‘ไวซ์ไซท์’ เปิด 5 โซเชียล แพลตฟอร์ม ยกระดับแบรนด์แกร่ง พร้อมรับมือทุกวิกฤติ

‘ไวซ์ไซท์’ เปิด 5 โซเชียล แพลตฟอร์ม  ยกระดับแบรนด์แกร่ง พร้อมรับมือทุกวิกฤติ

ไวซ์ไซท์’ ขี้ จากอดีตถึงปัจจุบันธุรกิจเผชิญปัญหาเดิมๆ ในการทำตลาด การสร้างแบรนด์ กระตุ้นยอดขาย เพื่อสร้างการเติบโต และที่มีผลมากขึ้นยุคนี้คือ “พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอด” และการมีสื่อใหม่ แพลตฟอร์มออนไลน์ทรงอิทธิพลในการสื่อสาร การทำตลาดมากยิ่งขึ้น

“ไวซ์ไซท์” เปิดสถิติไตรมาสแรก ปี 2567 พบว่าสินค้ากว่า 2,600 แบรนด์ จาก 26 อุตสาหกรรม ใช้ “สื่อสังคมออนไลน์” หรือโซเชียลมีเดีย 5 แพลตฟอร์ม ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เอ็กซ์(X) ยูทูบ และติ๊กต็อก(TikTok) อย่างเข้มข้ม พร้อมเผยทางรอดธุรกิจไทย ยุคตลาดแข่งขันสูง ปลุกพลังแบรนด์ให้ปัง ผ่านสูตร “MATR” 

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า การวิเคราะห์สถานการณ์ของภาคธุรกิจไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งยอดขาย ลูกค้า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยน ด้านแทคติกในการทำตลาด สร้างแบรนด์ สื่อสารตลาดก็ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากยุคนี้มีสื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ มีบทบาท ทำให้แบรนด์ไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ เพื่อแก้ปัญหาได้อีกต่อไป

ไวซ์ไซท์ ได้ใช้ข้อมูลจากรับฟังเสียงของผู้บริโภคผ่านสื่อโซเชียล (Social listening) มาวิเคราะห์ข้อมูลให้แก่ลูกค้าซึ่งปีที่ผ่านมาพบข้อมูลการโพสต์เรื่องราวต่างๆ ของแบรนด์จำนวนรวม 220 ล้านโพสต์ และข้อมูลยอดมีส่วนร่วมหรือ เอ็นเกจเมนต์ (Engagement) มากกว่า 524 ล้านเอ็นเกจเมนต์ และมีคำศัพท์ยอดนิยมที่คนไทยใช้สูงสุด เช่น ฉ่ำ แทร่ สู้เขาสิวะอีหญิง เป็นต้น ซึ่งแบรนด์สามารถนำไปต่อยอด วางแผนวิเคราะห์ และทำการตลาดในระยะยาวได้ 

‘ไวซ์ไซท์’ เปิด 5 โซเชียล แพลตฟอร์ม  ยกระดับแบรนด์แกร่ง พร้อมรับมือทุกวิกฤติ

ยอดใช้เฟซบุ๊กสูงสุด ติ๊กต็อก มาแรง 

สำหรับภาพรวมช่วงไตรมาสแรกปี 2567 บริษัทเก็บข้อมูลดาต้า ของภาคธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 2,600 แบรนด์ จาก 26 อุตสาหกรรม พบว่าผู้ประกอบการมีการใช้ 5 แพลตฟอร์มหลักเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค ได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook), เอ็กซ์(X)หรือทวิตเตอร์(เดิม), อินสตาแกรม (Instagram), ยูทูบ (YouTube) และ ติ๊กต็อก (TikTok) 

โดยแพลตฟอร์มที่ใช้มากที่สุดคือ เฟซบุ๊ก และเป็นแพลตฟอร์มที่มีการใช้ในทุกธุรกิจ แต่แพลตฟอร์มที่กำลังมาแรงคือ ติ๊กต็อก และเติบโตสูงมากจนสามารถแซงหน้า อินสตาแกรม แม้ว่าจะเข้ามาทำตลาดภายหลังก็ตาม 

ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมใช้แพลตฟอร์มสื่อสารตลาดแตกต่างกัน ตามฐานกลุ่มลูกค้าและเข้มข้นขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ใช้เฟซบุ๊ก 98% เอ็กซ์ 18% อินสตาแกรม 72% ยูทูบ 76% ติ๊กต็อก 45% ธนาคารใช้เฟซบุ๊ก 100% เอ็กซ์ 65% อินสตาแกรม 76% ยูทูบ 94% ติ๊กต็อก 59% เครื่องสำอาง ใช้เฟซบุ๊ก 97% เอ็กซ์ 48% อินสตาแกรม 75% ยูทูบ 54% ติ๊กต็อก 49% ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตใช้เฟซบุ๊ก 100% เอ็กซ์ 80% อินสตาแกรม 80% ยูทูบ 80% ติ๊กต็อก 90% เป็นต้น 

“ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตใช้โซเชียลมีเดียมาก เพราะผู้บริโภคทุกคนต้องไปชอปปิง จึงใช้ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯ สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย” 

