ผ่า 8 เทรนด์ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ แหล่งรายได้ที่ 2 ของคนอยากดัง มีไลฟ์สไตล์อิสระ
หลากปัจจัยมีอิทธิพลต่อเทรนด์ "อินฟลูเอนเซอร์-ครีเอเตอร์" มาแรง โดยเฉพาะคนที่มองหาแหล่งรายได้ที่ 2 ต้องการความอิสระ และปัจจุบันการเปิดช่องเพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ง่าย มีเครื่องมือช่วยเนรมิต ส่วนโอกาสทำเงิน มีหลากรูปแบบ ส่อง 8 เทรนด์ พลิกคนอยากดัง มีเงิน
วันที่ “อินฟลูเอนเซอร์” มีบทบาทในโลกการตลาดดิจิทัล เพราะเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ได้ ยังช่วย “ป้ายยา” กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ และ “ปิดยอดขาย” ได้ด้วย
ทว่า ทิศทางอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงครีเอเตอร์ปี 2567-2568 จะเป็นอย่างไร สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ฉายภาพว่า หากนับจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ และครีเอเตอร์รายเล็กไปถึงใหญ่ ที่สร้างสรรค์คอนเทนต์ ร่วมงานกับแบรนด์สินค้าแม้เพียงครั้งเดียวประมาณการณ์ที่ 9 ล้านราย ถือเป็นจำนวนมากเทียบเท่าผู้ถือครองบัตรเครดิตในประเทศไทย และยังเป็นฟันเฟืองเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนแลนด์สเคปของแวดวงสื่อ
โอกาสทำเงินของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ครีเอเตอร์
ทั้งนี้ หากเจาะ 8 เทรนด์ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ เริ่มจาก 1.Creator Culture ที่ครีเอเตอร์ไม่เพียงสร้างคอนเทนต์ แต่ปัจจุบันช่วยขายสินค้าได้ด้วย ทำให้โอกาสหารายได้มาจากหลากช่องทาง เช่น จากคอนเทนต์ คอมมิชชั่นเมื่อขายสินค้า ลิขสิทธิ์คอนเทนต์ เป็นวิทยากร ค่าสมาชิกจากเอ็กซ์คลูสีพคอนเทนต์ การจัดแฟนมีท ขยับเป็นไอดอล ศิลปินได้
2.จากเทรนด์ใหญ่โลก(Mega Trend) ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย ประชากรรายได้ต่ำ เช่น คนไทย 67% มี “รายได้เดือนชนเดือน” หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ต้องหา Passive Income ความต้องการมีไลฟ์สไตล์อิสระ โลกร้อน ฯ ครีเอเตอร์ ล้วนช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้
3.ตลาดแรงงานเปลี่ยน(Workforce) เศรษฐกิจไม่ดี มีคาดการณ์ปี 2567 จะมีผู้ประกอบการธุรกิจหายจากตลาดอีกมาก ทำให้ผู้คนมองหาแหล่งรายได้ที่ 2 ต้องการเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น ฯ ทำให้เห็นคนสวมหมวกอินฟลูเอนเซอร์ ครีเอเตอร์ “เต็มเวลา” เพราะรายได้ของอาชีพดังกล่าวเริ่มอยู่ตัว “รอดได้”
นอกจากนี้ ครีเอเตอร์ได้สร้างประโยชน์มหาศาล เป็นพลังเคลื่อนเศรษฐกิจ ตัวอย่าง ปี 2564 ครีเอเตอร์ยูทูในฝรั่งเศส ทำเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท สหรัฐฯทำเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท หรือปี 2566 ครีเอเตอร์ฝรั่งเศสขายคอนเทนต์ให้ติ๊กต็อกทำเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนไทยน่าจะอยู่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
สุวิตา จรัญวงศ์
