แพทองธาร สมคิด ประยุทธ์' ติดกลุ่ม
ซีอีโอหนุน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯ พิธา-แพทองธาร -สมคิด และ พล.อ.ประยุทธ์ ‘ติดกลุ่ม’ จี้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ขจัดเหลื่อมล้ำ ด้าน เอกชนเร่งรัฐนำข้อสรุป ‘เอเปค’ เอฟทีเอ-บีซีจี เคลื่อน
ซีอีโอธุรกิจ หนุน “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วน เลือก “เพื่อไทย” แกนนำตั้งรัฐบาล ขณะที่ 'แพทองธาร - พิธา - พล.อ.ประยุทธ์-สมคิด” ติดกลุ่มที่ซีอีโอเลือก มอง 5 นโยบายทำทันที 'แก้เศรษฐกิจ-แก้ความจนลดเหลื่อมล้ำ ปรับกฎหมายรับเศรษฐกิจดิจิทัล ดึงเงินลงทุนต่างประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ 'เอกชน' มองการเมืองหลังเอเปค รัฐบาลคุมได้ทั้งใน-นอกสภา “สนั่น” ตั้งสเปคนายกฯ คนใหม่ ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นำข้อสรุปเอเปคขับเคลื่อนทั้ง “เอฟทีเอ-บีซีจี”
“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ไอทีดิจิทัล ภาคบริการ ท่องเที่ยว ฯลฯ ถึง “ภาพรวมการเมืองไทยที่ “ซีอีโอ” อยากเห็นโดยเฉพาะ แคนดิเดต นายกรัฐมนตรี คนต่อไป และนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการทันที
จากผลสำรวจพบว่า ซีอีโอเกินครึ่ง (58.2%) หนุน “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุด รองลงมา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” 10.5% แพทองธาร ชินวัตร มาอันดับสาม 7.7% ตามด้วย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 6.5% และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 6.1% ขณะที่แกนนำตั้งรัฐบาล ซีอีโอ หนุน “เพื่อไทย” ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุดเกือบ 60% รองลงมา คือ พรรคก้าวไกล 15.6% ภูมิใจไทย 5.8% พลังประชารัฐ 4.1% และสร้างอนาคตไทย 3.5%
โดย 5 ปัญหาเร่งด่วนที่ซีอีโอต้องการให้แก้มากที่สุด คือ ปัญหาเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% รองลงมาคือ การแก้ความยากจน ลดความเลื่อมล้ำ 58.7%ปรุงปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ทันสมัย 45.2%ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ 44.2%พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟเร็วสูงท่าเรือน้ำลึก ขณะที่ ซีอีโอเกิินครึ่งย้ำว่า ปัญหาเร่งด่วนมากที่สุดที่ควรแก้ทันที คือ ปัญหาเศรษฐกิจ
รัฐบาลคุมได้ทั้งใน-นอกสภา
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองหลังการประชุมเอเปค 2022 คงใกล้เข้าสู่โหมดการเตรียมการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลใกล้ครบวาระในเดือน มี.ค.2566 โดยสถานการณ์การเมืองหลังเอเปค มองเป็น 2 ส่วน คือ 1.การเมืองในสภาจะมีบางประเด็นที่รัฐบาลต้องให้คำตอบที่ชัดเจน และหาทางออก 2.การเมืองนอกสภา คิดว่าไม่มีประเด็นปัญหาอะไร ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง อาจจะมีชุมนุมเรียกร้องบ้าง แต่เชื่อว่าไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว
นายสนั่น กล่าวว่า ส่วนนายกฯ คนใหม่นั้น เห็นว่า ควรมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของประชาชน มาเป็นลำดับแรก นอกจากนั้น ต้องสามารถรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย และเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและต่างชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การดึงดูดการลงทุนในระยะยาว
ดังนั้น จึงถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ที่ต้องออกมาแสดงพลัง หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสมที่สุดต่อไป
สำหรับเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงนี้ คือ การมีแผนฟื้นเศรษฐกิจในปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ดีขึ้นมากกว่าเศรษฐกิจโลกที่หลายคนมองว่าจะชะลอตัว
แนะปลายรัฐบาลเร่งแก้ค่าครองชีพ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเร่งการฟื้นตัวควรตรึงราคาพลังงานจนจบไตรมาสที่ 4 เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ รวมทั้งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภาวะค่าครองชีพที่สูง สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่หลายคนกังวล ก็เริ่มกลับเข้ามาเป็นปกติมากขึ้นแล้ว และเชื่อมั่นว่า ธปท.ยังสามารถดูแลทั้งเรื่องค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
ขณะเดียวกัน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยใช้ในปี2565จะต้องเริ่มปรับให้ใช้ตรงกลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเหมือนเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาไทยใช้เม็ดเงินไปในเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากเศรษฐกิจในปีหน้าเริ่มเดินได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเท่าปีนี้
หนุนรัฐบาลดันข้อสรุปเวทีเอเปค
นอกจากนี้ หลังการประชุมผู้นำความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ภาคธุรกิจเอกชนต้องใช้ประโยชน์จากการประชุมเอเปคครั้งนี้ให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะการแสวงหาโอกาส เพื่อขยายการค้าและการลงทุนอย่างรวดเร็ว
ในขณะเดียวกันภาครัฐเองต้องติดตามงานของแต่ละกระทรวง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเสนอหรือผลสรุปจากการประชุมเอเปคเช่นการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สานต่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น
มั่นใจเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อได้
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่าในภาคการส่งออกนั้นไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร การส่งออกของไทยยังดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่เรื่องของการปิดสนามบินการปิดท่าเรือ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากและส่งผลกระทบในภาคต่างๆ รวมไปถึงภาคการส่งออกด้วย
ทั้งนี้หลังการประชุมเอเปค 2022 รัฐบาลควรเร่งนำข้อตกลง หรือผลประชุมที่เป็นข้อสรุปของเอเปคนำมาปฏิบัติให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว เพราะเรื่องนี้ตอบโจทย์วาระของโลกในเรื่องโลกสีเขียว ทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
รวมถึงการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเห็นว่าอาหารไทยถือเป็นจุดขายที่ดีควรเร่งส่งเสริมซอฟพาวเวอร์ให้ได้มากที่สุดเพราะไทยไม่ใช่มีจุดขายเพียงแค่อาหารเท่านั้น ยังมีสิ่งอื่นๆอีก เช่น แฟชั่น