‘ท่องเที่ยว’ ชู ‘เคาท์ดาวน์’ แลนด์มาร์กโลก จัดอีเวนต์ Q4 ดึงต่างชาติ 7 ล้านคน
'ท่องเที่ยว' จัดเต็มอีเวนต์ไตรมาส 4 ฉลองบรรยากาศไฮซีซัน ชูไฮไลต์ 'งานเคาต์ดาวน์' แลนด์มาร์กโลก ปักหมุด 'กรุงเทพฯ' อวดโฉมพระปรางค์วัดอรุณฯ และ 'โคราช' หลัง ททท.ยื่นของบกลาง 600 ล้านบาท ดัน 4 โครงการกระตุ้นไฮซีซัน หวังดึงทัวริสต์ต่างชาติ 3 เดือนสุดท้ายอีกไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รุกทำการตลาดและจัดกิจกรรมอีเวนต์เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวให้คึกคักในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เต็มไปด้วยสีสันแห่งการเฉลิมฉลอง ชูไฮไลต์งานเคาต์ดาวน์ในประเทศไทยให้ติดอันดับแลนด์มาร์กโลก หวังผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 2566 ไปสู่ระดับ 28-30 ล้านคน
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซัน ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมแผนงานทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ และจัดอีเวนต์งานเทศกาล เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศ ไฮไลต์สำคัญคือการจัดงานเคาต์ดาวน์ 2566 ในประเทศไทยให้เป็นอีเวนต์ระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสร้างแรงส่งต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1-2 ปีหน้า ซึ่งจะมีอีเวนต์ใหญ่งานเทศกาลตรุษจีนและสงกรานต์
“ททท.ได้ยื่นของบกลาง 600 ล้านบาท เพื่อนำไปทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ และจัดอีเวนต์งานเทศกาลทั้งตลาดในและต่างประเทศช่วงไฮซีซันนี้ ผ่าน 4 โครงการ คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้การท่องเที่ยวกลับมาไม่น้อยกว่า 31,660 ล้านบาท โดยงานเคาต์ดาวน์ทั้งที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด เป็นอีเวนต์หลักในโครงการ ไทยแลนด์ เฟสติวัล เอ็กซ์พีเรียนส์ (Thailand Festival Experience) ที่จะมีการจัดอีเวนต์ต่างๆ กระจายทั่ว 5 ภูมิภาค ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับคือก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 1,100 ล้านบาท”
โดยสาเหตุที่ต้องยื่นของบกลาง เพราะงบจากร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ กว่าจะใช้ได้ต้องรอไปถึงเดือน มี.ค. 2567
สำหรับข้อเสนอรวม 4 โครงการ ได้แก่
1. อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ พาสปอร์ต พริวิเลจส์ (Amazing Thailand Passport Privileges) งบประมาณ 150 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับคือการรับรู้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายของการชอปปิงเพิ่มขึ้น และขยายลูกค้าใหม่จากตลาดต่างประเทศให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว
2. ไทยแลนด์ เฟสติวัล เอ็กซ์พีเรียนส์ (Thailand Festival Experience) ใน 5 ภาค งบประมาณ 200 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับ ก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 1,100 ล้านบาท
3. มาร์เก็ตติง แอนด์ พีอาร์ ฟอร์ซ-มูฟ (Marketing & PR Forced-move) งบประมาณ 150 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับจากตลาดทั่วโลกทุกทวีป 30,000 ล้านบาท
4. เดอะ ลิงก์ โลคอล ทู โกลบอล (The Link Local to Global) งบประมาณ 100 ล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 560 ล้านบาท
ททท.จัดเคาต์ดาวน์ใหญ่ 2 จุด ‘กรุงเทพฯ-โคราช’
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเสริมว่า งานเคาต์ดาวน์ 2566 ที่ ททท.เป็นเจ้าภาพจัดงานเองจะมี 2 จุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปักหมุดวัดอรุณราชวรารามเหมือนงานเคาต์ดาวน์ปีที่ผ่านมา แสดงพลุหน้าพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย พร้อมฉายภาพทัศนียภาพความสวยงามของคุ้งน้ำเจ้าพระยา ส่วนอีกจุดคือ จ.นครราชสีมา ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาเตรียมจัดงานอีเวนต์ใหญ่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นาน 10 วัน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดฯ นอกจากนี้ ททท.ยังคงสนับสนุนภาคเอกชนจัดงานเคาต์ดาวน์อย่างต่อเนื่อง เช่น ไอคอนสยาม และเซ็นทรัลเวิลด์ ด้วย
ส่วนอีเวนต์อื่นๆ เช่น เทศกาลลอยกระทง เดือน พ.ย.นี้ ททท.เป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ที่คลองผดุงกรุงเกษม และงานวิจิตรเจ้าพระยา แสดงแสงสีเสียงตามแหล่งท่องเที่ยวเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1-31 ธ.ค. 2566 หลังจากเคยจัดปีที่แล้วเป็นระยะ 2 สัปดาห์เพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ได้รับเสียงตอบรับดีจากนักท่องเที่ยว
คาด Q4/66 ทัวริสต์ต่างชาติ 7 ล้านคน
สำหรับแนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่ามีจำนวนรวมไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน เฉพาะเดือน ต.ค. น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ส่วนเดือน พ.ย.-ธ.ค. คาดมีเกิน 2.5 ล้านคนต่อเดือน หลังจากภาพรวมปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศช่วงตารางบินฤดูหนาว 2566/2567 ปัจจุบันพบว่ากลับมากว่า 60% แล้ว
“ตลาดที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างโดดเด่นเกิน 80-90% เทียบกับเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด มีนักท่องเที่ยวมาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ส่วนตลาดอื่นๆ ที่มีการเติบโตดีกว่ายุคก่อนโควิดคือ ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงอิสราเอลที่ประเมินว่าจะได้จำนวนนักท่องเที่ยวตามเป้าหมาย 2 แสนคนในปีนี้”
‘เศรษฐา’ บุกจีน หนุน ททท. ผนึก 8 พันธมิตร
นางสาวฐาปนีย์ กล่าวว่า ด้านนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักเดินทางเข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 ในปี 2562 ด้วยจำนวนกว่า 11 ล้านคน จากสถิติล่าสุดช่วง 9 เดือนครึ่งของปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ต.ค. พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสะสม 2,645,885 คน ส่วนเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนตลอดปี 2566 ททท.ยังตั้งเป้าไว้อย่างน้อย 4 ล้านคน
ภายในสัปดาห์นี้ ททท.จะมีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับ 8 พันธมิตรชั้นนำของจีน ได้แก่ 1. Trip.com 2. Ant International (Alipay) 3. Meituan 4. Huawei 5. Spring Airlines 6. Xinhua Net 7. iQIYI และ 8. JegoTrip ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
พันธมิตรทั้งหมดล้วนเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agents: OTA) สายการบิน และผู้ให้บริการเพย์เมนต์ เกตเวย์ (Payment Gateway) เพื่อทำโปรโมชันและโปรโมตการท่องเที่ยวร่วมกัน ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เชิงบวก โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในตลาดจีน
“ทางนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีกำหนดการไปร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 วันที่ 17-18 ต.ค. ณ กรุงปักกิ่ง และการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ต.ค.นี้ที่เมืองจีนอยู่แล้ว จะเดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในงานนี้ด้วย” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว
‘ต่างชาติเที่ยวไทย’ 9 เดือนครึ่ง ทะลุ 21 ล้านคน
นางสาวสุดาวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุถึงสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ต.ค. 2566 มีจำนวนสะสม 21,019,800 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 882,450 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจาก 5 ประเทศที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย 3,431,287 คน อันดับ 2 จีน 2,645,885 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ 1,255,769 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,230,125 คน และอันดับ 5 รัสเซีย 1,038,036 คน
ทั้งนี้ เมื่อดูเฉพาะสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 9-15 ต.ค. มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 470,299 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 67,186 คน โดย 5 อันดับแรกของประเทศที่เดินทางเข้ามาสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย 74,233 คน จีน 61,094 คน อินเดีย 30,170 คน เกาหลีใต้ 27,264 คน และรัสเซีย 22,018 คน
“สัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเพิ่มขึ้น 6.71% จากสัปดาห์ก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น 5,227 คน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ประกอบกับสายการบินเริ่มปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซีย ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมาในภาพรวมประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 470,299 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 27,226 คน คิดเป็น 5.56%”
สำหรับสัปดาห์ถัดไป ตั้งแต่วันที่ 16-22 ต.ค. คาดว่านักท่องเที่ยวจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากการสิ้นสุดวันหยุดยาว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภูมิภาคโอเชียเนีย ความกังวลต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของไทย รวมถึงการเข้าสู่ภาวะสงครามของอิสราเอล นอกจากนั้นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและในประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุความขัดแย้ง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว