‘กีโต้-แกมโบล’ รองเท้าแบรนด์ไทย ฝันไกลสู่ระดับโลก

เมื่อ 5 ครอบครัวตระกูล "กิจกำจาย" ช่วยกันสร้าง 2 แบรนด์รองเท้าแตะสัญชาติไทยจนเติโตหลายทศวรรษ ตอนนี้ ต่างมีแนวทางบริหาร ปูทางสู่แบรนด์ระดับโลก จับตา "กีโต้-แกมโบล" จะไปถึงดวงดาวไหม
ตลาดรองเท้าแตะลำลองในไทยถูกประเมินมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท สินค้าแถวหน้าล้วนมีแบรนด์ไทยทำตลาดอย่างแข็งแกร่ง แต่ก็เจอโจทย์ท้าทาย จากแบรนด์ “จีน” เข้ามาแข่งขันแบบดัมพ์ราคากันสุดๆ
2 แบรนด์ไทยที่มาจาก 1 ตระกูลอย่าง “กีโต้-แกมโบล” ยืนหยัดในตลาดมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ทว่า ย้อนเส้นทางของ 2 แบรนด์ ถูกปลุกปั้นจากตระกูล “กิจกำจาย” โดยมี “สมพงษ์ กิจกำจาย” หนึ่งใน 7 พี่น้อง ที่มีส่วนสำคัญสร้างประวัติศาสตร์บนเส้นทางธุรกิจให้กับตนเองและครอบครัว
ด้วยฝีมือคนไทย ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบ และดีไซน์รองเท้า ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ ไม่แค่ตลาดในไทย แต่เติบโตไปอีกกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
- 5 ครอบครัวเคลื่อน “กีโต้-แกมโบล”
“กีโต้” ออกสู่ตลาดในปี 2535 เมื่อพี่น้องมีหลายคน และการมีแบรนด์เดียว ไม่เพียงพอ ทำให้การสร้างอาณาจักรรองเท้า และขยายไลน์ เพิ่มพอร์ตโฟลิโอให้กิจการครอบครัวจึงเกิดขึ้น ภายใต้แบรนด์ “แกมโบล” เข้ามาเสริมทัพในปี 2546
นิติ กิจกำจาย
ก้าวสู่ปีที่ 21 “แกมโบล” วางยุทธศาสตร์โต มุ่งขยายตลาดต่างประเทศ หวังพาแบรนด์ไทยไปปักหมุดให้คนทั่วโลกรับรู้มากขึ้น
นิติ กิจกำจาย กรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ “แกมโบล” (GAMBOL) เล่าว่า แบรนด์รองเท้ากีโต้ และแกมโบล ถือเป็นกิจการครอบครัว “กิจกำจาย” ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 5 ครอบครัว(เนื่องจากพี่สาว 2 คนแต่งงานออกไป)ช่วยกันบริหาร วางแนวทางการขับเคลื่อนที่แตกต่างกันไป แต่เบื้องหลัง ยังมีการหารือกันพร้อมหน้าพร้อมตา ประหนึ่งดุจมีกรรมการครอบครัวหรือบอร์ดครอบครัว
“เราแบ่งหน้าที่การทำงานว่าใครดูแลฝั่งหรือแบรนด์ไหน แต่การตัดสินใจยังขึ้นอยู่กับครอบครัวทั้งหมด”
ปัจจุบันเจนเนอเรชั่นแรก หรือรุ่นผู้บุกเบิกก่อตั้งธุรกิจยังทำหน้าที่บริหารงานกันเต็มที่ และเริ่มมีเจนที่ 2 เข้ามาเรียนรู้ ซึมซับกิจการครอบครัว ซึ่งหากรวมทั้ง 2 รุ่น ครอบครัว “กิจกำจาย” มีทายาทรวมมากกว่า 30 ชีวิต
- แกมโบล ผลิตรองเท้าแตะ EVA มากสุดใน APAC
ภายใต้บริษัท บิ๊กสตาร์ นอกจากมีรองเท้าแตะที่เติบโตต่อเนื่อง ในฐานะ “ผู้ผลิต” ยังเป็นเบอร์ 1 ที่ผลิตรองเท้าแตะ EVA หรือวัสดุที่มีความเหนียว ทนทาน มากสุดในเอเชียแปซิฟิก(APAC) ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 40,000 คู่ต่อวัน หรือใช้กำลังการผลิต 80% ยังมีกำลังผลิตยืดหยุ่นรองรับช่วงไฮ-โลวซีซั่นของการจำหน่ายรองเท้าด้วย
นอกจากรองเท้าแตะ EVA แกมโบลที่เป็นไอคอนิกของแบรนด์ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดี ปัจจุบันบริษัทยังแตกไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งพระรองที่โดดเด่นคือรองเท้าแตะที่ผลิตจากไฟล่อน และที่เป็น “ตำนาน” ต่อยอดจากแบรนด์ “กีโต้” ของครอบครัวคือการทำรองเท้าแตะสลับสี DUO และมีรองเท้าทรงคล้ายกับรองเท้าผ้าใบหรือ Slip-on เป็นต้น
“บริษัทเรายังคงเป็นผู้ผลิตรองเท้าแตะลำลอง EVA มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
- แผนโตต่างประเทศ ปั้นสู่ Global Brand
20 ปีของแกมโบล สร้างยอดขายระดับ “พันล้านบาท” เรียบร้อยแล้ว การเติบโตอาจมากกว่านี้ แต่เพราะวิกฤติโควิด-19 ระบาด ทำให้บริษัทสะดุดเฉกเช่นหลายธุรกิจ
ก้าวสู่ปีที่ 21 ของแกมโบล นอกจากเติบโตในประเทศ เพื่อรักษาตำแหน่งผู้เล่น “แถวหน้า” เอาไว้อย่างเหนียวแน่น "ต่างประเทศ" เป็นอีกหมุดหมายที่บริษัทจะนำแบรนด์ไทยไปปัก โดยจะมุ่ง “ตะวันออกกลาง” มากขึ้น ต่อจากฐานตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนามหรือ CLMV รวมๆแล้ว 7-8 ประเทศที่ต้องการขยายเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
“รัสเซีย-ยูเครน” เป็นอีกตลาดที่แกมโบลไปบุก ทว่า “สงคราม” ความขัดแย้งของ 2 ประเทศ ทำให้ตลาดต้องสะดุดไป อย่างพันธมิตรคู่ค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในยูเครน “คลังสินค้า” ถูกระเบิดถล่มย่อยยับ จึงทำได้เพียงเห็นใจพันธมิตรอย่างยิ่ง
“เราจะก้าวออกจากตลาดในประเทศไทยไปสู่ตลาดโลก แม้แบรนด์ยังไม่เปรี้ยงปร้าง แต่ต้องทยอยทำตลาด หา Insight ของลูกค้า ศึกษาตลาดไปเรื่อยๆ”
ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้ บริษัทกำหนดปี 2570 ในการก้าวสู่แบรนด์รองเท้าระดับนานาชาติ ส่วนปี 2568 จะพัฒนาเป็นแบรนด์รองเท้าชั้นนำในอาเซียน
- ดึง “ลิเวอร์พูล” ปรับภาพลักษณ์แบรนด์
ช่วง 3 ปีที่เผชิญโควิด ไม่เพียงตลาดและยอดขายหดตัว แต่แบรนด์เองก็ซบเซา เพราะผู้คนไม่ออกจากบ้าน การเดินทางไม่เกิดขึ้น ล้วนส่งผลต่อตลาดรองเท้า อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้บริษัทเดินหน้า Revamp Brand หรือปรับภาพลักษณ์ให้กับรองเท้า “แกมโบล” ด้วยการพึ่งพลังสโมสรฟุตบอลดังใน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ “ลิเวอร์พูล” มาสร้างสีสัน
การ Collarboration กับลิเวอร์พูล มีระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี โดยเฟสแรกสินค้าถูกนำเสนอสู่ตลาดแล้ว และเฟส 2 จะเห็นคอลเล็กชั่นและกิจกรรมการตลาดช่วงเดือนกันยายน 2566
นอกจากเอาใจคอกีฬา บริษัทยังขยายตลาดรองเท้สสู่กลุ่มวิ่ง รองเท้าผู้สูงอายุ รองเท้าเอาใจคนรักสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะมีเวอร์ชั่นคู่ระหว่าง “ทาส” กับสัตว์เลี้ยงนั่นเอง
แผนดังกล่าว บริษัทตั้งเป้าจะผลักดันยอดขายปี 2566 แตะ 1,300 ล้านบาท หรือเติบโตราว 30% จากปี 2565 มียอดขาย 1,042 ล้านบาท