‘ฐาปน’ มองฉากทัศน์อนาคตไทย ปลุก ‘เยาวชน’ เข้าใจคุณค่าเงิน-รู้จักออม-ลงทุน

‘ฐาปน’ มองฉากทัศน์อนาคตไทย ปลุก ‘เยาวชน’ เข้าใจคุณค่าเงิน-รู้จักออม-ลงทุน

การเตรียมตัวสำหรับวัยเกษียณ เป็นสิ่งสำคัญ และ "เงิน" คือสิ่งจำเป็นต่อการใช้จ่ายตลอดช่วงชีวิตคน "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" แม่ทัพธุรกิจแสนล้านบาทแห่งอาณาจักร "ไทยเบฟเวอเรจ" แบ่งปันมุมมองฉากทัศน์อนาคตไทย ส่งต่อเยาวชน น้องๆให้รู้จัก เข้าใจ "คุณค่าของเงิน"

ในงานเสวนาครบรอบ 50 ปี สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มีการนำเสนอหลากประเด็นที่น่าสนใจ จากบุคคลสำคัญ ทั้งการมอง “ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทย” โดย “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี และการเสวนาหัวข้อ “เราจะร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ได้อย่างไร?” มี ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เป็นหนึ่งในวิทยากร

ก่อนมองถึงฉากทัศน์อนาคตประเทศไทย “ฐาปน” ฉายภาพการทำงานในมิติการพัฒนาสังคมอยู่ไม่น้อย และมีโอกาสได้ขอความรู้ วิธีคิด แนวทางการทำงานต่างๆ มากมายจาก “อาจารย์มีชัย วีระไวทยะ” ผู้ก่อตั้ง และนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

สำหรับการทำงานเพื่อสังคมที่ “ฐาปน” ได้ทำ ล้วนเป็นการ “สานต่อ” จากสิ่งที่พ่อแม่ “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ริเริ่มมาอย่างยาวนาน

สืบสานงานต่อจาก “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา”

“ผมเพียงมีโอกาสมารับงานด้านสังคมต่อ เพราะหลายสิ่งหลยอย่าง ได้เริ่มต้นจากคุณพ่อคุณแม่ของผม ทั้งคุณเจริญ และคุณหญิงวรรณา ซึ่งท่านจากไปเมื่อต้นปีที่แล้ว คือวันที่ 17 มีนาคม 2566 งานต่างๆจึงถ่ายทอดมาสู่ลูกๆ และผมก็เป็นหนึ่งในลูก 5 คน ที่ช่วยรับเรื่องานต่างๆ อาจเหมือนมีงานหลายอย่าง มากกว่าคนอื่นเสียหน่อย แต่จริงๆก็ทำงานร่วมกัน ด้วยอาจเพราะไทยเบฟ เป็นธุรกิจที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มมาตั้งแต่ต้นด้วย”

เป็นที่ทราบกันดีว่า “เจ้าสัวเจริญ” เริ่มต้นธุรกิจจากการทำมาค้าขาย โดยมีบริษัทแรกในกลุ่มไทยเบฟ ที่ทำมาก่อน “ฐาปน” เกิด นั่นคือ “สหปราณีภัณฑ์” จากค้าขายบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและกล่องกระดาษในยุคอดีต ซึ่งเชื่อมกิจการค้าขาย โดยมีผู้ร่วมทำงานกับผู้เป็นบิดาตั้งแต่ตำแหน่งสมุห์บัญชี คือ “กนกนาฏ รังษีเทียนไชย” ซึ่งปัจจุบันนั่งเป็นรองประธานกรรมการบริหาร ไทยเบฟ ฯ

‘ฐาปน’ มองฉากทัศน์อนาคตไทย ปลุก ‘เยาวชน’ เข้าใจคุณค่าเงิน-รู้จักออม-ลงทุน "กนกนาฏ" จากสมุห์บัญชีผู้ร่วมหัวจมท้ายเคลื่อนธุรกิจกับเจ้าสัวเจริญ สู่รองประธานกรรมการบริหาร ไทยเบฟ

