ตู้สะดวกซื้อ 'ลอว์สัน 108' อาวุธใหม่เบอร์รอง ไล่ล่าชิงเค้กค้าปลีก

เป็นเวลาประมาณ 10 ปีที่ “ลอว์สัน” ร้านสะดวกซื้อเบอร์ 2 ในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดประเทศไทย ผ่านการร่วมทุนกับ “สหพัฒนพิบูล” ของเครือสหพัฒน์ องค์กรแสนล้าน ตั้งบริษัท สหลอว์สัน จำกัด พร้อมพลิกร้าน “108 Shop” มาเป็น “ลอว์สัน 108”
เส้นทางธุรกิจร้านสะดวกซื้อไม่ง่าย! แม้ “ลอว์สัน” และ “สหพัฒน์” ต่างเป็นทุนใหญ่ การชิงชัยในสังเวียนค้าปลีกได้ มีเงินทุนหนาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมี “ทำเลทอง" สำหรับเปิดร้าน ขยายสาขา รวมถึงระบบการค้าขายที่ “เหนือกว่าคู่แข่ง" การจัดหาสินค้า ตลอดจนการวางสินค้าภายในร้าน ต้องดึงดูด และตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย
ผ่านทศวรรษ “ลอว์สัน 108” ในประเทศไทย มีการปรับกลยุทธ์ พลิกกระบวนท่าตลอด โดยเฉพาะการสรรหา “โมเดลร้าน” เพื่อตอบสนองแต่ละทำเล และกลุ่มเป้าหมาย
เครือสหพัฒน์เคยมีร้าน 108 Shop จำนวนประมาณ 500 สาขา โดย 200 สาขาที่มีศักยภาพถูกทรานส์ฟอร์ม หรือแปลงโฉมเป็น ลอว์สัน 108 ทว่า ปัจจุบันมีจำนวนร้านให้บริการแก่ลูกค้าอยู่ 179 สาขา ส่วนรูปแบบร้านและทำเล มีทั้งขนาดใหญ่ เจาะย่านที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน เป็นต้น และยังมีร้านขนาดประมาณ 10 ตารางเมตร(ตร.ม.)ขึ้นไป จนถึงมากกว่า 30 ตร.ม.
อีกโมเดลที่ “ลอว์สัน 108” วางหมากรบไว้ คือการเป็น “ตู้สะดวกซื้ออัตโนมัติ” หรือ Vending machine และยังคง “ซีนเนอร์ยี” กับธุรกิจของเครือสหพัฒน์ ภายใต้
บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน)หรือ SVT เบอร์ 1 ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของเมืองไทย ซึ่งตามเป้าหมายปี 2566 จะมีจำนวนเครื่องไม่ต่ำกว่า 15,000 ตู้ทั่วประเทศ
ตู้สะดวกซื้ออัตโนมัติ “ลอว์สัน 108” ตอบโจทย์ความต้องการขยายช่องทางจำหน่าย ผ่านการใช้ตู้อัตโนมัติวางในพื้นที่ต่างๆ “ใกล้กับร้านสะดวกซื้อของตนเอง” เพื่อให้พนักงานสามารถนำสินค้าไปเติมได้สะดวก อย่างสาขา “ONE CITY CENTER” อาคารสำนักงานระดับลักชัวรีหรือ เกรด A+ ได้ให้บริการในโมเดลดังกล่าวแล้ว คือมีทั้งร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108 และตู้สะดวกซื้ออัตโนมัติ ลอว์สัน 108 ตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก เดินไม่กี่ก้าวถึงกันได้
สินค้าที่จำหน่ายในตู้ ไม่ต่างจาก Vending Machine ทั่วไป คือเน้นเครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยวที่ซื้อง่ายขายคล่อง
นอกจากนี้ ยังมีระบบการบริหารจัดการด้านการบันทึกการเติมสินค้า บันทึกยอดขายและจำนวนชิ้นที่ขาย การบริการเติมสินค้าที่เครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ บริหารจัดการข้อมูลการนับยอดเงินสดเทียบกับห้องนับเหรียญ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบประมวลผลช้อมูล รองรับการชำรำเงินแบบไม่ใช้เงินสดหรือ Cashless เป็นต้น
การเป็น “เบอร์รอง” ต้องไล่ล่าการเติบโต ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจ เคยคุยกับผู้บริหารลอง “ลอว์สัน 108” โจทย์ยากคือ “ทำเลทอง” เพราะเบอร์ 1 จับจองครองพื้นที่ไปมากแล้ว การทำห้างค้าปลีกไม่ว่าโมเดลหรือรูปแบบใด การสำรวจพื้นที่ที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรองรับหรือ Catchment area สำคัญมาก เพื่อให้ยอดขาย กำไรคุ้มค่ากับการลงทุนเปิดร้านแต่ละสาขานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตู้สะดวกซื้อไม่ได้มีแค่ลอว์สัน 108 เท่านั้น เพราะเบอร์ 1 อย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” เปิดให้บริการมาก่อนแล้ว ในทำเลเช่น โรงพยาบาล เป็นต้น
ภาพดังกล่าว ยังสะท้อนศึกร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย ที่ยังคงดุเดือด! เพราะขุมทรัพย์นี้มูลค่ามหาศาล จากค้าปลีกโดยรวมในประเทศไทย 3.7 ล้านล้านบาท