33 ปี 3 วงการของ "ศุภจี" ตกผลึกปั้น "ดุสิตธานี" ชูความเป็นไทยบนเวทีโลก!
รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ถึงชีวิตการทำงานตลอด 33 ปี ใน 3 อุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ทั้งอุตสาหกรรมไอที ดาวเทียม และท่องเที่ยว-บริการ
เจอเพนพอยต์ (Pain Point) ให้ต้องลับคมคิดตลอดเวลา! ทุกอุตสาหกรรมมี “ดิสรัปชั่น” เกิดขึ้นมากมาย ปัจจัยหลักคือเทคโนโลยี ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่มาพลิกโฉม
“ศุภจี” เข้ารับตำแหน่งซีอีโอกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2559 ก้าวสู่ปีที่ 7 ได้มัดรวมความรู้และประสบการณ์มาเป็นส่วนเสริม จากภูมิหลังเป็นคนไทยคนแรกที่ก้าวสู่ตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานใหญ่ ไอบีเอ็ม (IBM) นิวยอร์ก สหรัฐ ทำงานในองค์กรไอบีเอ็มถึง 23 ปี ก่อนจะก้าวสู่อุตสาหกรรมดาวเทียม ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นเวลาอีก 4 ปี กระทั่งข้ามฟากมาเป็นหัวเรือใหญ่คุมกลุ่มดุสิตธานี
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เล่าว่า การตัดสินใจข้ามมาสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ มองว่าต้องการนำความรู้และประสบการณ์ที่มี สานต่อพันธกิจของ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มดุสิตธานี” มานานกว่า 74 ปี ที่ต้องการสร้างโรงแรมระดับมาตรฐานสากล ใส่เสน่ห์ “ความเป็นไทย” ให้แบรนด์โรงแรมในเครือดุสิตธานีเป็นตัวแทนการให้บริการแบบไทยๆ และประทับใจ ดึงดูดคนให้อยากมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น
สิ่งแรกที่ ศุภจี ต้องปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านรับไม้ต่อ สวมหมวก “ซีอีโอนอกตระกูล” คือการทำความเข้าใจบริบทของคนรอบข้างทุกกลุ่ม เนื่องจากกลุ่มดุสิตธานีก่อตั้งมายาวนาน กลุ่มพนักงานคุ้นชินการทำงานร่วมกับซีอีโอในตระกูล โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ เป็นซีอีโอมา 50 กว่าปี ตามด้วยทายาทรุ่นที่ 2 “ชนินทธ์ โทณวณิก” เป็นซีอีโออีก 15 ปี ต่อด้วย ศุภจี ที่ไม่ใช่แค่คนนอกตระกูล แต่ยังเป็นคนนอกอุตสาหกรรมด้วย! อาจเกิดคำถามว่า “แล้วคุณจะพาฉันเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องได้หรือ คุณสะกดคำว่า โรงแรม ถูกหรือยัง ก็ยังไม่รู้เลย” ถือเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องพยายามผูกใจและนำพาไปในที่ที่เขาอยากจะไป พร้อม “Empower” ให้พนักงานได้ดูแลโรงแรมภายใต้ความรับผิดชอบ ให้เขารู้สึกได้ถึงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
ส่วนกลุ่มกรรมการบริษัท ศุภจีได้เข้ามาเรียนรู้งานตำแหน่งกรรมการของกลุ่มดุสิตธานีสักระยะหนึ่ง ก่อนขึ้นรับตำแหน่งซีอีโอ จึงเริ่มเข้าใจว่าโจทย์ของกรรมการบริษัทคืออะไร อีกกลุ่มที่ต้องเข้ามาตอบโจทย์คือ Public เพราะตั้งแต่มีการประกาศว่า ศุภจี จะมาเป็นซีอีโอกลุ่มดุสิตธานี อาจจะเลิกคิ้วสูงตั้งคำถามว่า “ทำได้หรือ” อย่างไรก็ตาม...สิ่งสำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการ “ความคิดของตัวเอง” ให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราต้องทำได้ ด้วยการขวนขวายหาความรู้
