"อินฟอร์มา" รุกขยายงานใหม่ฟื้นรายได้ ฝ่าคลื่นความท้าทายธุรกิจแสดงสินค้า
หลังจากปี 2565 ธุรกิจ “งานแสดงสินค้า” (Exhibition) สามารถกลับมาจัดงานได้ “เต็มรูปแบบ” จากการเปิดประเทศ ผลการดำเนินงานของ “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย” ฟื้นตัวดี 70% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด จากการจัดงานทั้งหมด 14 งาน
สรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ฉายภาพว่า จากตัวเลขการฟื้นตัวด้านรายได้ ชี้ให้เห็นว่าถ้าบริษัทไม่ริเริ่มการจัดงานแสดงสินค้าใหม่ๆ แม้จะเดินหน้าจัดงานเก่าๆ ที่มีอยู่ในมือ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูรายได้! เพราะเมื่อปี 2565 การจัดงานถูก “ดาวน์ไซส์” หรือลดขนาดลง เฉลี่ยเหลือประมาณ 55-60% เนื่องจากปัจจัย “ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ” คนยังไม่กล้าลงทุน! ประกอบกับประเทศไทยเพิ่งเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว
บรรดา “งานใหม่” ของอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ที่เลือกเติมเข้าโปรไฟล์ จึงมุ่งดึงงานใหญ่ระดับโลกมาปักหมุดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก อาทิ งาน “Cosmoprof CBE ASEAN” งานจัดแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงาม ซึ่งได้จัดแสดงมาแล้วทั่วโลก เช่น อิตาลี ฮ่องกง อินเดีย และสหรัฐ โดยผู้เข้าร่วมงานกว่า 30% เป็นนักเดินทางไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังมีงาน “Vitafoods Asia” งานแสดงสินค้าอุตสาหผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินระดับเอเชีย และงาน “MIRA” งานแสดงเทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษา หุ่นยนต์ อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติ โซลูชันอุตสาหกรรมจากแบรนด์ชั้นนำ พร้อมกับงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเพื่อเจาะกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
“การจัดงานใหม่เพิ่มเติม เป็นไปตามกลยุทธ์ฟื้นฟูการเติบโตด้านรายได้ของบริษัท เพราะหนึ่งในภารกิจสำคัญของการกลับมาครั้งนี้ คือการมองหาโอกาสใหม่แก่ตลาดงานแสดงสินค้าในไทย”
เมื่อเข้าสู่ปี 2566 บริษัทวางเป้ารายได้ไว้ที่ 900 ล้านบาท ใกล้เคียงรายได้เกือบ 1,000 ล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ด้วยจำนวนงานแสดงสินค้า 16 งาน ซึ่งเป็น “Trade Exhibition” กระจายในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอันหลากหลาย แต่ละงานมีแนวโน้มได้ผลตอบรับดี งานเก่าๆ มีขนาดงานกลับมาเฉลี่ย 70% จากขนาดเดิม ขณะที่บางงานมีตัวเลขนักเดินทางไมซ์ชาวต่างชาติตีกลับถึง 90%
พร้อมตั้งเป้าหมายดึงนักธุรกิจและภาครัฐทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีไฮไลต์สำคัญ นั่นคือการดึงงานใหญ่ระดับโลกในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ อย่างงาน “Jewellery and Gem ASEAN Bangkok” งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับแห่งภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 26-29 เม.ย. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังได้ต่อยอดความร่วมมือกับบริษัทแม่ที่ฮ่องกง “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เอเชีย” ซึ่งเป็นผู้จัดงานอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะเดียวกัน ยังเตรียมจัดงานใหม่อย่าง “Plastic & Rubber Thailand” งานแสดงเทคโนโลยีการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางแบบครบวงจร ตั้งแต่วันที่ 10-13 พ.ค. ที่ไบเทค ในฐานะที่ประเทศไทยเป็น “ฐานการผลิต” สำคัญของโลก รวมถึงงานใหม่อีก 2 งานที่อาจเป็นไปได้ว่าจะเริ่มจัดในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หนุนให้บริษัทสามารถก่อร่างสร้างรายได้ผ่านจุดฟื้นตัว 100% ในปี 2567
“เรามองเห็นเทรนด์ของงานจัดแสดงสินค้า พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่เติบโตอย่างโดดเด่น คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอาหาร สามารถอาศัยจุดแข็งเมืองไทยเป็นฐานอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก และยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกอีกด้วย นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน พลังงานทดแทน และสิ่งแวดล้อมก็มาแรง เห็นได้การจัดงานสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้รับผลตอบรับดี มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากในปีที่แล้ว”
ด้าน “ความท้าทาย” ของธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าในปีนี้ สรรชาย มองว่า ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่หมดไป ปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ก่อชนวนเกิดเงินเฟ้อ ทั้งหมดนี้คือปัจจัยหลักที่ควบคุมไม่ได้! และต้องคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังถือว่ามีศักยภาพในการเป็น “ศูนย์กลาง” การจัดงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาค ด้วยจุดแข็งเรื่อง “โลเกชัน” เทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียนแล้ว มีระบบโลจิสติกส์ การเดินทาง และการท่องเที่ยวบริการที่ได้เปรียบ มีความพร้อมเรื่องสถานที่การจัดงานเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
และเมื่อมองคู่แข่งอย่าง “สิงคโปร์” แล้ว แม้จะโดดเด่นในฐานะศูนย์กลางทางการเงิน แต่ปัจจุบันค่าครองชีพแพง ทุกอย่างล้วนเป็นค่าใช้จ่ายนั้น ทำให้มีบางงานตัดสินใจย้ายจากสิงคโปร์มาจัดที่ไทย เพราะได้กำไรมากกว่า ส่วน “อินโดนีเซีย” ได้การเติบโตหลักจากตลาดในประเทศ ต่างจากไทยที่พร้อมเสิร์ฟความเป็นอาเซียน!
ทั้งนี้ ในช่วงโควิด-19 ระบาด พิสูจน์แล้วว่างานแบบดิจิทัลไปได้ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ด้านรายได้ เพราะภาพรวมของการจัดงานแสดงสินค้ายังให้ความสำคัญกับการพบปะแบบ “Face To Face” ทางบริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้าจึงต้องนำ “Digital” มาเป็นส่วนประกอบ เช่น การบริหารข้อมูล (Data) ที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเข้าชมงานและเจรจาธุรกิจ ผสมผสานเข้ากับ “Physical” ให้ดูครบ ยกระดับสู่ “Smart Event”