จากจุดเริ่มต้นไทยเบฟที่ค้าขายน้ำเมา “สุรา” หรือ เหล้าเป็นหลัก ปัจจุบันเติบใหญ่เป็นอาณาจักรหลายแสนล้านบาท และมีสินค้าเครื่องดื่มหลากหลาย ทั้งกลุ่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ ชาเขียวพร้อมดื่ม น้ำดื่ม ฯ

“ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ไม่คิดว่าทำเครื่องดื่ม จนมีการขยายประเภทสินค้าที่หลากหลาย”

ยุคสัมปทานเหล้า จุดเริ่มมิติด้านสังคม

ธุรกิจสุราเมรัยในอดีตสัมพันธ์กับกลไกหรืออำนาจรัฐ เกี่ยวข้องกับผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองรวมถึง “ทหาร” ซึ่งสอดคล้องกับ “ฐาปน” เล่าว่า เท่าที่รับฟังจากพ่อแม่เกี่ยวกับการทำงานมิติเพื่อสังคม และย้อนไปไกลถึงยุคสัมปทานของการทำธุรกิจสุราสมัย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ในอดีตจะมีการแบ่งพื้นที่การขายแต่ละเขต อย่างภาคอีสาน การจำหน่ายถือว่ามีความยากไม่น้อย การเสียภาษีเป็นอัตราเหมา ต้องชำระล่วงหน้าให้กับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง

ส่วนการต้มหรือกลั่นสุราจะอยู่ที่กรมทหาร ซึ่งเจ้าสัวเจริญ ผู้บริหารและทีมงาน มีโอกาสได้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา ซึ่งคือ “พล.อ.เปรม” ที่มองการทำธุรกิจของเจ้าสัวเป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และมีการเสียภาษีให้หลวง “จึงไม่ควรทำซ้ำ” แต่อีกด้านเป็นโจทย์ให้บริษัทต้องทางแนวทางในการทำให้บรรดาครอบครัวทหารเอง รวมถึงแม่บ้านมีรายได้ด้วย จึงนำไปสู่การสร้างกิจกรรมไปสู่กลุ่ม ชุมชน เช่น นำจักรเย็บผ้าไปให้แม่บ้าน กรมทหาร สร้างการเชื่อมโยงเรื่องการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ทั้งเสื้อผ้าและอื่นๆ รวมถึงช่วยด้านการจัดจำหน่าย ฯ

‘ฐาปน’ มองฉากทัศน์อนาคตไทย ปลุก ‘เยาวชน’ เข้าใจคุณค่าเงิน-รู้จักออม-ลงทุน บรรยากาศงานเสวนา ฉากทัศน์อนาคตไทย ฯ

โดยการทำกิจกรรมเพื่อมิติสังคมด้านต่างๆ “ฐาปน” ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา ต้องมองถึงต้นตอ เหตุแห่งปัญหา เพื่อช่วยกันมองโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงต่างๆ ให้เกิดพลังบวก หันเหไปในทิศทางที่ดี ที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันกิจการเพื่อสังคมที่ไทยเบฟดำเนินการครอบคลุมทั้งศิลปวัฒนธรรม กีฬา งานชุมชน เป็นต้น

สำหรับงานศิลปะ กีฬา เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงทักษะ ความสามารถ ความชำนาญ ทักษะ และขึ้นอยู่กับความรักความชอบของผู้คน โดยไม่จำเพศ อายุ สาขาอาชีพ จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยลดเหลื่อมล้ำได้

ประชารัฐรักสามัคคีฯ เสริมเศรษฐกิจฐานราก

อีกภารกิจด้านสังคมที่ไทยเบฟมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนคือโครงการประชารัฐรักสามัคคี ที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่ง และถือเป็นการตอบโจทย์ด้านฉากทัศน์อนาคตของประเทศไทย เพราะไม่เพียงช่วยประชาชนฐานราก แต่ยังทำให้เรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบด้วย เนื่องจากโครงสร้างการถือหุ้นใหญ่ส่วนกลาง จะมีบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม(จังหวัด)ทั้ง 76 จังหวัด ถือหุ้นจังหวัดละ 1%(เป็น 76%) และเอกชน 24 บริษัท ถือหุ้นอีก 24%