พร้อมวางเป้าหมาย 9 ปี เพื่อสร้างการเดินทางบทใหม่ “New Chapter” ของกลุ่มดุสิตธานี ให้มีความมั่นคงขึ้นในแง่ที่มารายได้ของพอร์ตโฟลิโอ จากเดิมที่มีธุรกิจหลัก 2 ขา พึ่งพารายได้กลุ่มโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้มากถึง 90% ของรายได้ทั้งหมด อีกขาคือกลุ่มการศึกษา
กลุ่มดุสิตธานีจึงปรับกลยุทธ์สู่ “Balance - Diversify – Expand” สร้างสมดุล ขยายธุรกิจ และสร้างความหลากหลายแก่พอร์ตโฟลิโอ เติมขาเก้าอี้ใหม่ ให้ยืนได้ด้วยธุรกิจหลัก 4 ขา ได้แก่ “กลุ่มโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้” ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมในเครือรวม 47 แห่ง เมื่อรวมกับกลุ่มแบรนด์ “อีลิธ เฮเวนส์” (Elite Havens) ธุรกิจบริหารจัดการและให้เช่าวิลล่าหรูรายใหญ่ในเอเชียอีก 285 หลัง ทำให้มีอสังหาริมทรัพย์ในพอร์ตโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้รวม 332 แห่ง กระจายใน 17 ประเทศ ด้าน “กลุ่มการศึกษา” กลุ่มดุสิตธานีน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ทำเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมและการทำอาหารอย่างจริงจัง ส่วนอีก 2 ขาใหม่คือ “กลุ่มอาหาร” และ “กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์”
โดยเป้าหมาย 9 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะในทุกๆ 3 ปี ระยะที่ 1 มุ่งวางฐานบริษัทให้แข็งแรง ก่อนเข้าสู่ระยะที่ 2 สร้างการเจริญเติบโต และระยะที่ 3 ก้าวสู่ New Chapter ของกลุ่มดุสิตธานี เหมือนเราติดลมบนแล้ว สามารถเปิดโหมด “Auto-pilot” ได้ แต่ปรากฏว่าต้องมาเจอวิกฤติโควิด-19 ในระยะที่ 2 !!!
“ตลอดการทำงาน 33 ปี ไม่เคยมีช่วงลมสงบ ทำให้หายอกหายใจได้อย่างคล่องคอนัก เจอปัญหาหรือเพนพอยต์ให้ได้แก้ไขและรับมือตลอดเวลา โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 ที่รุนแรงและใกล้ตัวเรามากที่สุดในตอนนี้”
หลายคนคงคาดไม่ถึงว่าจะล้ำลึกและยาวนานร่วม 3 ปี โดยเฉพาะ “ประเทศไทย” เจอหนักกว่าคนอื่น เพราะพึ่งพารายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศค่อนข้างมากถึง 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2 ใน 3 ของรายได้รวมการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ถือเป็นรายได้มหาศาลที่ต้องสูญไป! กระทบไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย
ในช่วงต้องปิดโรงแรมชั่วคราว กลุ่มดุสิตธานีต้องปรับกระบวนท่าอย่างหนัก ให้พนักงาน “ถอดหมวก” ของตัวเองแล้วระดมสมอง มองหาแนวทางการสร้างรายได้ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด เช่น ขายห้องพักแบบ Day Pass ดึงคนมาทำงานที่โรงแรม แบบไม่ต้องนอนค้างคืน, ออกแคมเปญ Workation รับเทรนด์มาแรง, ส่งทีมแม่บ้าน-ช่าง รับงานออนดีมานด์ภายนอก และขายอาหารหน้าโรงแรม
“สิ่งที่ทำไป แน่นอนว่าไม่ได้กำไร แต่ได้ใจ เพราะทำให้คนกลับมามีความหวังอีกครั้ง”
ขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าแก้โมเดลธุรกิจและการเงิน เพราะสภาพคล่องหาย รวมถึงเรื่องโครงสร้างองค์กร รีโนเวตโรงแรมรีสอร์ต พร้อมลงทุนด้านไอทีมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีนี้ ทั้งในเชิงโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูล
ศุภจี เล่าเพิ่มเติมว่า ก่อนโควิด-19 ระบาด กลุ่มดุสิตธานีมีโอกาส “ซ้อมหนีไฟ” มาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อปี 2560 เป็นปีที่กลุ่มดุสิตธานีประกาศว่าจะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนา มูลค่าโครงการรวม 46,700 ล้านบาท ประกอบด้วยโรงแรม เรสซิเดนส์ รีเทล และอาคารสำนักงาน
บริษัทจำเป็นต้องปิด “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” ชั่วคราวเมื่อต้นปี 2562 เพื่อทุบและสร้างใหม่ ทำให้ขาดรายได้จากแหล่งใหญ่ ต้องบริหารดูแลพนักงานจำนวน 588 คน เพื่อให้พวกเขายังได้ทำหน้าที่ระหว่างรอเปิดโรงแรมโฉมใหม่ เพราะ “คน” คือ “ลมหายใจ” ของกลุ่มดุสิตธานี เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเก็บไว้ นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วยกันดูแลรักษาเอาไว้ เพื่อมาต่อเติมโฉมใหม่ สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ที่อยากให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ กลับมายิ่งใหญ่ เป็น “ไอคอนิกแลนด์มาร์ก” (Iconic-Landmark)
“พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องหนีไฟกันจริงๆ ได้ปรับแนวทางจากการซ้อมหนีไฟมาใช้กับทั้งบริษัทและจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มีเป็นพันเป็นหมื่นคน แม้จะพอรู้ว่าต้องไปทางออกเส้นทางไหน แต่ถามว่าเราสบายไหม มีกำไรไหม คำตอบคือเราก็ขาดทุนเหมือนกับคนอื่น เพียงแต่ว่าเรามีใจที่เข้มแข็ง รู้ว่ากำลังทำอะไร สามารถฉวยเวลานี้ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ”
เหมือนกับที่หลายคนพูดกันว่า ในช่วงเกิดวิกฤติหลายคนสร้าง “กำแพง” หยุดทุกอย่าง พยายามป้องกันตัวเอง ศุภจี มองว่าเป็นเรื่องถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะเป็นความเสี่ยงเกินไป แต่ก็ต้องแอบสร้าง “กังหัน” เล็กๆ ไว้ด้วย เพราะเมื่อลมใหม่พัดเข้ามา ถ้าไม่มีกังหันใหม่รอรับ ก็จะกลายเป็นของตกรุ่น พลาดโอกาสใหม่ๆ อย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ มองด้วยว่าโครงการมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” โดดเด่นกว่าโครงการอื่นๆ บนย่านถนนพระราม 4 ตรงที่ขนาดของโครงการกำลังดี ไม่ใหญ่และไม่เล็กเกินไป ทั้งยังตั้งบนโลเกชันที่ดีที่สุดตรงหัวมุมถนนสีลม มีสถานีรถไฟฟ้า MRT และ BTS ตัดกัน เป็นศูนย์รวมการเดินทางของย่านนี้ ฝั่งตรงข้ามคือสวนลุมพินี เห็นวิว 180 องศา อีกอย่างที่ภาคภูมิใจคือ “ความเป็นดุสิตธานี” ที่สั่งสมยาวนานกว่า 70 ปี มาผสมผสานกับ “Urban Living Lifestyle”
“โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จึงเป็นโครงการที่เหมาะสมในทุกมิติ ทั้ง The Right Size, The Right Location และ The Right Time” ศุภจี กล่าวทิ้งท้าย