'จีเอ็มเอ็ม มิวสิค' ลุยงานเพลงสั้น 55 วินาที เอาใจโลกโซเชียล

'จีเอ็มเอ็ม มิวสิค' ลุยงานเพลงสั้น 55 วินาที  เอาใจโลกโซเชียล

ถือเป็นบิ๊กมูฟ 4 ทศวรรษของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ในการแยกตัวหรือ Spin-Off “จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) หวังเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลงสู่ New Music Economy

ตามยุทธศาสตร์ของบริษัท จะขยายธุรกิจเพลงมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตเพลง สร้างศิลปิน ปั้นเพลย์ลิสต์เอาใจคนฟังเพลง การลุยโชว์บิส มีคอนเสิร์ตมากมายดึงคนดู หาพันธมิตรทางดนตรีผ่านการ “ร่วมทุนและซื้อกิจการ” หรือ M&A เป็นต้น

ทว่า ล่าสุดคือการเดินหน้าเปิดตัวค่ายเพลงน้องใหม่ “จีเอ็มเอ็ม ซอส” หรือGMM SAUCE ผลิตคอนเทนต์เชิงนวัตกรรม(Innovative Content) ตอบรับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ใหม่ของการผู้บริโภคในตลาดเพลง

จุดเด่นของค่ายเพลง “จีเอ็มเอ็ม ซอส” จะสร้างสรรค์ ผลิตเพลง “สั้น” หรือเรียกได้ว่ามีความยาวไม่เกิน 55 วินาที ตลอดจนมิวสิควิดีโอ(MV)รูปแบบสั้น(short vdo) แนวตั้ง สำหรับเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดียต่างๆไม่ว่าจะเป็นติ๊กต๊อก(TikTok) เฟซบุ๊ก(Facebook) อินสตาแกรม(Instagram) ยูทูป(YouTube) รวมทั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ

ขณะที่ศิลปินมาร่วมงานสร้างสรรค์เพลงสั้น 55 วินาที ยังคงเป็นมือดีของวงการเพลง เช่น นิ่ม สีฟ้า, Team Mango โดย กบ Big Ass, Team Pop in the Box โดย รัฐ Tattoo Color บิว Lemon Soup ออฟ RATS Record โดยศิลปินชั้นนำ ศิลปินรุ่นใหม่ มีทั้งจากสังกัดจีเอ็มเอ็ม มิวสิค และศิลปินนอกค่าย

นายจามร จีระแพทย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์หรือSocial Media เข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมเพลงเป็นอย่างมาก และผู้บริโภคใช้เพลงเป็นส่วนประกอบในการโพสหรือแชร์คอนเทนต์สั้นๆบนลงบนแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้บริษัทลุยผลิตเพลงสั้นเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการเล่นโซเชียล มีเดีย

ขณะที่การสร้างสรรค์เพลงสั้น 55 วินาที จะยึดคอนเซปต์ “เพลงที่บ่งบอกถึงทุกสถานการณ์ในชีวิต” หรือ Soundtrack of Life และทุกช่วงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ฟังหรือMicro Moments

“จีเอ็มเอ็ม ซอส ค่ายเพลงสั้น เปิดตัวมามาพร้อมความสนุกสนาน เน้นคอนเซปต์ creative & innovative music เพื่อตอบโจทย์ความนิยมของคอนเทนต์สั้นๆ หรือ Short content ของผู้บริโภคในตลาดเพลง”

สำหรับคอนเทนต์เพลงสั้นจะปล่อยสู่ตลาภายในไตรมาส 3 นี้ พร้อมตั้งเป้าการผลิตผลงานเพลงจำนวน 300 เพลง ภายใน 1 ปี แบ่งเป็น 100 เพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่จากศิลปินหลากหลายค่าย ทั้งศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงและศิลปินที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ทั้งในและนอกสังกัดแกรมมี่ ส่วนอีก 200 เพลงฮิตจะนำมาดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นใหม่ โดยจะมีทั้ง ภาษาถิ่น ภาษาของชาวอาเซียนหรือ AEC ขณะที่การลงทุน คาดว่าปีแรกใช้ราว 50 ล้านบาท ทั้งการผลิตและโปรโมทผลเพลง ส่วนรายได้คาดหวังจากแคมเปญการตลาดเชิงดนตรี(music marketing campaign) จากแบรนด์สินค้าต่างๆ