ศึก 3 แฟรนไชส์ซี ‘เคเอฟซี’ เร่งโตไก่ทอดหมื่นล้าน จับตา ‘ดีไอแอล’ชิงแชร์
ธุรกิจร้านอาหารบริหารด่วนหรือคิวเอสอาร์(Quick Service Restaurant)ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท หมวดอาหารได้แก่ เบอร์เกอร์ พิซซ่า และไก่ทอด โดยไก่ทอดถือว่ามีขนาดตลาดใหญ่ราว 50% มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท
แบรนด์ “เคเอฟซี” ถือเป็นผู้นำตลาดไก่ทอดที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 89-90% และแนวโน้มการเติบโตยังคงแข็งแกร่ง
“เคเอฟซี” เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อปี 2527 โดยผู้บุกเบิกนำแบรนด์ไก่ทอดระดับโลกมาให้คนไทยรู้จักและรับประทานคือบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดหรือซีอาร์จี ภายใต้อาณาจักรค้าปลีกเบอร์ 1 อย่างกลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันการบริหารร้านเคเอฟซี มี 3 แฟรนไชส์ซีรับหน้าที่ขับเคลื่อนเปิดร้าน สร้างการเติบโต ประกอบด้วย ซีอาร์จี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดหรืออาร์ดี(RD)
ทว่า มีความเคลื่อนไหว เมื่อบริษัท Devyani International DMCC ในเครือของ Devyani International Limited (DIL)หรือ ดีไอแอล ประกาศ “เซ็นสัญญาลงทุนในบริษัทอาร์ดี” ด้วยมูลค่าดีล 4,580 ล้านบาท หรือประมาณประมาณ 128.9 ล้านดอลลาร์(คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 35.5 บาทต่อดอลลาร์) หรือ 1.066 หมื่นล้านรูปีอินเดีย(อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาทต่อ 2.33 รูปีอินเดีย)
สำหรับการเข้ามาลงทุนใน “อาร์ดี” ของ DIL ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางการเงินคือกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์อย่าง “เทมาเส็ก โฮลดิงส์” เพื่อดำเนินการผ่านบริษัท Devyani International DMCC(ดูไบ) ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 51% และ 49% ตามลำดับ ส่วนการจัดหาแหล่งเงินทุนมาจาก 2 ส่วน คือส่วนผู้ถือหุ้น DIL วงเงิน 1,470 ล้านบาท เทมาเส็ก โฮลดิงส์ 1,410 ล้านบาท พันธมิตรทุนไทย 50 ล้านบาท และกู้ยืมจากธนาคารภายในประเทศ 1,650 ล้านบาท
- 3 บิ๊กเบ่งการเติบโต
สำหรับ DIL เป็นผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารคิวเอสอาร์แบรนด์ดัง เช่น เคเอฟซี พิซซ่า ฮัท และร้านกาแฟคอสต้า คอฟฟี่ โดยมีร้านกว่า 1,300 สาขา ใน 240 เมืองครอบคลุมอินเดีย เนปาล และไนจีเรีย
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแฟรนไชส์ซีจากอาร์ดีไปสู่มือ DIL น่าจับตามอง เพราะในแง่ของศักยภาพด้านเงินทุน ถือว่า 3 แฟรนไชส์ซีมีความสมน้ำสมเนื้อ แต่การเติบโตยังมีกลยุทธ์และปัจจัยอื่นประกอบด้วย
สำหรับซีอาร์จี รายแรกที่นำแบรนด์เคเอฟซีมาเสิร์ฟคนไทย ภายใต้เงาเซ็นทรัล จุดแข็งสำคัญคือการขยายสาขาไปพร้อมกับการเปิดห้างค้าปลีกของเครือ โดยเมื่อเร็วๆนี้ นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี ภายใต้การบริหาร ซีอาร์จี กล่าวว่า ปี 2567 บริษัทเตรียมงบลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านเคเอฟซีใหม่ 15-20 สาขา จากสิ้นปีจะมีร้าน 335 สาขา
ร้านรูปแบบดิจิทัล
โดยร้านเคเอฟซีจากนี้ไปจะเน้นรูปแบบร้านดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และเกาะเทรนด์โลก พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสั่งซื้ออาหารในร้านสะดวกสบาย จ่ายเงินง่ายมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคในการเข้ามาใช้บริการภายในร้านด้วย