หมวดธุรกิจโกยเอนเกจเมนต์เพิ่ม-ร่วง

ส่วนภาพรวมอัตราการโพสต์คอนเทนต์ของแบรนด์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในไตรมาสแรก เฟซบุ๊ก สร้างยอดการมีส่วนร่วม 352 เอ็นเกจเมนต์ต่อคอนเทนต์ เอ็กซ์ 400 เอ็นเกจเมนต์ต่อคอนเทนต์ ยูทูบโกย 3 แสนวิวต่อคอนเทนต์ และติ๊กต็อก สร้างการมีส่วนร่วมประมาณ 2.5 แสนวิวต่อคอนเทนต์

ทิศทางธุรกิจที่โกยเอ็นเกจเมนต์สูง ที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ (สกินแคร์) 20 ล้านเอ็นเกจเมนต์ เครื่องสำอาง 12 ล้านเอ็นเกจเมนต์ เติบโต 62% ส่วนอสังหาริมทรัพย์กวาด 10.8 ล้านเอ็นเกจเมนต์ เติบโตสูงสุด 98% 

ขณะที่ธุรกิจเอ็นเกจเมนต์ “ร่วงแรง” คือหมวดอีคอมเมิร์ซที่ 2 ยักษ์ใหญ่เปลี่ยนกลยุทธ์ ใช้อินฟลูเอนเซอร์ป้ายยา ทำให้ไตรมาส 1 มี 5 ล้านเอ็นเกจเมนต์ จาก 17.2 ล้านเอ็นเกจเมนต์ “ลดลง 70%” รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ลดลง 67% 

“เมื่อมีการโพสต์คอนเทนต์ต่อครั้ง ต้องดูการสร้าง Engagement สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม ของภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ แต่หากไม่ถึงค่าเฉลี่ยของตลาดรวม ต้องปรับแผนใหม่ และหาทางกระตุ้นร่วมทำให้ความสนใจสูงขึ้น ที่หลายธุรกิจนิยมทำคือ การบูทส์โพสต์นั่นเอง”

สมการ “MATR” เพิ่มพลังแบรนด์บนโซเชียลมีเดีย 

กล้า ยังชูโมเดล “Fogg Behavior Model” ยกสมการ “MATR” มาสร้างแบรนด์ปังบนโลกออนไลน์ ได้แก่ 1.Motivation การดึงความสนใจให้ “เปลี่ยนพฤติกรรม” จากอยากซื้อ สนใจ มาสู่การ “ซื้อสินค้า” ตัวอย่างแบรนด์รถจักรยานยนต์จากอิตาลี ใช้อินฟลูเอนเซอร์ ศิลปินมาแต่งรถ จัดคอนเสิร์ต ผลลัพธ์คนติดตามแฟนเพจเฟซบุ๊กเป็น 4 ล้านราน จาก 3.1 แสนราย 

2. Ability เปลี่ยนพฤติกรรมให้มาลอง สร้างประสบการณ์ใหม่ เช่น แบรนด์ประกันรถยนต์ ที่ไม่ต้องสื่อสารกับคอลเซนเตอร์ ตัวแทนขาย มาให้บริการระบบออนไลน์ สร้างเอ็นเกจเมนต์ก้าวกระโดด 3.Trigger เมื่อไหร่ที่แบรนด์มี “กระแสลดลง” จงส่งสัญญาณไปหากลุ่มเป้าหมายซ้ำๆ ต่อเนื่อง เพื่อเตือนให้ “ไม่ลืมแบรนด์” และสร้างเอ็นเกจเมนต์ตลอดเวลา 

4.Rewards การให้รางวัลร่วมกระตุ้นความสนใจ อาจดูไม่สำคัญ แต่จริงๆ “สำคัญมาก” ตัวอย่างแบรนด์รถยนต์อีวียี่ห้อดังที่ขายดี แต่ยังเจอบางกลุ่มเป้าหมาย “กังวลใจจะใช้รถยนต์อีวี..ดีไหม” เมื่อพบผู้ใช้ “ตัวจริง” โพสต์เนื้อหาที่ดีให้ข้อมูล เป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ จึงส่งของขวัญเล็กๆน้อยไปให้ 

สิ่งเหล่านี้หากแบรนด์ไม่ทำ อาจโดน “คู่แข่ง” ฉกลูกค้า พร้อมแย่งกระแสแทนที่ได้เสมอ 

“สิ่งที่อันตรายคือ คนไม่รู้คุยกับคนไม่รู้ อย่างรถอีวี หากผู้ไม่เคยใช้มาให้ข้อมูล ไม่มีทางได้คำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งเจ้าของค่ายรถอาจเดือดร้อน เพราะความจริงอยู่ที่ไหน เกิดกระแสลบต่อแบรนด์ได้ ซึ่งหากประเด็นนี้เกิดกับแบรนด์ใดล้วนไม่มีใครชอบ แบรนด์จึงต้องใส่ใจลูกค้าที่รักเรา ใครสมควรได้รางวัล” 

ไวซ์ไซซ์ ทิ้งท้ายด้วยตัวอย่างการ “พัฒนา” ในการแก้ปัญหา คือการ Pit Stop ของทีมที่แข่งขันรถสูตร 1 หรือ F1 ที่อดีตใช้เวลา 8.9 วินาทีเพื่อเปลี่ยน 4 ล้อ ปี 2565 ใช้เวลา 1.82 วินาที และปี 2566 ใช้เวลา 1.78 วินาทีเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการซ้อมหนักวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อแก้โจทย์เดิมให้ดีกว่าเดิม เพื่อเก่งที่สุด ก้าวสู่ความสำเร็จและ “ชนะ” ในเกมแข่งขัน