‘ไทยแอร์เอเชีย’ ลุยธุรกิจปี 67 ฟื้น 90% ‘วีซ่าฟรี’ ดันผู้โดยสารทะยาน 21 ล้านคน

‘ไทยแอร์เอเชีย’ ลุยธุรกิจปี 67 ฟื้น 90%  ‘วีซ่าฟรี’ ดันผู้โดยสารทะยาน 21 ล้านคน

'ไทยแอร์เอเชีย' เร่งเครื่องลุยฟื้นธุรกิจ 90% ในปี 67 ขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 60 ลำ ณ สิ้นปีนี้ รองรับแผนเปิดเส้นทางบิน โดยเฉพาะ 'เส้นทางบินระหว่างประเทศ' ไม่ใช่แค่สู่ประเทศจีนหวังโกยทัวริสต์แดนมังกร แต่หมายรวมถึงเส้นทางใหม่ๆ เปี่ยมศักยภาพที่ไม่เคยทำการบินมาก่อนด้วย

KEY

POINTS

  • "สายการบิน" คือธุรกิจต้นน้ำของภาคการท่องเที่ยว ขนคนเดินทางไปทั่วโลก "ไทยแอร์เอเชีย" พร้อมเร่งเครื่องฟื้นธุรกิจ 90% ในปี 2567 หลังหมดยุคโควิด-19 ระบาด ลุยขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 60 ลำ
  • แม้ "นักท่องเที่ยวจีน" จะยังเป็นตัวแปรหลักในการฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ แต่ไทยแอร์เอเชียเลือกจับโฟกัสเส้นทางระหว่างประเทศใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และไม่เคยทำการบินมาก่อนควบคู่ไปด้วย
  • ตั้งเป้าขนส่ง "ผู้โดยสาร" จำนวน 20-21 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 18.9 ล้านคนเมื่อปี 2566 พร้อมตั้งเป้ารายได้จากการขายและบริการเติบโต 20-23% จากปี 2566

'ไทยแอร์เอเชีย' เร่งเครื่องลุยฟื้นธุรกิจ 90% ในปี 67 ขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 60 ลำ ณ สิ้นปีนี้ รองรับแผนเปิดเส้นทางบิน โดยเฉพาะ 'เส้นทางบินระหว่างประเทศ' ไม่ใช่แค่สู่ประเทศจีนหวังโกยทัวริสต์แดนมังกร แต่หมายรวมถึงเส้นทางใหม่ๆ เปี่ยมศักยภาพที่ไม่เคยทำการบินมาก่อนด้วย

ธุรกิจต้นน้ำอย่าง “สายการบิน” คือหัวใจหลักการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว! สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ฉายภาพว่า ตามแผนธุรกิจของ “ไทยแอร์เอเชีย” จะขยายฝูงบินจาก ณ สิ้นปี 2566 ที่มีอยู่ 52 ลำ เพิ่มเป็น 60 ลำ ณ สิ้นปี 2567 รองรับการเปิด “เส้นทางบินใหม่” และเพิ่มความถี่เที่ยวบิน โดยเฉพาะตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศ

ขณะนี้ไทยแอร์เอเชียอยู่ระหว่างศึกษา 2 เส้นทาง ได้แก่ “กาฐมาณฑุ” เมืองหลวงประเทศเนปาล และ “อูลันบาตอร์” เมืองหลวงประเทศมองโกเลีย หลังเพิ่งเปิดเส้นทางบินใหม่ จากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ กูวาฮาติ และ อัห์มดาบาด ประเทศอินเดีย รวมถึงกลับมาให้บริการเส้นทาง ดอนเมือง-ซัวเถา ประเทศจีนอีกครั้ง 

 

ทั้งนี้ ในปี 2567 มองว่าจะเป็นปีที่ดีของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดเส้นทางระหว่างประเทศ การกลับมาของตลาดจีน เเละเส้นทางบินใหม่ๆ ที่ไทยแอร์เอเชียเปิดให้บริการเเล้ว อาทิ จากดอนเมืองสู่เซี่ยงไฮ้ (จีน) เกาสง (ไต้หวัน) เเละล่าสุด โอกินาว่า (ญี่ปุ่น)

“เราตั้งเป้าหมายฟื้นธุรกิจของไทยแอร์เอเชียในปี 2567 กลับมา 90% เทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด หลังจากเส้นทางบินในประเทศกลับมาเต็มร้อยแล้ว โจทย์ตอนนี้คือการเร่งหาผู้โดยสารจากตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศอื่นๆ มาเสริมทัพตลาดผู้โดยสารชาวจีนที่ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แม้ปีนี้ตลาดชาวจีนจะยังไม่กลับมา 100% แต่ก็คาดว่ากรณีดีที่สุด (Best Case) น่าจะเห็นผู้โดยสารชาวจีนของไทยแอร์เอเชียฟื้นตัว 70-80% เทียบกับปี 2562”

‘ไทยแอร์เอเชีย’ ลุยธุรกิจปี 67 ฟื้น 90%  ‘วีซ่าฟรี’ ดันผู้โดยสารทะยาน 21 ล้านคน

 

สอดรับกับภาพรวมการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) ตั้งเป้าหมายไว้ 8 ล้านคนในปี 2567 หลังจากปี 2566 ไทยแอร์เอเชียมีผู้โดยสารชาวจีน 20% ของนักท่องเที่ยวจีนมาไทยทั้งหมด 3.5 ล้านคน ส่วนปี 2562 ไทยแอร์เอเชียมีผู้โดยสารชาวจีนประมาณ 20% ของนักท่องเที่ยวจีนมาไทยจำนวนกว่า 11 ล้านคน

“เรามองว่าการผลักดันภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนมาไทยจาก 3.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 8 ล้านคนในปีนี้ ถือเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างจะ Aggressive (เชิงรุก) พอสมควร แต่ก็ไม่แน่ เพราะเศรษฐกิจจีนล่าสุดก็เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น”

สำหรับเส้นทางบิน “ไทย-จีน” ของไทยแอร์เอเชีย เมื่อปี 2566 มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ย 83% ปัจจุบันให้บริการรวม 11 เส้นทาง ได้แก่ กว่างโจว เซินเจิน ฉงชิ่ง ฉางซา ซีอาน ซัวเถา อู่ฮั่น หางโจว คุนหมิง เฉิงตู และล่าสุด เซี่ยงไฮ้ ที่เพิ่งเริ่มให้บริการเส้นทางนี้เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2567 จำนวน 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเตรียมเปิดเส้นทางบินตรงสู่ “ปักกิ่ง” ในเร็วๆ นี้ด้วย

หลังเห็นกระแสการเดินทางของผู้โดยสารชาวจีนฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ที่ยังขาดคือตลาดกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยในช่วงโกลเด้นวีคหยุดยาว “เทศกาลตรุษจีน” มีชาวจีนจองตั๋วเครื่องบินเต็มลำตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. ทำให้ตลอดเดือน ม.ค.ที่ผ่านมามีโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ย 90% และเมื่อดูยอดจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าของเดือน ก.พ. น่าจะได้ 90% เช่นกัน ส่วนเดือน มี.ค. เป็นธรรมชาติของเส้นทางนี้ที่โหลดแฟคเตอร์จะชะลอตัว แต่จะสวิงกลับขึ้นมาอีกครั้งในช่วง “เทศกาลสงกรานต์” ซึ่งมีงานอีเวนต์จัดอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศนาน 3 สัปดาห์

“พอการเดินทางระหว่างไทย-จีน ไม่ต้องขอวีซ่าอีกต่อไป มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะไทยแอร์เอเชียที่มีเส้นทางบินสู่จีนมากที่สุด ซึ่ง ณ เดือน ก.พ. ให้บริการรวมกว่า 103 เที่ยวบินต่อสัปดาห์”

