โจทย์ใหญ่ 'เศรษฐา' บูมท่องเที่ยว 3.3 ล้านล้านบาทปี 67 'ททท.' รุกชิงตลาดคุณภาพ
'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรี ยกให้ 'ภาคท่องเที่ยว' เป็นควิกวินกระตุ้นเศรษฐกิจไทย! ตั้งเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2567 สุดท้าทายไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 10% เมื่อเทียบกับเป้าหมายรายได้รวมฯ ตามที่ 'ททท.' วางไว้ 3 ล้านล้านบาท
การเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นในช่วง “ส่งไม้ต่อ” ตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ของ ททท. จากมือ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งนั่งเก้าอี้นี้ครบวาระบริหาร 2 สมัย เป็นเวลา 8 ปี หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ถึงมือผู้ว่าการฯ คนใหม่ “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2566 เป็นต้นไป
ยุทธศักดิ์ สุภสร อดีตผู้ว่าการ ททท. ระบุว่า ตามที่นายกฯ เศรษฐา ตั้งเป้าให้ประเทศไทยกลับมามีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.3 ล้านล้านบาทภายในปี 2567 มองว่าไม่น่ามีปัญหา ททท.สามารถผลักดันรายได้ด้วยการมุ่งดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายเข้ามาเพิ่มมากขึ้น
สำหรับ “การบ้าน” ที่อยากฝากถึงผู้ว่าการ ททท. คนใหม่ คือการเจาะดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยไปให้ถึงเป้าหมายทุกกลุ่ม ควบคู่กับการยกระดับฝั่งซัพพลายไปสู่ “ความยั่งยืน” มากขึ้น ซึ่งทาง ททท.ได้มีมาตรการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนภายในปี 2573 และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ว่าการ ททท.คนใหม่ต้องการผลักดันเรื่องนี้เช่นกัน เช่น การกำหนดให้ซัพพลายเชนของภาคการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และอื่นๆ ต้องมีมาตรฐานความยั่งยืน หากไม่ได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ จะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ ททท. ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ โครงการ หรือแคมเปญใดก็ตาม
“การดำเนินงานไปให้ถึงเป้าหมายรายได้ที่กำหนดไว้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องยึดหมุดหมายของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คือการสร้างการท่องเที่ยวให้มีคุณค่าและยั่งยืนมากขึ้น”
ทั้งนี้ประเมินว่าตามที่ ททท.ตั้งเป้าไว้ในปี 2566 จะต้องสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ฟื้นกลับมาให้ได้ 80% ของรายได้รวมฯ 3 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด น่าจะทำได้อย่างแน่นอน เพราะจากแนวโน้มการเดินทางในตอนนี้ เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะระดับ 2.5-3 ล้านคนต่อเดือนแล้ว
หากในช่วงที่เหลืออีก 4 เดือนของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) สามารถปลดล็อกเงื่อนไขหรือข้อจำกัดต่างๆ ได้เพิ่มเติม คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 28 ล้านคน และสามารถต่อยอดกระแสการเดินทางให้ดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 ซึ่งตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน สร้างรายได้ตลาดต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยตั้งเป้าไว้ 200 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ตลาดในประเทศ 1.08 ล้านล้านบาท รวมเป็น 3 ล้านล้านบาท กลับมา 100% โดยอยากเห็นการฟื้นตัวในเชิงคุณภาพ ทำให้ ททท.ต้องผนึกความร่วมมือกับภาคเอกชนปรับปรุงพัฒนาฝั่งซัพพลายให้ได้คุณภาพ สามารถเติมเต็มประสบการณ์ท่องเที่ยว และมอบความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยควบคู่กันไปด้วย
ยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องที่ “รัฐบาลใหม่” และ ททท. ต้องเร่งรัดดำเนินการมากที่สุด ได้แก่ 1.Ease of Traveling การอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทย ให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการช่วงชิงตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซันนี้
2.Extend Length of Stay การขยายเวลาพำนักในประเทศไทยให้นานขึ้น เพื่อชดเชยกับราคาตั๋วเครื่องบินที่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปัจจุบันจำนวนเที่ยวบินยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ทำให้เห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มอยู่นานขึ้น เพื่อชดเชยราคาตั๋วเครื่องบินที่ยังสูงอยู่ด้วย
และ 3.Support SMEs การสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดีจากการกลับมาของภาคท่องเที่ยวในภาพรวม ด้วยการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวกระจายเข้าไปเติมเต็มซัพพลายกลุ่มนี้
“อีกสิ่งสำคัญในตอนนี้คือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ทั้งแก้ไขข่าวลือเชิงลบ เร่งสร้างความมั่นใจในการท่องเที่ยวไทย ว่าสามารถเดินทางมาเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพ ได้รับประสบการณ์และความสุขกลับไป”
โดยเฉพาะ “ตลาดจีน” ที่มีข่าวลือเชิงลบของไทยค่อนข้างแรงตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา อาทิ ชาวจีนมาเที่ยวไทยแล้วอันตรายมาก อาจถูกลักพาตัวข้างถนนในเมืองไทย และคนร้ายจะตัดอวัยวะไปขาย หรืออาจถูกลักพาตัวแล้วนำไปขายที่ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อพาไปประกอบอาชีพฉ้อโกง จะถูกทุบตี ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตก็มี นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อข่าวว่า ข้อมูลของตำรวจไทยในปี 2566 มีชาวจีนสูญหาย 200 คนต่อวัน หรือคิดเป็นชาวจีนสูญหาย 70,000 คนต่อปี รวมถึงการปราบปรามของตำรวจไทยต่อ “ธุรกิจสีเทา” ของจีน ทำให้ทุกคนในจีนรู้สึกไม่มั่นคง ชาวจีนกังวลมาก ว่าไทยจะต่อต้านชาวจีนที่เป็นบุคคลธรรมดาเข้ามาท่องเที่ยวด้วย
“ข่าวลือเหล่านี้มีกระแสค่อนข้างแรงในโลกออนไลน์ของจีน โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok ส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ในไทย จึงต้องเร่งแก้ไขและสร้างความมั่นใจกลับคืน”
ยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมากับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องผู้ประกอบการไม่ว่าจะอยู่ในเซ็กเตอร์ไหน หลังได้ร่วมฝ่าฟันอุปสรรค จำได้ว่าในช่วง 2 ปีแรกภาคท่องเที่ยวเจอปัญหา “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” และเมื่อปี 2561 เจอเหตุการณ์ “เรือล่มภูเก็ต” และล่าสุดตั้งแต่ปี 2563-2565 เป็น 3 ปีที่ไม่มีใครลืมได้ลงว่าสถานการณ์ “โควิด-19” ระบาดนั้น ภาคท่องเที่ยวอยู่กันอย่างไร เป็นความทรงจำที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่ก็ไม่มีใครอยากจะลืมกับสิ่งที่เกิดขึ้น
จนถึงวันนี้ น่าจะถือได้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 11 ล้านคน และล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ข้อมูลอัปเดตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 ส.ค. พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 17,571,069 คน โดยตลาด 5 อันดับแรกที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด อันดับ 1 คือ มาเลเซีย 2,797,462 คน อันดับ 2 จีน 2,182,038 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ 1,046,200 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,006,629 คน และอันดับ 5 รัสเซีย 914,666 คน
“ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ผมได้ทำงานร่วมกับคน ททท. ภายใต้ปรัชญาการทำงาน ‘MOVE’ มาโดยตลอด มีการปรับเปลี่ยนบ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละระยะ ซึ่งมีโจทย์ที่เข้ามาท้าทายในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในปี 2563 จำได้แม่นว่าในช่วงทำกิจกรรมเตรียมงานเทศกาลตรุษจีน ใครจะไปคิดว่ามีเหตุการณ์ที่ทำให้การท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงักไป 2-3 ปี ทุกคนถูกดิสรัปด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้ต้องเซ็ตซีโร่ (Set Zero) กลับไปรีสตาร์ทกันอีกครั้ง แต่พวกเรายังต้อง NEXT MOVE หรือ มูฟกันต่อไป”