กูรูชี้เทรนด์ค้าปลีกสู่ยุค'Go Green-AI'ครองเมือง เร่งทรานฟอร์มโตยั่งยืน
ยุคใหม่ค้าปลีกไทยหลังโควิด ที่พลวัตการค้าเปลี่ยนใหม่ การยึดติดทำธุรกิจรูปแบบเดิม ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป 'สมาคมผู้ค้าปลีก' จึงนำกูรู มาร่วมติดอาวุธการค้า ให้ผู้ประกอบการร่วมสร้างน่านน้ำการเติบโตแบบยั่งยืน สู่ค้าปลีกสีเขียว ปรับใช้ AI เสริมสมรรถนะ
โจทย์ท้าทายอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยเผชิญปัจจัยลบรอบด้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น เป็นอุปสรรคสำคัญสกัดการสร้างกำไรให้เติบโตตามเป้าหมาย! ขณะที่ตัวแปรใหม่ที่มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจ คือ การทำธุรกิจด้วยความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นหัวใจของทุกภาคธุรกิจในโลกล้วนมุ่งไปสู่เป้าหมายนี้! รวมถึงความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นเครื่องมือหนุนสร้างการเติบโตครั้งใหม่ ผู้ประกอบการจึงต้องก้าวให้ทันกับเทรนด์โลกเหล่านี้ หากไม่เร่งปรับตัว หรือปรับตัวไม่ทัน มีโอกาสถูกทิ้งในตลาดอย่างแน่นอน!
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จัดเสวนาประจำปี 2566 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกค้าปลีกและบริการในอนาคต ที่คุณจะไม่รู้…ไม่ได้แล้ว” ร่วมติดอาวุธการแข่งขันให้ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยผ่านผู้เชี่ยวชาญนำเสนอแนวทางสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
สนธยา กริชนวรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจสีเขียว ด้วยการประกาศนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อแสดงถึงเจตนารมย์ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อโลกสีเขียวและสร้างความยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593
ปัจจัยที่สำคัญในการก้าวสู่ธุรกิจสีเขียว ต้องประกอบด้วย “อีโคซิสเต็ม” ที่สำคัญเข้ามาเติมเต็มทั้ง ลูกค้า เทคโนโลยี กฎ ข้อบังคับ นโยบาย ห่วงโซ่อุปทาน ผู้ลงทุนและปัจจัยทางกายภาพต่างๆ โดยผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน
หากประเมินเทรนด์การไปสู่ธุรกิจสีเขียวในโลก ทุกประเทศต่างมุ่งลงทุนการลดใช้พลังงานและมีการลงทุนใหม่ เพื่อร่วมลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ รวมถึงธุรกิจศูนย์การค้า ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นตัวแปรทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในโลก จึงต้องทำแผนเพื่อร่วมลดการใช้คาร์บอน และยังเป็นโอกาสสำคัญต่อการสร้างเครดิตให้องค์กรในระยะยาว
ประเมินความสำคัญต่อภาคธุรกิจค้าปลีก จะได้รับจากการ “Go Green” ในระยะยาวยังมีอีกหลายด้าน ทั้ง การช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้อีกทาง การสร้างความโดดเด่นในสินค้าประเภทเดียวกัน การเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ลูกค้า การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้ลูกค้าเกิดความตะหนักในการความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ร่วมลดของเสียและการกำจัดอย่างเป็นระบบมีมาตรฐาน ช่วยเปิดช่องทางการตลาดใหม่ รวมถึงได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกในโซ่อุปทานของธุรกิจ และการได้รับส่งเสริมในด้านต่างๆ จากภาครัฐอย่างครบวงจร
ในปัจจุบันไทยโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สร้าง “แพลตฟอร์มเพื่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิต” จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจค้าปลีก สามารถเข้ามาร่วมซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้อีกทาง และสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ
อีกสิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวนอกจากเรื่อง Go green แล้ว ยังต้องมุ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมพลิกโฉมภาคธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ทางด้าน รณพงศ์ คำนวณทิพย์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาค มายด์ เอไอ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า โลกธุรกิจ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก้าวเข้าสู่ “ยุค AI” เข้ามาขับเคลื่อนภาคธุรกิจต่างๆ โดยยุคนี้จะยาวนานต่อเนื่องไปอีก 25 ปี หรือไปถึงปี 2588
“AI ที่เข้ามาขับเคลื่อนภาคธุรกิจค้าปลีก ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการภายใน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจครั้งสำคัญ”
ในปัจจุบันภาคค้าปลีกของไทยต่างเริ่มนำ AI นำมาพัฒนามากขึ้น รวมถึงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยกตัวอย่าง ในระบบการสื่อสารกับลูกค้า ที่ช่วยสร้างความสะดวกแก่ลูกค้าได้อีกทาง
อย่างไรก็ตามอีก “จุดอ่อนของภาคค้าปลีก” ที่เห็นอย่างชัดเจนคือ ปัญหาสินค้าขาดสต๊อก โดยหากนำ AI มาใช้จะเพิ่มโอกาสการขายอย่างมาก ยกตัวอย่าง สินค้าขาดสต็อกเป็นปัญหาใหญ่ในภาคธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐ จึงเกิดการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจถึง 1.44 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อลูกค้าพบว่าสินค้าขาดสต๊อก ก็หันไปซื้อสินค้าในแบรนด์คู่แข่งในสัดส่วนถึง 70%
การนำระบบ AI มาบริหารจัดการได้อย่างครบวงจรและนำมาร่วมพัฒนาระบบต่างๆ เชื่อมโยงเทคโนโลยีภายในของภาคค้าปลีก จะยิ่งเพิ่มโอกาสทางการขายในระยะยาว พร้อมเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ในระยะยาว แต่อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การนำ AI มาใช้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจึงต้องสร้างระบบที่มีความปลอดภัยอย่างสูงสุด!