ลุคใหม่ ‘นกแอร์’ ในรอบ 20 ปี! ขอสลัดภาพโลว์คอสต์ สู่ ‘พรีเมียม แอร์ไลน์ส’

ลุคใหม่ ‘นกแอร์’ ในรอบ 20 ปี! ขอสลัดภาพโลว์คอสต์ สู่ ‘พรีเมียม แอร์ไลน์ส’

‘วุฒิภูมิ’ ซีอีโอ ‘นกแอร์’ เปิดกลยุทธ์ สลัดภาพโลว์คอสต์สู่ลุคใหม่ ‘พรีเมียม แอร์ไลน์ส’ ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่นกแอร์ครบรอบการดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี หวังหลบหลีกสงครามราคา หลังปี 2566 กลับมาทำกำไรครั้งแรกในรอบ 9 ปี กำไรสุทธิ 47 ล้านบาท

สายการบิน “นกแอร์” วางกลยุทธ์ใหม่ มุ่งสู่ “Premium Airlines” ที่ยังคงความคุ้มค่า ตอบสนองทุกความต้องการในการเดินทาง ภายหลังกลับมาทำกำไรครั้งแรกในรอบ 9 ปี ด้วยบริการแตกต่างเหนือสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไป พร้อมยกระดับการบริหารจัดการ สร้างสถิติเที่ยวบินตรงเวลาเกินกว่า 85% สูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลก  ปักธงขยายเครือข่ายการบินสู่ต่างประเทศเพิ่มเติม หลังผ่านมาตรฐานความปลอดภัย IOSA และการเข้าเป็นสมาชิก IATA

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า “นกแอร์” ในฐานะสายการบินของคนไทย ได้วางยุทธศาสตร์ใหม่ในการดำเนินธุรกิจ โดยวางตำแหน่งทางการตลาดให้นกแอร์ ก้าวสู่ความเป็น “สายการบิน Premium Airlines” ที่ยังคงความคุ้มค่า แต่สามารถตอบสนองทุกความต้องการในการเดินทาง ผ่านการยกระดับการให้บริการที่แตกต่างเหนือจากธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไปเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามราคาและก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องจากปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่นกแอร์ครบรอบการดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี

สายการบินนกแอร์มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของผู้โดยสาร ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์อันเป็นจุดแข็งของสายการบิน  เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการให้สูงกว่ามาตรฐานของสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไปเพื่อสร้างความประทับใจสูงสุดแก่ผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้บริการ “ห้องรับรองพิเศษ” (NOK AIR LOUNGE) ภายในท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อให้บริการผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารประเภท Nok MAX รวมทั้งยังเปิดจำหน่ายบริการการเข้าใช้งานห้องรับรองพิเศษ สำหรับผู้โดยสารที่ถือบัตรประเภทต่าง ๆ ด้วย

ลุคใหม่ ‘นกแอร์’ ในรอบ 20 ปี! ขอสลัดภาพโลว์คอสต์ สู่ ‘พรีเมียม แอร์ไลน์ส’

นอกจากนี้ยังนำเสนออีกจุดเด่นของสายการบินนกแอร์คือที่นั่งบนเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737-800 ทั้ง 14 ลำ ที่มีระยะห่างระหว่างที่นั่งเฉลี่ย 31 นิ้ว มากกว่าค่าเฉลี่ยสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางตลอดเที่ยวบิน  นอกจากนี้สายการบินนกแอร์ยังได้บริหารจัดการชั่วโมงการปฏิบัติการบินใหม่ ทำให้มี “สถิติมาตรฐานการตรงเวลา” (The On-time Performance) เกินกว่า 85% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลก

สำหรับปัญหาเที่ยวบินล่าช้านั้นเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน  โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูฝน หรือมีเหตุการณ์สุดวิสัยที่อยู่เหนือการควบคุมของสายการบิน สายการบินนกแอร์ได้เน้นบริหารจัดการในส่วนที่สามารถควบคุมได้ เพื่อป้องกันเที่ยวบินล่าช้า อีกทั้งในกรณีเครื่องบินไม่สามารถทำการบินได้ สายการบินนกแอร์ได้จัดทำสัญญากับสายการบินพันธมิตรในการเช่าเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อย้ายผู้โดยสารของไปบินกับสายการบินพันธมิตรแทนในกรณีจำเป็น ในขณะเดียวกันสายการบินนกแอร์ยังได้ทำสัญญากับบริษัทจัดการอะไหล่ในการบริหารอะไหล่เครื่องบินไว้ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จากการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพทำให้มาตรฐานการตรงเวลาของนกแอร์สูงเกินมาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
ที่ผ่านมา  

ลุคใหม่ ‘นกแอร์’ ในรอบ 20 ปี! ขอสลัดภาพโลว์คอสต์ สู่ ‘พรีเมียม แอร์ไลน์ส’

นอกจากนี้สายการบินนกแอร์ยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบบัตรโดยสาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารที่แตกต่างกัน ได้แก่ 

  • Nok MAX ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ (Full Service) มีบริการอาหาร เลือกที่นั่งบนเครื่องบิน รวมน้ำหนักสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่อง เปลี่ยนวันเดินทางโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และใช้บริการห้องรับรองได้
  • Nok X-tra รวมน้ำหนักกระเป๋า เลือกที่นั่งบนเครื่องบิน และในกรณีที่ผู้โดยสารติดเชื้อโควิด-19 เจ็บป่วยกะทันหัน หรือเกิดอุบัติเหตุ สามารถเปลี่ยนวันเดินทางโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • Nok Lite การให้บริการปกติตามมาตรฐานสายการบินต้นทุนต่ำ คุ้มค่าตามแบบฉบับนกแอร์

