‘บางกอกแลนด์’ พลิกอนาคตเมืองทองธานี! รถไฟฟ้าสายสีชมพู จุดเปลี่ยน ‘อิมแพ็ค’
เมื่อ 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' ส่วนต่อขยาย กำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ! พลิกโฉมอนาคตอาณาจักร 'เมืองทองธานี' ของค่ายอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 'บางกอกแลนด์' ภายใต้การคุมทัพของสองพี่น้อง 'ปีเตอร์' และ 'พอลล์' แห่งตระกูลกาญจนพาสน์
กลยุทธ์ต่อยอดธุรกิจจากโครงสร้างพื้นฐานใหม่ช่วยขนทราฟฟิกผู้คนทะลักเข้า “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ในปี 2568 จะเป็นอย่างไร? “กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมสัมภาษณ์ “พอลล์ กาญจนพาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อัปเดตถึงแผนงานและการลงทุนนับจากนี้
พอลล์ กล่าวว่า ได้เตรียมกลยุทธ์รวมถึงการลงทุนปรับปรุงพื้นที่และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานีในปี 2568 จำนวน 2 สถานี ซึ่งบางกอกแลนด์ลงทุนร่วมกับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) บริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (ร่วมทุนกันระหว่าง บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และราช กรุ๊ป) มูลค่าการลงทุนโครงการนี้รวม 3,358 ล้านบาท แบ่งลงทุนฝั่งละ 50% หรือคิดเป็นมูลค่าฝั่งละ 1,679 ล้านบาท
พอลล์ กาญจนพาสน์
สำหรับพื้นที่ล็อบบี้ภายใน “อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1” จะมีการรีโนเวตพื้นที่บางส่วน โดยใช้งบลงทุน 195 ล้านบาทในการก่อสร้างและตกแต่งทางเข้าเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า (Sky Entrance) สถานีที่ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ขณะเดียวกันจะเพิ่มร้านอาหารเพื่อรองรับผู้เข้าร่วมงาน (Visitor) จำนวนมากขึ้น พร้อมเพิ่มโค-เวิร์กกิง สเปซ อีกจุดในฮอลล์ 1 ด้วย จากปัจจุบันมีให้บริการแล้ว 1 จุดที่บริเวณฮอลล์ 9-10 รองรับการใช้งานของผู้ออกบูธ (Exhibitor) ที่ต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวก
นอกจากนี้ กำลังหารือกับ “บีทีเอส” เรื่องการติดตั้ง “ดิจิทัล บิลบอร์ด” (Digital Billboard) ใน 2 สถานีส่วนต่อขยาย รับดีมานด์การเช่าพื้นที่โฆษณาทั้งจากกลุ่มลูกค้าองค์กรและกลุ่มแฟนคลับศิลปินต่างๆ ที่มาจัดคอนเสิร์ต
“การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย 2 สถานีเข้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายมิติ เราต้องเตรียมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับไดนามิก (Dynamic) และโฟลว์ (Flow) ของทราฟฟิกคนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก”
ยกตัวอย่าง อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 4 ติดกับโรงแรมโนโวเทล ปัจจุบันรองรับตลาดกลุ่มประชุมและงานจัดเลี้ยง ด้วยที่ตั้งอยู่ในจุดอับ ค่อนข้างไกลจากศูนย์กลางการเดินทางและสิ่งอำนวยความสะดวก แต่พอมีสถานีที่ 2 ทะเลสาบ เมืองทองธานี มาอยู่ตรงหน้า คาดว่าจะช่วยพลิกตลาด เป็นฮอลล์ที่สามารถดึงดูดงานต่างๆ เข้ามาจัดได้มากขึ้น จึงเตรียมแผนนำเสนออัตราค่าเช่าพื้นที่จัดงานราคาพิเศษเพื่อจูงใจให้ลูกค้าลองมาจัดงานที่ฮอลล์นี้
นอกจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบเดินทางของผู้เข้าร่วมงานสู่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี แล้ว ยังได้เตรียมแผนการตลาดแก่กลุ่มลูกค้าผู้จัดงาน ด้วยการวิเคราะห์ว่าการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย จะพาคนกลุ่มไหนเดินทางเข้ามาบ้าง พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศ ทั้งงานเทรดโชว์และกลุ่มเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Group) ซึ่งเคยชินกับการเดินทางเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบ่อยครั้งในเที่ยวเดียว โดยจะแนะนำว่าควรพักโรงแรมในย่านไหนเพื่อลดระยะเวลาการเดินทาง ส่วนอีกกลุ่มคือผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่แล้ว ก็จะนำเสนอไฮไลต์ว่าสามารถเดินทางเข้ามาร่วมงานต่างๆ ในอิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้สะดวกยิ่งขึ้น
“ปัจจุบัน อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีอัตราการเช่าพื้นที่จัดงานไมซ์ อีเวนต์ และคอนเสิร์ตรวม 50% เราคาดหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถเพิ่มอัตราการเช่าพื้นที่ไปใกล้เพดานระดับ 70%”
พอลล์ เล่าต่อว่า สำหรับที่ดินในเมืองทองธานี ยังคง “เนื้อหอม” มีการขายที่ดินแปลงเล็กๆ ตรงนั้นตรงนี้ให้กับองค์กรและบริษัทต่างๆ เข้ามาพัฒนาโครงการและอาคารสำนักงาน เช่น ที่ดินตึกโรงแรมอีสติน เลคไซด์ (Eastin Lakeside) ขนาด 112 ห้องพัก ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี ตอนนี้มีค่ายโรงพยาบาลดัง 3-4 รายสนใจซื้อที่นี่เพื่อนำไปพัฒนาต่อ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรยังขอซื้อที่ดินเพิ่ม เพื่อก่อสร้างอาคารใหม่บนที่ดินแปลงติดกัน รับการขยายตัวของนักศึกษา
“โฟกัสหลักของเราคือการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส เฟสใหม่ บนที่ดิน 200-300 ไร่ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี เพราะนี่คืออนาคตของบางกอกแลนด์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับมาสเตอร์แพลนลงทุน รองรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย โดยเบื้องต้นโครงการมิกซ์ยูสดังกล่าวมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ รีเทล อาคารสำนักงาน โรงแรม และเอ็กซิบิชัน ฮอลล์ ไซส์การลงทุนขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท”
ส่วนแผนงานมิติอื่นๆ เดินหน้าพัฒนาเมืองทองธานีสู่ “สมาร์ต ซิตี้” (Smart City) ซึ่งบางกอกแลนด์จะเซ็นสัญญากับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เรื่องการยกระดับสู่ “อินโนเวชัน ดิสทริกต์” (Innovation District) นอกจากนี้จะร่วมกับแกร็บ (Grab) กำหนดจุดรับส่งผู้โดยสารภายในอิมแพ็ค เมืองทองธานี น่าจะแล้วเสร็จภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า
“คาดว่าภาพรวมธุรกิจของทั้งบางกอกแลนด์และอิมแพ็คปี 2567 จะมีรายได้ดีกว่าปี 2562 ก่อนโควิดระบาด” พอลล์ เล่าปิดท้ายถึงการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์หลังผ่านยุคโควิด-19 และในฐานะผู้เล่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์ เขามองด้วยว่า ถ้าประเทศไทยมุ่งมั่นพัฒนาภาคการท่องเที่ยวต่อเนื่องทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยไปได้ไกลกว่านี้!