โจทย์ใหญ่ ‘เสริมศักดิ์’ รมว.ท่องเที่ยว เอกชนจี้ผุดแคมเปญแรง ‘ไทยเที่ยวไทย’

โจทย์ใหญ่ ‘เสริมศักดิ์’ รมว.ท่องเที่ยว  เอกชนจี้ผุดแคมเปญแรง ‘ไทยเที่ยวไทย’

วันนี้ (8 พ.ค.) 'เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ มีกำหนดเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงฯ เป็นวันแรก พร้อมมอบนโยบายหน่วยงานในสังกัด หลังโผ 'ครม. เศรษฐา 2' พลิกแบบ Last Minute นาทีสุดท้าย! ในโควตาของ 'พรรคเพื่อไทย'

ด้วยการสลับเก้าอี้ระหว่าง 2 กระทรวงหลักขับเคลื่อนโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) อย่าง “การท่องเที่ยวฯ” และ “วัฒนธรรม” โดยโยก เสริมศักดิ์ จาก รมว.วัฒนธรรม มานั่งแท่น รมว.การท่องเที่ยวฯ สลับให้ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ไปนั่งเก้าอี้ รมว.วัฒนธรรม แทน พร้อมให้เหตุผลว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน เนื่องจาก สุดาวรรณ ไม่สามารถคอนโทรลการทำงานของข้าราชการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ดีเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุผลหลักให้ เสริมศักดิ์ ได้รับความไว้วางใจ ว่าจะสามารถสั่งการและกำกับดูแลข้าราชการให้ช่วยขับเคลื่อนนโยบายได้

การสลับเก้าอี้เจ้ากระทรวงระหว่างการท่องเที่ยวฯ กับวัฒนธรรม นำพาความงุนงงมาสู่หลายฝ่ายไม่น้อย! เพราะเมื่อวันที่ 2 เม.ย. สุดาวรรณ เพิ่งขึ้นเวที ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แสดงวิสัยทัศน์ “Ignite Tourism Thailand” จุดพลังการท่องเที่ยวไทย ปักหมุด 5 กลยุทธ์เคลื่อนสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยว เดินหน้าสู่เป้าหมายสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาทในปี 2567 ตามโจทย์ใหญ่ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ชื่นชมการแถลงรายละเอียดแผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของ “สุภาพสตรีตัวเล็ก ใจใหญ่” ว่ามีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง พร้อมให้คะแนน 10 เต็ม 10

โจทย์ใหญ่ ‘เสริมศักดิ์’ รมว.ท่องเที่ยว  เอกชนจี้ผุดแคมเปญแรง ‘ไทยเที่ยวไทย’

แม้ สุดาวรรณ จะได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Tourism Thailand ไปแล้ว แต่ยังไม่ทันได้ลงมือทำเต็มที่ ดันเจอปรับ ครม. เสียก่อน! ในห้วงเวลาน่าจับตาของภาคท่องเที่ยวไทย... รอยต่อจากงานเทศกาล “มหาสงกรานต์” สร้างชื่อเสียงกระฉ่อนโลก เข้าสู่ “โลว์ซีซัน” ไตรมาส 2-3 ที่ต้องเผชิญความท้าทายมากล้น

ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ที่ยังเปราะบางและพร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ ไหนจะหนี้ครัวเรือนสะเทือนกำลังซื้อคนไทย สารพัดปัญหาพร้อมจะถาโถม รวมถึงการแข่งขันอันรุนแรงจากประเทศต่างๆ ที่พร้อมชิงตัวนักท่องเที่ยวไปจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้ “จำนวนนักท่องเที่ยว” ทั้งตลาดในและต่างประเทศมีแนวโน้มไปถึงเป้าหมายปี 2567 ว่าจะได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 38-40 ล้านคน หลังรัฐบาลเศรษฐาเดินหมากเร็ว! ด้วยการออกมาตรการ “ยกเว้นวีซ่า” (วีซ่าฟรี) แก่ตลาดเป้าหมาย ได้แก่ จีน อินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน ได้รับเสียงชื่นชมจากภาคเอกชนว่ามาถูกทาง ช่วยกระตุ้นดีมานด์การเดินทางในสถานการณ์ท่องเที่ยวโลกแข่งเดือด ส่วนนักท่องเที่ยวไทยหวังกระตุ้นยอดการเดินทางให้ได้ 200 ล้านคน-ครั้ง แต่การปั้นรายได้ไปให้ถึง 2.3 ล้านล้านบาทสำหรับตลาดต่างประเทศ และอีก 1.2 ล้านล้านบาทสำหรับตลาดในประเทศ สร้างรายได้รวม 3.5 ล้านล้านบาทนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย!!!

การดึง “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” ใช้จ่ายสูง จึงเป็นโจทย์คลาสสิกของภาคท่องเที่ยวไทย จะขายภาพลักษณ์ประเทศไทยอย่างไรให้ดู “พรีเมียม” ด้วย ในสายตานักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มองว่าเดสติเนชันนี้ “Value For Money” คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป!

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. สุดาวรรณ ได้กล่าวขอบคุณผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในโอกาสอำลาตำแหน่ง รมว.การท่องเที่ยวฯ ที่ให้ความร่วมมือผลักดันนโยบายทั้งการท่องเที่ยวและการกีฬาของประเทศ ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างดี หลายอย่างบรรลุความสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม

พร้อมเน้นย้ำถึงการสานต่อเพื่อขับเคลื่อน “เมืองน่าเที่ยว” ซึ่งเป็นจุดหมายสำคัญที่เคยประกาศไว้ในการแถลงนโยบาย Ignite Tourism Thailand เมื่อต้นเดือน เม.ย. ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยต่อไป

โจทย์ใหญ่ ‘เสริมศักดิ์’ รมว.ท่องเที่ยว  เอกชนจี้ผุดแคมเปญแรง ‘ไทยเที่ยวไทย’

 

เอกชนจี้ผุดแคมเปญแรงปลุก ‘ไทยเที่ยวไทย’ ช่วงโลว์ซีซัน

ฟากมุมมองจากภาคเอกชนท่องเที่ยว เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า หลังจาก เสริมศักดิ์ รมว.การท่องเที่ยวฯ คนใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ อยากให้เร่งจัดทำโครงการหรือ “แคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ” ช่วงโลว์ซีซัน เพราะตอนนี้ตลาดนักท่องเที่ยวไทยชะลอตัวอย่างมาก! ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง

อีกประเด็นคือค่าตั๋วเครื่องบินในประเทศแพง! นักท่องเที่ยวไทยตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อ พร้อมออกไปเที่ยวต่างประเทศ พออยากไปเที่ยวภูเก็ต แต่เจอตั๋วเครื่องบินราคาแพง เมื่อเทียบกับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายโดยรวมเวลาไปเที่ยวจุดหมายปลายทางในเอเชีย เช่น ฮ่องกง และญี่ปุ่นแล้ว ทำให้ตลาดระดับบนเลือกไปเที่ยวต่างประเทศแทน ส่วนตลาดระดับกลางและล่าง พอค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวแพงขึ้น ประกอบกับอากาศร้อนจัด ทำให้คนไม่ออกไปเที่ยว เลือกอยู่บ้านหรือเดินห้างแทน!

“ต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ด้วยการออกแคมเปญแรงๆ เป็นวงกว้างหรือเฉพาะกลุ่มก็ได้ เช่น จูงใจกลุ่มผู้สูงวัยให้ออกเที่ยววันธรรมดา เหมือนกับที่ผ่านมาเคยมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันและอื่นๆ เพราะตอนนี้กำลังซื้อของคนไทยได้รับผลกระทบหลักจากปัญหาเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายสูง หนี้ครัวเรือนท่วม จึงต้องพยายามกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ ให้คนไทยท่องเที่ยวได้ในราคาถูก สะดวก สามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ ถ้าทำเรื่องนี้ได้ก็จะช่วยธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ”

นอกเหนือจากการกระตุ้นฝั่งดีมานด์แล้ว ในฝั่งซัพพลายมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้เพื่อผลลัพธ์ระยะยาว หลายพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ เจอ “วิกฤติฝุ่น PM 2.5” ทำให้คนกลัว ไม่กล้าเดินทางเข้าไป หลังมีข่าวคนเสียชีวิตเพราะฝุ่น PM 2.5 ขณะที่คนในพื้นที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอด ส่งผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ว่าฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่แค่ปัญหาระยะสั้นเฉพาะซีซันอีกต่อไป แต่เกิดขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบระยะยาว

โจทย์ใหญ่ ‘เสริมศักดิ์’ รมว.ท่องเที่ยว  เอกชนจี้ผุดแคมเปญแรง ‘ไทยเที่ยวไทย’

 

แนะแก้เพนพอยต์ใหญ่ กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง

ด้าน ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มองว่า อยากเห็น เสริมศักดิ์ รมว.การท่องเที่ยวฯ คนใหม่ เร่งแก้ “เพนพอยต์” (Pain Point) ใหญ่ของภาคการท่องเที่ยวไทย นั่นคือ “การกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง” ด้วยการผลักดันพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐาน” ให้สามารถเดินทางไปเที่ยวเมืองรองได้อย่างสะดวกเทียบเท่าเมืองหลัก เพราะที่ผ่านมาการเดินทางเที่ยวเมืองรองด้วยระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ค่อยสะดวกนัก ต้องอาศัยการเช่ารถขับเป็นส่วนใหญ่

“อยากให้รัฐบาลเร่งยกระดับการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง เห็นได้จากโมเดลการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางของประเทศญี่ปุ่นที่สะดวกสบาย ไปเที่ยวต่อได้หลายเมือง นักท่องเที่ยววางแผนเดินทางเข้าโตเกียว และขาออกสามารถเดินทางจากโอซาก้าได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเข้าออกแค่เมืองๆ เดียว”

ขณะเดียวกัน ต้องการให้ รมว.การท่องเที่ยวฯ คนใหม่ ร่วมกับภาคเอกชนท่องเที่ยวลงพื้นที่กระจายทั่ว 5 ภูมิภาคเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงว่ายังมีข้อติดขัดตรงไหนเพิ่มเติม เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน และที่สำคัญควรเร่งจัดการ “ปัญหานอมินี” การยกระดับด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยว การแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพ และการแก้วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ผูกพันกับภาคการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ในหลายพื้นที่!

โจทย์ใหญ่ ‘เสริมศักดิ์’ รมว.ท่องเที่ยว  เอกชนจี้ผุดแคมเปญแรง ‘ไทยเที่ยวไทย’