เกิดอะไรขึ้นกับ ‘Flash Express’ ย้อนที่มาก่อนผงาด ‘ยูนิคอร์นตัวแรก’

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘Flash Express’ ย้อนที่มาก่อนผงาด ‘ยูนิคอร์นตัวแรก’

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ “Flash Express” กระหึ่มโซเชียล พัสดุค้างโกดัง-ไรเดอร์ไม่เพียงพอ พบ รายได้ปี 65 ขาดทุนกว่า “2,000 ล้านบาท” หลังติดสปีดธุรกิจผงาด “ยูนิคอร์นตัวแรก” ของเมืองไทยสำเร็จ

Key Points:

  • แม้ธุรกิจขนส่งจะมีการแข่งขันสูง อยู่ในน่านน้ำสีแดงอันเชี่ยวกรากมาโดยตลอด แต่ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ก็สามารถสร้างฐานลูกค้าจนผงาดขึ้นสู่ “ยูนิคอร์น” ได้สำเร็จ
  • ปัจจุบัน “แฟลช เอ็กซ์เพรส” มีมูลค่าตลาดสูงกว่า “70,000 ล้านบาท” แต่พบว่า ผลประกอบการในปีล่าสุด (ปี 2565) ไม่สู้ดีนัก ขาดทุนกว่า 2,186 ล้านบาท ทั้งยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการสเกลธุรกิจ ขณะเดียวก็ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาค่าส่งได้ในสมรภูมิที่เชือดเฉือนกันด้วย “ความเร็ว” และ “ราคาย่อมเยา”
  • แหล่งข่าวจาก “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ชี้แจงถึงปมร้อนในโซเชียลมีเดียขณะนี้ว่า ประเด็นเรื่องพัสดุตกค้างเกิดขึ้นเฉพาะบางสาขา ส่วนสวัสดิการที่มีการปรับลดเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามกลไกตลาด

 

ธุรกิจขนส่งถูกจำแนกให้อยู่ในประเภท “น่านน้ำสีแดง” หรือ “Red Ocean Strategy” เป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งในสนามจำนวนมาก ความแตกต่างของการบริการมีเพียงเล็กน้อย น่านน้ำสีแดงจึงต้องห้ำหั่นกันผ่าน “เกมราคา” ใช้วิธี “เผาเงิน” ไปเรื่อยๆ เพื่อทำการตลาด อัดโปรโมชันหนักๆ เก็บเกี่ยว-สร้างฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด

ในสมรภูมิ “เกมราคา” ที่น้อยคนนักคิดอยากประลองกำลังเพราะต้องยอมกัดฟันขาดทุนอย่างหนักในช่วงแรกๆ ทว่า “แฟลช เอ็กซ์เพรส” (Flash Express) คือหนึ่งในแบรนด์ที่กระโดดเข้ามาทะลวงฟันท่ามกลางน่านน้ำธุรกิจขนส่งพร้อมกับใช้กลยุทธ์ “ราคาถูก” ในการบุกตลาดเมื่อปี 2560 ตั้งราคาเริ่มต้นส่งด่วนที่ 19 บาท เปิดบริการทุกวันไม่มีวันหยุด บริการรับพัสดุถึงหน้าบ้านแบบ “Door-to-Door” แก้ “Pain Point” เหล่าผู้ค้าอีคอมเมิร์ซในขณะนั้นได้อยู่หมัด จนทำให้ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เติบโตรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 3 ปีก็สามารถระดมทุน-ขึ้นแท่น “ยูนิคอร์นเมืองไทย” ตัวแรกได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามเส้นทางของ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ภายใต้การนำของ “คมสันต์ ลี” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปีของขนส่งสายฟ้าฟาดแห่งนี้มีสารพัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย รวมถึงกรณีล่าสุดกับกระแสข่าวพัสดุล้นคลังสินค้าเนื่องจากจำนวนพนักงานไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยแหล่งข่าวจากฝั่ง “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปมการส่งพัสดุล่าช้าเกิดขึ้นเฉพาะบางสาขาที่มีพนักงานลาออกเท่านั้น ในส่วนของสาขาอื่นๆ ยังมีการจัดส่งพัสดุตรงตามกำหนดเวลาปกติ ส่วนเรื่องการปรับลดสวัสดิการค่า Incentive นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน โดยเป็นการปรับลดไปตามภาพรวมตลาดเท่านั้น