“ตอนทำเรื่องเกี่ยวโยงเศรษฐกิจฐานราก ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จากจุดไหน ทำแล้วจะเกิดข้อบกพร่อง ผิดพลาดอะไร ได้ปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ และได้รับคำแนะนำให้ไปสอบถามผู้ใหญ่ ผู้มีประสบการณ์ที่ทุ่มเทสละเวลา ความเอาใจใส่ในการพัฒนาด้านสังคม ซึ่งอาจารย์มีชัย ถือเป็นเสาหลักสำคัญของเราและทีมงาน”

‘ฐาปน’ มองฉากทัศน์อนาคตไทย ปลุก ‘เยาวชน’ เข้าใจคุณค่าเงิน-รู้จักออม-ลงทุน

ฐาปน สิริวัฒนภักดี ให้มุมมองฉากทัศน์อนาคตไทย

ฉากทัศน์อนาคตไทย อยากเห็น ‘เยาวชน’ เข้าใจคุณค่าเงิน-รู้จักออม-ลงทุน

เมื่อมองอีกฉากทัศน์อนาคตประเทศไทย “ฐาปน” มองทั้งเรื่องการศึกษามีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผู้คน ซึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ได้เอ่ยถึงในงานเสวนา ทว่า ในฐานะที่ตนมาจากภาคธุรกิจ ต้องการเห็นเด็กๆ น้องๆ เยาวชนที่เติบโตขึ้นมา มีความเข้าใจทักษะเกี่ยวกับ “คุณค่าของเงิน” อย่างน้อยต้องการเห็นเด็กเริ่ม “ออมค่าขนม” หรืออาจจะสนใจแม้กระทั่ง “การลงทุน” ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของชีวิต โดยเฉพาะในชีวิตคนตลอดทั้งช่วงชีวิตยังมีความจำเป็นในเรื่องของ “การใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิต” จึงเสนอแนะการมีวินัย เข้าใจทางด้านการเงิน

“ผมมาจากทางภาคธุรกิจ อยากเห็นน้องๆ เด็กๆ เยาวชนที่เติบโตมาเข้าใจทักษะ เกี่ยวกับเรื่องคุณค่าของเงิน อยากเห็นเด็กๆเริ่มออมค่าขนม สมัยก่อน ตอนเป็นเด็กๆ โตขึ้นมาจะถูกบอกให้รู้จักการออม แต่เดี๋ยวนี้การออมอย่างเดียวคงไม่พอที่จะใช้จนถึงวัยเกษียณของเรา คงต้องมีเรื่องการลงทุน ซึ่งในฐานะภาคเอกชน เรามีการคุยกับเพื่อนพนักงาน อายุตั้งแต่ 40 ปีกลางๆถึง 50 ปี ต้องสนใจ และเตรียมตัวช่วงวัยเกษียณของตัวเอง ต้องตระเตรียมชีวิต และการใช้จ่ายอย่างไร”

ฐาปน ยังหยิบความพึงพอใจ ความพอเพียงที่ทุกคนเรียนรู้จากล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการประมาณตน องค์ความรู้ที่นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองด้วย

“ผมว่าเรื่องของการเงิน มีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเจอปัญหาหมุนเวียนกันทั้งการกู้หนี้ยืมสิน และเรื่องอื่นๆตามมา ดังนั้นการเอาใจใส่และสนใจ ฝึกฝนทักษะในการเห็นคุณค่าของเงิน จะทำให้ได้ทักษะและข้อท็จจริงมากขึ้น รวมถึงการเติมทักษะการเป็นคนดีมีคุณธรม ทักษะคนดีต้องฝึกฝน เพราะอยากเป็นคนดี แต่ไม่เคยทำ ก็จะเกิดยาก ทักษะคือสิ่งที่ฝึกฝน ทำทีละเล็กละน้อยจนเกิดความเชี่ยวชาญ เกิดความชำนาญ สามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้”

‘ฐาปน’ มองฉากทัศน์อนาคตไทย ปลุก ‘เยาวชน’ เข้าใจคุณค่าเงิน-รู้จักออม-ลงทุน