การมีทางเลือกในการซื้อบัตรโดยสารหลากหลาย ทำให้ผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสาร Nok MAX และ Nok X-tra มากขึ้นเพราะเห็นถึงความคุ้มค่า ทำให้สายการบินนกแอร์มีรายได้จากจำหน่ายบัตรโดยสารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในปีนี้ สายการบินนกแอร์ยังเปิดจำหน่ายบริการ  “Private Seat” โดยจะเว้นที่นั่งตรงกลางไว้ ทำให้ผู้โดยสารที่ซื้อบริการนี้จะรู้สึกสะดวกสบายมากขึ้นระหว่างการเดินทาง ผู้โดยสารสามารถซื้อบริการเสริมนี้ได้ที่เคาน์เตอร์เช็คอินก่อนการเดินทางล่วงหน้า 4 ชั่วโมง ในราคา 299 บาท/ที่นั่ง

ในขณะเดียวกันสายการบินนกแอร์ยังจะต่อยอดการให้บริการ Pet On Board เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมาเปิดให้บริการแบบเช่าเหมาลำและได้รับการตอบรับที่ดี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เพื่อขอเปิดให้บริการ Pet On Board” ในลักษณะการเปิดบริการทุกเที่ยวบิน โดยจะกันที่นั่ง 6 แถวหลังสุดเพื่อให้บริการสัตว์เลี้ยงเดินทางไปพร้อมกับผู้โดยสารในบางเที่ยวบิน ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ทั้งสัตว์เลี้ยงที่ต้องการเดินทางพร้อมเจ้าของ หรือความจำเป็นในการเดินทางมารักษาในกรุงเทพฯ ทั้งนี้การนำสัตว์เลี้ยงเดินทางไปพร้อมผู้โดยสาร สัตว์เลี้ยงจะต้องอยู่ในกรงที่มีแผ่นรองซับของเสีย และมีมาตรการด้านสุขอนามัยในการรักษาความสะอาดเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสารท่านอื่น

นอกจากนี้ สายการบินนกแอร์กำลังจะเปิดให้บริการ WiFi In-flight streaming” เพื่อยกระดับการเดินทาง โดยนกแอร์จะร่วมมือกับ VIU หรือ วิว ซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้บริการวีดีโอ สตรีมมิ่งแบบ OTT (Over the Top) อันดับ 1 ของเอเชีย บริการด้านความบันเทิงที่รวมซีรีส์รายการทีวี หรือ e-book  (อีบุ๊ค) บนเที่ยวบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารของผู้โดยสาร

ลุคใหม่ ‘นกแอร์’ ในรอบ 20 ปี! ขอสลัดภาพโลว์คอสต์ สู่ ‘พรีเมียม แอร์ไลน์ส’

นายวุฒิภูมิ ยังกล่าวต่อว่า ล่าสุดสายการบินนกแอร์ ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของการปฏิบัติการ IOSA (IATA Operational Safety Audit) จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ  IATA อย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้สายการบินนกแอร์มีแผนจะขยายเส้นทางบินออกสู่ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินเพิ่มจากจาก 12 ชั่วโมงต่อวัน ไปเป็น 13 ชั่วโมงต่อวันในช่วงปลายปีนี้ เตรียมจะเปิดบินสู่หลายจุดหมายในประเทศอินเดียและจีน ส่วนที่ประกาศไปแล้วคือ เส้นทางบินตรงท่าอากาศยานดอนเมือง-หนานจิง เริ่มบินวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ส่วนเส้นทางบินภายในประเทศ เตรียมจะเปิดบินดอนเมือง-กระบี่ วันที่ 2 สิงหาคมนี้ สายการบินนกแอร์ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเส้นทางบินต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมองว่าปีหน้าสัดส่วนเส้นทางบินในประเทศและระหว่างประเทศจะอยู่ที่ 70 : 30

ลุคใหม่ ‘นกแอร์’ ในรอบ 20 ปี! ขอสลัดภาพโลว์คอสต์ สู่ ‘พรีเมียม แอร์ไลน์ส’

จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ที่สูงขึ้น ประกอบกับการลดค่าใช้จ่าย ภายใต้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนค่าเช่าเครื่องบิน การเพิ่มชั่วโมงการบิน และการปรับแบบเครื่องบินในฝูงบินให้เหมาะสม โดยได้นำเครื่องบินรุ่น Q400 จำนวน 8 ลำ ทยอยคืนผู้ให้เช่า เหลือการให้บริการเฉพาะโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ ทำให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา นกแอร์กลับมาทำกำไรครั้งแรกในรอบ 9 ปี  โดยมีรายได้รวม 8,750 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,283 ล้านบาท หรือ 17% มีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 47.66 ล้านบาท ถือเป็นปีที่สายการบินนกแอร์ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

สายการบินนกแอร์ ยังมุ่งมั่นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมศึกษาการใช้เชื้อเพลิงอากาศแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ที่อยู่ในขั้นเตรียมการทดลอง และการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิตเครื่องยนต์ ผู้ผลิตเครื่องบิน นอกจากนี้ วัตถุดิบ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้บริการแก่ผู้โดยสาร ล้วนคำนึงถึงอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น อาหารที่ใช้ให้บริการบนเที่ยวบิน กระดาษชำระ นิตยสาร เป็นต้น
ลุคใหม่ ‘นกแอร์’ ในรอบ 20 ปี! ขอสลัดภาพโลว์คอสต์ สู่ ‘พรีเมียม แอร์ไลน์ส’