ไม่มีอีกแล้วร้าน New Balance หลังประกาศปิดช็อปทุกสาขาในไทย

ไม่มีอีกแล้วร้าน New Balance  หลังประกาศปิดช็อปทุกสาขาในไทย

เมื่อ New Balance ประกาศปิดช็อปทุกสาขาในประเทศไทย จับตาทิศทางหลังจากนี้ แบรนด์รองเท้าเก่าแก่สุดของโลก จะปรับทัพธุรกิจ เดินเกมอย่างไร เพื่อสร้างยอดขาย-การเติบโตในสังเวียน รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เพราะตลาดนี้ใหญ่มูลค่า "หมื่นล้าน" เลยทีเดียว

แม้ชื่อชั้นของรองเท้า อุปกรณ์กีฬา New Balance(นิวบาลานซ์) จะเป็นแบรนด์ระดับโลกจากสหรัฐ และรองเท้ายังมีความเก่าแก่ที่สุดของโลก ทำตลาดจนเป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคอย่างดี แต่กลยุทธ์ที่ทำให้การเปิดร้านหรือช็อปของ New Balance(ร้านนิวบาลานซ์) ประสบความสำเร็จในตลาดไทยยังมีองค์ประกอบอื่นอีกมาก

วันที่ 26 เมษายน 2566 จะไม่มีช็อป New Balance ให้สาวก ผู้บริโภคได้ช้อปอีกต่อไป เมื่อมีประกาศออกมาจากร้านถึงการ “ปิดช็อปทุกสาขา” ในประเทศไทย

สำหรับผู้บริโภคบางส่วนเชื่อว่ารับรู้มาบ้าง ถึงแนวทางการปิดตัวของร้าน New Balance แต่อาจไม่ได้ “เอะใจ” มากนัก แต่พนักงานขายภายในร้านบางสาขา เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ มีการส่งสัญญาณให้ลูกค้าที่เข้าไปช้อป รีบซื้อสินค้า เพราะอาจไม่มีร้านแล้ว ซึ่งประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นราวเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

กระทั่งวันนี้(25 เม.ย.66)ทางร้านปิดป้ายประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะให้บริการวันสุดท้ายคือ 25 เม.ย.2566 ในสาขาตามข่าว และสาขาอื่นๆด้วย

สำหรับ New Balance ช็อปนั้น เปิดให้บริการค่อนข้างนาน จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า บางสาขา เช่น เอ็มบีเค เปิดให้บริการเมื่อปี 2558 เป็นต้น

ทั้งนี้ ช็อป New Balance เป็นหนึ่งในร้านจำหน่ายสินค้ากีฬา รองเท้า ภายใต้การบริหารของบริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด ในเครือเซ็นทรัล ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของเมืองไทย ซึ่งไม่เพียงแบรนด์ดังกล่าว พอร์ตโฟลิโอที่บริษัทบริหารยังมีอีก 7 ร้าน ได้แก่ ร้านซูเปอร์สปอร์ต ร้านซูเปอร์สปอร์ต แอคทีฟ ร้านซูเปอร์สปอร์ต เอาท์เลท ร้านครอคส์ ร้านฟิต สปอร์ต ร้านสเก็ตเชอร์ส และร้านสปีโด

หลังข่าวการปิดตัวของช็อป New Balance ทุกสาขาในไทย กรุงเทพธุรกิจ พยายามประสานกับผู้บริหารร้าน แต่ไม่ได้รับคำตอบ ถึงเหตุผลของการ “ถอยทัพ” ทางธุรกิจครั้งนี้ และแบรนด์ ผู้บริหารจะมีการ “แก้เกม” อย่างไร เพื่ออยู่บนสังเวียนตลาดรองเท้า สินค้ากีฬา ฯ

สำรวจตลาดสินค้า เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา มีคาดการณ์มูลค่าระดับ 3 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเจาะลึก “คู่แข่ง” บนสังเวียน ล้วนเต็มไปด้วย “บิ๊กแบรนด์” ระดับโลก ซึ่งแต่ละรายต่างมีความโดดเด่น จุดแข็ง เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น บางแบรนด์แกร่งในสินค้าเทรนนิ่ง วิ่ง โยคะ หรือการออกกำลังกาย ประเภทอื่นๆ เป็นต้น

จุดแข็งมีแล้ว ทว่า จุดอ่อน กลายเป็นโจทย์ที่แบรนด์ต้องทำการบ้าน หาทางแก้ ซึ่งกรณีของ New Balance เสียงสะท้อนจากผู้บริโภคที่ค่อนข้างดัง คือ “ราคา” เพราะค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับซื้อที่ต่างประเทศ หรือสูงถึงขั้นเทียบเท่ากับการนำไป Resale หรือขายต่อด้วยซ้ำ แม้กระทั่งช่วงนี้ ความเห็นของผู้บริโภคที่ เปรียบเทียบสถานการณ์ค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลง แบรนด์มีการขยับราคาขึ้น ทว่า เมื่อค่าเงินมีผลให้ราคาสินค้าลด สินค้ากลับราคาสูงขึ้นไปอีก จึงมี Comment เชิงประชดประชันเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์หลังจากนี้ มีหลากความเห็นว่าผู้ประกอบการรายใด จะรับช่วงต่อในการบริหารแบรนด์ หรือ “เจ้าของแบรนด์” จะเข้ามารุกตลาดเอง บ้างยังประเมินอาจเป็นกลุ่มเซ็นทรัลเหมือนเดิม แค่นำสินค้ากลับเข้าไปจำหน่ายในช่องทางร้านซูเปอร์ สปอร์ต เป็นต้น

อีกความท้าทายของร้านที่จำหน่ายสินค้าดังเพียงแบรนด์เดี่ยว นอกจากความแข็งแกร่งของแบรนด์ ปัจจุบันมีร้านที่จำหน่ายสินค้าสารพัดแบรนด์หรือ มัลติแบรนด์ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลากหลาย สาวกของทุกแบรนด์ไปร้านเดียวมีครบ

สำหรับช็อป New Balance ที่เปิดให้บริการและปิดตัวไปอย่างเซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นร้านแรกของไทย ที่เป็นคอนเซปต์สโตร์โมเดลใหม่ “ Metropolitan” ที่ใช้กันทั่วโลก เปิดให้บริการเมื่อปี 2561