ทั้งนี้ มองด้วยว่าจากความตกลงยกเว้นวีซ่าไทย-จีนระหว่างกัน จะทำให้พฤติกรรมการจองของนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไป ระยะเวลาการจองล่วงหน้า (Booking Period) น่าจะสั้นลง จากเดิมที่ต้องขอวีซ่า ใช้เวลาเตรียมตัวจองล่วงหน้า 3 เดือน แต่ตอนนี้ระยะเวลาการจองล่วงหน้าเหลือแค่ 2 สัปดาห์ ก็เดินทางได้เลย เหมือนกับตลาดคนไทยไปญี่ปุ่นที่ไม่ต้องขอวีซ่า พอมีโปรไฟไหม้มา ก็ไปเที่ยวได้เลย

‘ไทยแอร์เอเชีย’ ลุยธุรกิจปี 67 ฟื้น 90%  ‘วีซ่าฟรี’ ดันผู้โดยสารทะยาน 21 ล้านคน

สันติสุข เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาด “ท่องเที่ยวภายในประเทศ” จากเส้นทางในประเทศมีโหลดแฟคเตอร์มากกว่า 90% สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังเที่ยวอยู่! อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงตัวบ่งชี้ของภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น คงไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของ “เศรษฐกิจไทย” ทั้งหมดว่าเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” หรือไม่ ต้องพิจารณาตัวบ่งชี้ของเซ็กเตอร์ (Sector) อื่นๆ ประกอบด้วย

ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสารจำนวน 20-21 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 18.9 ล้านคนเมื่อปี 2566 ยังไม่กลับไปเท่าจำนวนผู้โดยสาร 22.15 ล้านคนเมื่อปี 2562 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) ส่วนโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ยของปีนี้คาดอยู่ที่ 88% จากปีที่แล้วได้ 90% พร้อมตั้งเป้ารายได้จากการขายและบริการเติบโต 20-23% จากปี 2566

 

AI เพิ่มประสิทธิภาพ ‘แอร์ไลน์’

สันติสุข ซีอีโอแห่งไทยแอร์เอเชีย กล่าวด้วยว่า จากกระแส AI ที่กำลังสร้างแรงกระเพื่อมต่อภาคแรงงานทั่วโลกตอนนี้ ในมุมธุรกิจสายการบินมองว่าบางอย่างทดแทนคนได้ หลายแผนกมีการนำ AI มาช่วยงานมากขึ้น โดยส่วนที่ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นบริการภาคพื้นดิน เช่น ระบบเช็กอินด้วยตัวเอง (Self Check-in) รวมไปถึงการวางตารางเที่ยวบิน การตั้งราคาตั๋วเครื่องบิน ที่ให้ AI ช่วยวิเคราะห์ได้ นอกจากนี้ส่วนซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบิน ในศูนย์ซ่อมขนาดใหญ่เองก็น่าจะมีการนำ AI เข้ามาช่วยดูเรื่องชิ้นส่วน อะไหล่ และการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยเช่นกัน

“การมาของ AI น่าจะช่วยให้ธุรกิจสายการบินสามารถยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพงานได้มากกว่า ใช่ว่าจะมาทดแทนภาคแรงงานแบบ 100% เพราะมองว่างานบางอย่าง AI ก็ทดแทนคนไม่ได้ เช่น ส่วนของบริการเครื่องบิน ทั้งนักบิน ลูกเรือ และช่างซ่อมเครื่องบิน”

จากเทรนด์ปัจจุบันเรื่องตำแหน่งงานที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจาก AI ทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชียต้องพยากรณ์เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเพื่อนำมาปรับใช้ รวมถึงการเร่ง Upskill กับ Reskill แก่พนักงานของไทยแอร์เอเชียให้เขาทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชียมีพนักงานรวม 5,000 คน ยังน้อยกว่าเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งมีเกือบ 6,000 คน แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นจากจำนวนปีที่แล้ว ซึ่งแปรผันตามสัดส่วนการรับมอบเครื่องบินเข้ามาเพิ่ม

“ในมุมธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะยังไม่เห็นการเลย์-ออฟคนออกเป็นจำนวนมากเหมือนกับบริษัทด้านเทคโนโลยีโดยตรง เพราะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ อย่างไรก็ต้องใช้คนให้บริการคน”