4.ซอฟต์พาวเวอร์ และสร้างวัฒนธรรมย่อย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์คอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ช่วยต่อยอดอำนาจละมุนอย่างดี ทว่า ซอฟต์พาวเวอร์ที่น่าสนใจ ยกให้ “อีสานสไตล์” หากนำไปต่อยอด ปั้นคอนเทนต์เด็ดๆ เชื่อว่าสร้างเม็ดเงินมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ผ้า ภาษา แม้แต่เพลงอีสานแนวบลูสามารถโกอินเตอร์ได้ดี
ซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่มีโอกาสในตลาดอินฟลูเอนเซอร์ จึงมีทั้งหนังไทย โดยเฉพาะหนังผี แฟชั่นไทย ละครไทย ที่จีนชื่นชอบ อาหารไทย รวมถึงประเพณีสงกรานต์
“ครีเอเตอร์หมวดหมู่ต่างๆ ไม่ว่าจะสายบิวตี้ สายเที่ยว สายกิน สายแฟชั่น ฯ ล้วนสร้างกระแสให้ซอฟต์พาวเวอร์โดด่งดัง เช่น กางเกงช้าง ทุเรียน”
ปัจจุบันผู้บริโภคมีความสนใจเฉพาะ(Niche) ทำให้ครีเอเตอร์ “หมวดใหม่” เกิดขึ้น และได้รับความสนใจ เช่น ช่างไฟฟ้า แม่บ้านที่มีเคล็ดลับการทำความสะอาด ดูแลบ้าน ฯ
“คอนเทนต์สร้างสรรค์ง่าย ทุกคนลุกมาทำช่องได้ง่าย โซเชียลมีเดียมีมากมาย แต่สิ่งที่ขาดคือคอนเทนต์น้ำดีที่จะมาไล่น้ำเสีย ซึ่งยุคนี้ค่อนข้างดี หากทำคอนเทนต์ไม่ดี จะคนดูตรวจเช็ก มีทัวร์ลง”
5.ครีเอเตอร์ คอมเมิร์ซ จากแนวโน้มตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2568 จะมีมูลค่า 7.5 แสนล้านบาท ทำให้เกิดนักไลฟ์(Live)ตัวพ่อตัวแม่จำนวนมาก ทว่า สิ่งที่ “ตลาดขาดแคลน” คือนักไลฟ์ที่ทำคลิปวิดีโอและติดตะกร้าเพื่อขายสินค้าได้จริง อย่างไรก็ตาม เมื่อนักไลฟ์มือฉมังขายของเก่ง สิ่งที่ตามมาคือปรากฏการณ์สวมบทเป็นพ่อค้าแม่ขายนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาทำเงินเอง โดยไม่ต้อง “รับจ้างไลฟ์” ให้แบรนด์สินค้าอื่น
นอกจากนี้ มีประเด็นน่ากังวล คือ ปัจจุบันมีนักไลฟ์ “ที่ไม่ใช่คนไทย” มากอบโกยเงินจากช่องทางอีคอมเมิร์ซกลับประเทศ จากแพลตฟอร์มต่างเป็นของ “ทุนข้ามชาติ” อยู่แล้ว
“สุวิตา” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทยเน้นสนุกหรือ Shoppertainment ที่สำคัญยังพร้อมเปย์แบบปุบปับ(Impulse) แม้ “ไม่รู้จักแบรนด์” ก็ตาม
“ตอนนี้เหตุผลการซื้อสินค้าของคนไทยคือเจอแล้วกดซื้อเลย ปรากฎการณ์นี้เกิดเยอะในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่รู้จักแบรนด์ครั้งแรกตอนซื้อสินค้า ซึ่งไม่ใช่การตลาดแบบ Full Funnel เหมือนอดีต ซื้อก่อน ศึกษาแบรนด์ทีหลัง ดังนั้นแบรนด์ต้องสร้างอีโมชันนอลให้เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคยิ้มมุมปากที่ได้ซื้อของกับแบรนด์นั้นๆ”
6.ส่อง “เอไอ” เครื่องมือปั้นคอนเทนต์ ซึ่งปัจจุบันมีมากมาย เช่น หมวดสร้างวิดีโอ มี munch, vidyo.ai, sora AI, FlexClip หมวดบริการจัดการโซเชียลมีเดียและวิเคราะห์ข้อมูลมี Flick และ ContentStudio หมวดเครื่องมือ AI เอนกประสงค์ มี Vondy และ Hootsuite เป็นต้น 7.การวัดผลทางการตลาด เพราะสร้างสรรค์คอนเทนต์แล้วต้องขายของ ตอบโจทย์การลงทุนให้แบรนด์ได้ด้วย และ8.การเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อและความน่าเชื่อถือ ซึ่ง “ความเชื่อ” หรือ Trust เป็นสิ่งที่มีค่าและแพงสุด
“ยุคนี้อาจมอง Data is a new oil แต่น้ำมันใหม่สุดคือ Trust อินฟลูเอนเซอร์ ครีเอเตอร์อย่าล่าแค่ยอดวิว เรทติ้ง แต่ต้องสร้างคอนเทนต์ให้มีความน่าเชื่อถือ สร้างบุญให้ประเทศด้วยเนื้อหาที่ดี"