“ร้านเคเอฟซี ดิจิทัล สโตร์ ยังบรรยากาศ มีมุม มีงานศิลปะหรืองานอาร์ทให้สามารถถ่ายรูปได้ได้ด้วย”
ด้านไทยเบฟ แม้จะเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ซีรายที่ 3 บริหารร้านเคเอฟซีเมื่อปี 2560 ด้วยการทุ่มเงินกว่า 1.14 หมื่นล้านบาท ซื้อร้านเคเอฟซีจากยัมฯ ล็อตสุดท้าย 240 สาขา ซึ่งปัจจุบันคาดการณ์มีร้านมากกว่า 450 สาขา จากจำนวนร้านเคเอฟซีให้บริการลูกค้าแล้ว 1,060 สาขา ซึ่งจุดแข็งของไทยเบฟ คือการมีห้างค้าปลีก เช่น บิ๊กซี ของอาณาจักรเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เอื้อต่อการเปิดสาขา รวมถึงอาคารสำนักงานต่างๆที่จะเปิดร้านตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
ขณะที่ DIL เตรียมซื้อร้านเคเอฟซีจากอาร์ดี 274 สาขา แต่บริษัทมองโอกาสตลาดใน 10 ปีข้างหน้า จะสามารถมีร้านเพิ่มขึ้นได้เป็น 2 เท่าตัว จากศักยภาพตลาดร้านอาหารไก่ทอดในไทยยังมีแนวโน้มเติบโต เพราะคนไทยนิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน ไก่ทอดยังเป็นเมนูฮิตที่คนไทยบริโภคมากสุดเมื่อเทียบเนื้อสัตว์ประเภทอื่น
โฉมหน้าเดิมของ 3 แฟรนไชส์ซี "เคเอฟซี" ปีหน้าขั้วอาร์ดีเปลี่ยนมือ
นอกจากนี้ อาร์ดีมีร้านในพื้นที่ภาคใต้ แหล่งท่องเที่ยว และสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม)จำนวนมาก จึงมองแรงส่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยมหาศาล จะเป็นจิ๊กซอว์ผลักดันการเติบโต อย่างไรก็ตาม ในการขยายร้านเคเอฟซีภายใต้ DIL ต้องติดตามว่าอะไรจะเป็นจุดแข็งในการเบ่งการเติบโตควบคู่แข่งขันกับอีก 2 แฟรนไชส์ซี “ซีอาร์จี-ไทยเบฟ”
- เคเอฟซีไทยโตติดท็อป 10 ของโลก
สำหรับร้านอาหารคิวเอสอาร์ ฟาสต์ฟู้ด ในแง่เบอร์ 1 ของโลกคือแบรนด์แมคโดนัลด์ ที่มีสาขาจำนวนนับหมื่น ทว่าในประเทศไทยร้านเคเอฟซี มีจำนวนสาขาชนะและมากกว่าแมคโดนัลด์ถึง 4 เท่าตัว โดย DIL อ้างอิงข้อมูลจาก Euromonitor และ RDCL ระบุจำนวนร้าน ณ ปี 2565 เคเอฟซีมีทั้งสิ้น 1,009 สาขา แมคโดนัลด์ 245 สาขา เชสเตอร์ 202 สาขา เบอร์เกอร์คิง 116 สาขา บอนชอน 99 สาขา และเท็กซัส ชิคเก้นมีร้าน 98 สาขา
ในไตรมาส 3 ภายใต้ยัม แบรนด์(Yum! Brand)สร้างยอดขายเติบโตทั่วโลก 10% และเคเอฟซีเติบโต 12% โดยจำนวร้านเคเอฟซีทั่วโลกมีกว่า 2.9 หมื่นสาขา เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาพรวม 9 เดือนยอดขายมากกว่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และเคเอฟซีในประเทศไทยถือว่าทำผลงานติดท็อป 10 ของตลาดทั่วโลก มีสัดส่วนยอดขาย 2% ขณะที่เบอร์ 1 คือตลาดประเทศจีนสัดส่วนยอดขาย 25% สหรัฐ 15% ยุโรป 12% เอเชีย 11% เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารคิวเอสอาร์ไก่ทอดปี 2567 กลุ่มซีอาร์จี มองอัตราการเติบโตมากกว่า 10% จากปี 2566 อยู่ที่ 12-13%
อย่างไรก็ตาม DIL ดีลซื้อร้านเคเอฟซี 274 สาขา จากอาร์ดีจะดำเนินการแล้วเสร็จเดือน
มีนาคม 2567 ซึ่งจำนวนร้านดังกล่าวจะมาพร้อมกับพนักงานกว่า 4,500 ชีวิต โดยโจทย์ท้าทายของธุรกิจร้านอาหารปีหน้าคือเรื่องของต้นทุนทั้งการจ้างพนักงาน ค่าวัตถุดิบอาหาร ค่าสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งภายหลังทุนใหม่จากอินเดียเข้ามารุกตลาดร้านไก่ทอดอย่างเป็นทางการ ต้องเกาะติดทิศทางการขยายร้าน การเติบโตต่อไป