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘Flash Express’ ย้อนที่มาก่อนผงาด ‘ยูนิคอร์นตัวแรก’ -คมสันต์ ลี ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด”-

  • ค่าส่งแพง แถมต้องต่อคิวรอส่ง: รอยรั่วที่ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” แก้เกมสำเร็จ

“คมสันต์ ลี” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด” คลุกคลีกับอาชีพค้าขายของครอบครัวมานาน เขาสนุกกับการเป็นพ่อค้าตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ เคยเปิดร้านขายของหน้ามหาวิทยาลัยขณะเรียนไปด้วยเพราะมองเห็นช่องว่างที่ยังไม่มีใครทำธุรกิจสอดรับกับความต้องการของนักศึกษาจีนที่มาเข้าศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยน ตนจึงคิดนำเครื่องปรุงสัญชาติจีนเข้ามาวางขาย ผลปรากฏว่า ได้รับกระแสตอบรับที่ดี เป็นสัญญาณว่า “คมสันต์ ลี” มีหัวการค้าหลักแหลมตั้งแต่วัยเยาว์ 

หลังจบการศึกษาเขาได้จับธุรกิจหลายประเภท ทั้งครูสอนภาษาไทย โบรกเกอร์ โลจิสติกส์ ซึ่งอย่างสุดท้ายนี้เองที่เป็นกลายเป็นจุดออกสตาร์ตสู่กำเนิด “ยูนิคอร์น” ในเวลาต่อมา เมื่อ “คมสันต์ ลี” เข้าไปเรียนรู้ศาสตร์แห่งธุรกิจจัดส่งสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลกเพื่อกระจายไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีน เขาพบข้อมูลน่าสนใจซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีขนส่งสัญชาติไทยเจ้าไหนลุกขึ้นมาทำ นั่นคืออัตราค่าส่งสินค้าที่มีค่าบริการสูงทั้งที่เมืองไทยมีขนาดเล็กกว่าจีน รวมถึงยังต้องใช้วิธีต่อคิวส่งสินค้าด้วยตัวเองที่ร้านขณะที่จีนมีบริการรับพัสดุถึงหน้าประตูบ้าน

ปี 2560 คือวันเคาะระฆังเปิดธุรกิจขนส่งน้องใหม่ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” อย่างเป็นทางการ ขณะนั้นธุรกิจค้าขายออนไลน์หรือ “อีคอมเมิร์ซ” กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นจังหวะพอดีกับที่ขนส่งสายฟ้าฟาดแห่งนี้ระดมอัดโปรโมชันค่าส่งเริ่มต้นที่ 19 บาท พร้อมรับพัสดุถึงหน้าบ้าน แก้เกมเหล่าผู้ประกอบการที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงที่ทำการด้วยตัวเองเหมือนแต่ก่อน “คมสันต์ ลี” เคยให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ไว้ว่า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตลาดอีคอมเมิร์ซโตแรง ธุรกิจโลจิสติกส์อย่าง “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เองก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย 

หากย้อนดูตัวเลขผลประกอบการของ “บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด” ระหว่างปี 2561 ถึง 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ก็จะพบว่า “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ปี 2561: รายได้รวม 46 ล้านบาท ขาดทุน 182 ล้านบาท
  • ปี 2562: รายได้รวม 2,122 ล้านบาท ขาดทุน 1,665 ล้านบาท
  • ปี 2563: รายได้รวม 9,738 ล้านบาท ขาดทุน 716 ล้านบาท

จะเห็นว่า แม้รายได้เติบโตรุดหน้าแต่บริษัทยังไม่สามารถทำกำไรได้ เนื่องจากธุรกิจขนส่งมีการแข่งขันสูงมาก หลังจาก “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ระดมอัดโปรโมชัน ขยายฐานลูกค้าด้วยการผูกปิ่นโตกับบรรดาร้านค้าออนไลน์เจ้าใหญ่เพื่อให้ได้ “วอลุ่ม” ขนส่งเจ้าอื่นๆ ก็พากัน “ตะลุมบอน” แย่งยึดฐานลูกค้าผ่าน “เกมราคา” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ถึงอย่างนั้นความร้อนแรงของ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ก็สามารถพาธุรกิจระดมทุนรอบซีรีส์ D+ และ E ปิดดีลที่มูลค่า 4,700 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่ารวม “บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด” ทะลุ 10,000 ล้านบาท คว้าตำแหน่ง “ยูนิคอร์น” ตัวแรกของประเทศไทยมาได้สำเร็จในปี 2563

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘Flash Express’ ย้อนที่มาก่อนผงาด ‘ยูนิคอร์นตัวแรก’

  • เบรกแผน IPO สเกลธุรกิจมาพร้อมโจทย์เรื่องต้นทุน

หลังปิดดีลระดมทุนรอบล่าสุด (เดือนธันวาคม 2565) จำนวน 15,000 ล้านบาท ส่งผลให้ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” มีมูลค่าบริษัทรวมอยู่ที่ “70,000 ล้านบาท” เข้าสู่ช่วง “ซีรีส์ F” เป็นที่เรียบร้อย การระดมทุนรอบใหม่นี้เกิดจากความตั้งใจที่ “คมสันต์ ลี” ต้องการสเกลธุรกิจให้ใหญ่และครอบคลุมอาณาจักร “แฟลช กรุ๊ป” มากขึ้น ที่มีทั้งฮับกระจายสินค้า, แฟลช โลจิสติกส์, แฟลช ฟูลฟิลเมนต์, แฟลช มันนี่ และแฟลช เพย์ รวมถึงเป้าหมายในการขยายการลงทุนในต่างประเทศที่ต้องใช้ “ทุนต่อทุน” อีกจำนวนมาก 

ค่าจ้างพนักงานและต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันโลก รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างภาคการบริโภคภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเป็นไปอย่างระมัดระวัง พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของผู้คนเปลี่ยนไป แต่ท่ามกลางน่านน้ำสีแดงที่แข่งขันกันด้วยราคาทำให้ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ยังคงตรึงราคาค่าส่งเริ่มต้นที่ 25 บาท แม้ต้นทุนจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

“คมสันต์ ลี” มีเป้าในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านว่า จะสามารถทำเงินได้มากกว่าตลาดในประเทศ 1 ถึง 2 เท่า จากที่ให้บริการต่างแดน 3 ประเทศ ได้แก่ ลาว ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยปีนี้ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ขอบุกตลาด “สิงคโปร์” และ “เวียดนาม” เพิ่ม เป็นเหตุผลที่แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ถูกเลื่อนออกไปในปี 2567 แทน

ปัจจุบันตัวเลขผลประกอบการปี 2565 อยู่ที่ 14,805 ล้านบาท ขาดทุน 2,186 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 แล้วพบว่า มีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัวลง เพราะในปี 2564 เป็นปีแรกที่ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ทำกำไรได้สำเร็จ มีรายได้ 17,607 ล้านบาท กำไร 5 ล้านบาท แม้เทียบกับรายได้แล้วจะมีสัดส่วนทิ้งห่างกันมากเนื่องจากธุรกิจขนส่งแข่งขันกันด้วยเกมราคาเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังแหล่งข่าวจาก “แฟลช เอ็กซ์เพรส” โดยมีการระบุถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า สำหรับเรื่องพัสดุตกค้างเกิดขึ้นเฉพาะบางสาขาเท่านั้น เนื่องจากจำนวนพัสดุของ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ต่อวันมีมากถึง 2 ล้านชิ้น นับเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในบรรดาขนส่งไทย โดยความล่าช้าเกิดขึ้นเฉพาะบางสาขาที่มีพนักงานบางส่วนลาออก

ส่วนเรื่องสวัสดิการพนักงานที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลมีเดียว่า พนักงาน 1 คนต้องส่งพัสดุมากถึง 500 ชิ้นต่อวันไม่เป็นความจริง จำนวนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60 ถึง 100 ชิ้นต่อคนต่อวัน ทั้งยังยอมรับว่า มีการปรับลดค่า “Incentive” ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน โดยเป็นการปรับไปตามภาพรวมตลาด ส่วนสวัสดิการอื่นๆ พนักงานยังคงได้รับตามปกติ

 

โจทย์ใหญ่ของ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ในวันนี้ คือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตพร้อมกับการหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่เรื่องค่าจัดส่งที่ยากจะเพิ่มราคาในภายหลังได้ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่อผู้บริโภคมาก ธุรกิจขนส่งสินค้าที่แข่งขันกันด้วยราคาและคุณภาพการบริการจะไปต่ออย่างไรในอนาคต

 

อ้างอิง: Bangkokbiznews 1Bangkokbiznews 2Creden DataMGR OnlineSentangsedteeSpringNewsTHE STANDARD