"เป๊ปซี่โค" เดินหน้าโครงการ "pep+" เพิ่มผลผลิต-คุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ปักธงสู่ความยั่งยืน
“เป๊ปซี่โค” สานต่อกลยุทธ์ PepsiCo Positive หรือ “pep+” ปรับโฉมธุรกิจด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลก ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย อีกทั้งรับคืนขยะ MLP สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ลดปัญหาขยะ
หลังจากปี 2564 เป๊ปซี่โค ได้ประกาศกลยุทธ์ PepsiCo Positive หรือ pep+ ปรับโฉมธุรกิจในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลก ด้วย 3 เสาหลัก ประกอบด้วย การเกษตรเชิงบวก (Positive Agriculture) ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก (Positive Value Chain) และทางเลือกเชิงบวก (Positive Choices) เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและคุณค่าให้กับสังคม มาจนถึงตอนนี้กลยุทธ์ดังกล่าวได้ถูกผนวกเข้ากับทุกภาคส่วนของธุรกิจ
จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า pep+ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เป๊ปซี่โคเปลี่ยนแปลงกระบวนการการทำงานให้ตอบโจทย์การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเกษตรเชิงบวก เกษตรแบบฟื้นฟู และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้ทำให้ได้ผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดูแลคุณภาพดินให้ดีขึ้น มีสารอาหารมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรกว่า 4,000 ราย
สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งที่ทำงานร่วมกับบริษัทนั้นมีด้วยกันหลายเรื่อง ทั้ง การบริหารการจัดการน้ำและแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ระบบน้ำหยด การใช้แผงโซลาร์เซลล์ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพของดิน และความเป็นไปได้ในการเกิดโรคพืชโดยการใช้โดรน ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตจาก 1.5 ตันต่อไร่ เป็น 3.5 ตันต่อไร่ และสามารถเพิ่มให้เป็น 4-5 ตันต่อไร่ได้ในอนาคต โดยบริษัทยินดีที่จะรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรทั้งหมด เพราะมันฝรั่งยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
ขณะที่ คอลิน แมทธิวส์ ผู้อำนวยกาารอาวุโสฝ่ายซัพพลายเชน บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของ pep+ คือ กระจายการเกษตรแบบปฏิรูปไปในระดับโลก 7 ล้านเอเคอร์หรือประมาณ 42 ล้านไร่ และตั้งเป้าการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน 100% พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจำนวน 250,000 รายภายในปี 2573
นอกจากนี้ยังชี้ว่า เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้การทำไร่มันฝรั่งในประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันต่อตลาดโลก เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของขนมขบเคี้ยว
นอกจากจะให้ความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรแล้ว ทางเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังมีโครงการ "Journey to Zero Waste" เก็บกลับขยะพลาสติกยั่งยืน ด้วยการขยายการเรียนรู้เรื่องการจัดการและแยกขยะร่วมกับชุมชนต่าง ๆ รวมถึงการเก็บกลับขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะพลาสติกอ่อนหลายชั้น หรือ MLP (Multilayer plastic) หลังการบริโภค เพื่อนำไปไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะเหล่านั้น ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา เป๊ปซี่โคได้นำขยะ MLP ที่ได้ไปแปรรูปเป็นไม้เทียม เพื่อเป็นเก้าอี้ และโต๊ะนักเรียน ส่งมอบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่งทั่วประเทศ
เรียกได้ว่ากลยุทธ์ “pep+” นอกจากจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรแล้ว ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชนรอบข้าง พร้อมคำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย