‘ยุทธศักดิ์’ แนะท่องเที่ยวเร่งเสริมภูมิคุ้มกัน ยกระดับซัพพลายแข่งเวทีโลก

‘ยุทธศักดิ์’ แนะท่องเที่ยวเร่งเสริมภูมิคุ้มกัน ยกระดับซัพพลายแข่งเวทีโลก

ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานสถิติ 'นักท่องเที่ยวต่างชาติ' ที่เดินทางเข้าประเทศไทยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. จำนวนสะสม 17.50 ล้านคน ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติดังกล่าวมิได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

ยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวไว้เช่นนั้นในช่วงแรกของปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และบทเรียนสู่การท่องเที่ยวในอนาคต” หลังรับมอบรางวัลเกียรติยศ Thailand Tourism Hero Award by GSTM NIDA” ในงานใหญ่การแข่งขันตอบคำถามระดับชาติภาคบริการ ด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และธุรกิจการบิน จัดโดยคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้วยข้อมูลจาก “องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ” (UNWTO) ระบุว่า การท่องเที่ยวระหว่างประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2567 โดยประมาณการเบื้องต้นชี้ไปที่การเติบโต 2% เหนือระดับปี 2562 มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อัตราการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวในเอเชีย ความเสี่ยงด้านลบทางเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่จริง

นอกจากนี้ “การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยยังคงต่ำ” ตามรายงานของธนาคารโลกเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า บริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่เต็มที่ โดยเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.7 ล้านคนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 กับจำนวน 15 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปี 2567

สำหรับหนทางสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในอนาคต คือ Build Back Better” อยากเห็นการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบใหญ่ ไม่ใช่แค่การเพิ่มขึ้นเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ต้องทำให้การท่องเที่ยวแข่งขันได้และเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน! เพราะ “ภาคท่องเที่ยว” เป็นหนึ่งใน “เครื่องยนต์หลัก” ของเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนโควิด สะท้อนจากรายได้โดยตรงจากนักท่องเที่ยวที่คิดเป็นประมาณ 18% ของจีดีพี และยังไม่นับจีดีพีโดยอ้อมจากการบริโภคของแรงงานเกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคน ทุกภาคส่วนจึงหวังว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

จากข้อมูลดัชนี Travel & Tourism Development” (TTDI) จัดทำโดย เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ตั้งแต่ปี 2550 โดย TTDI เป็นมาตรวัดความสามารถในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยว ซึ่งข้อมูลเผยแพร่ล่าสุดในปี 2567 ครอบคลุม 119 ประเทศ และเครื่องชี้ย่อยในหมวดหมู่ต่างๆ ของภาคท่องเที่ยว ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐาน นโยบายและปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยว สภาพแวดล้อม ความยั่งยืน และแรงขับเคลื่อนดีมานด์ เช่น วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ

ปรากฏว่า มาตรวัดความสามารถในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยวไทย “ลดลง 6 อันดับ” จากผลสำรวจครั้งล่าสุด มาอยู่ที่อันดับ 47 จาก 119 ประเทศ เป็นที่ 10 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 13) อินโดนีเซีย (อันดับ 22) และมาเลเซีย (อันดับ 35) แต่ดีกว่าเวียดนาม (อันดับ 59) ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอินโดนีเซีย พัฒนาการด้านขีดความสามารถที่โดดเด่น คือ ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) และความยั่งยืนของดีมานด์ด้านการท่องเที่ยวและเดินทาง (Travel and Tourism Demand Sustainability) โดยอยู่ใน Top 10 ของทั้งสองเรื่อง

สำหรับประเทศไทย รายละเอียดจากการจัดอันดับจาก 119 ประเทศทั่วโลกในด้านต่างๆ เป็นดังนี้ ด้านปัจจัยของทรัพยากรธรรมชาติ อยู่ในอันดับ 17, ด้านปัจจัยทรัพยากรทางวัฒนธรรม อยู่ในอันดับ 26, ด้านปัจจัยความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อยู่ในอันดับ 43 และด้านปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ อยู่ในอันดับ 46

ปัจจัยที่ต้องพึงระวังและพิจารณากำกับดูแลและพัฒนาให้ดีขึ้นคือ ปัจจัยผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของการเดินทางท่องเที่ยว ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 106 และปัจจัยด้านความมั่นคงปลอดภัย อยู่ในอันดับ 102 จาก 119 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ “ดัชนีด้านความปลอดภัย” ของไทยล่าสุดปรับแย่ลงจากที่ 92 จาก 117 ประเทศ เป็น 102 จาก 119 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับแย่ที่สุดในอาเซียน! สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดของ ดรากอน เทรล (Dragon Trail) พบว่าคนจีนกังวลการเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 28% ในปี 2565 เป็น 51% ในปี 2566 และมีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยฟื้นตัวได้ช้า

“จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย หากภาคท่องเที่ยวไทยยังต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน สิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำร่วมกัน ได้แก่ การเร่งแก้ปัญหาความปลอดภัย การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเดิมอย่างดี และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพและครบครัน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับหลัก ESG เพื่อให้ธรรมชาติที่งดงามยังคงอยู่ และสร้างขีดความสามารถให้ภาคท่องเที่ยวของไทยยังแข่งขันได้ในอนาคต”

ยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นด้าน “ความยั่งยืน” เพื่อ Build Back Better นั้น ให้เกิดความยืดหยุ่น (Resilience) ในระดับที่จะสร้างความมั่นใจว่า “ท่องเที่ยวดี มีอนาคตยั่งยืน” อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยแนวทางดังนี้ 1.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานบนพื้นฐานของคุณภาพและความยั่งยืน โดยยกระดับและปรับโครงสร้างให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ พร้อมโครงสร้างที่ส่งเสริมการกระจายรายได้การท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่นและชุมชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง (เมืองน่าเที่ยว)

2.พัฒนาปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานบริการนักท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่มาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa-Free) แต่รวมถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเดินทางอย่างสะดวกปลอดภัย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี มีคุณค่าจากการเดินทางท่องเที่ยว เพิ่มความประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึงและตลอดระยะเวลาที่เดินทางท่องเที่ยว มีมาตรฐานการปฏิบัติเรื่องความสะดวกและปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นผู้เยี่ยมเยือนคนไทย หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ

และ 3.ใช้ความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตและสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว (Sustainability for Tourism Growth) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุปทานที่สอดคล้องในมิติต่างๆ ภายใต้การสร้างสรรค์เพิ่มคุณค่าและมีความแตกต่าง ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสม และอาจหมายรวมถึงการแก้ไขกฎหมาย โดยใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นเงื่อนไขในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ทั้งด้านการพัฒนาและการตลาดการท่องเที่ยว

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากดำเนินการไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นดีมานด์ที่ไม่เน้นจำนวน หากแต่คำนึงถึงคุณภาพของนักท่องเที่ยวและการสร้างความยั่งยืนแล้ว มั่นใจได้ว่าจะส่งผลทำให้ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีความยืดหยุ่นที่ดี มั่นคง แข็งแกร่ง และมีภูมิคุ้มกันระยะยาว” เพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างมูลค่าหรือรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประเทศ ภาคการท่องเที่ยวจะ Build Back Better กลับมาเติบใหญ่ แข่งขันได้ เติบโตอย่างยั่งยืน และทำให้ประเทศไทย “อะเมซิ่ง” (Amazing) ตลอดไป

“Next Chapter หรือบทต่อไปของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยนจากการผลิตตามความต้องการของตลาด (Demand-driven) ไปสู่การผลิตตามซัพพลาย (Supply-driven) ด้วยโปรดักต์คุณภาพ (Quality Products) การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทั้งนี้บทบาทของ ททท.อาจต้องปรับไปทำเรื่อง Supply Driven Demand มากกว่าการกระตุ้นดีมานด์ที่เน้นจำนวนอย่างเดียว โดยหันมาให้ความสำคัญกับด้านซัพพลายเพิ่มขึ้น ทั้งการพัฒนา สร้างสรรค์ และส่งเสริม ใช้โอกาสนี้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้อันดับ TTDI สูงขึ้น” ยุทธศักดิ์ กล่าวปิดท้าย