‘จีดีเอช’ เดินเกมร่วมทุนพันธมิตรไทย-เทศ ดันคอนเทนต์ ‘หนังไทย’ ผงาดตลาดโลก

‘จีดีเอช’ เดินเกมร่วมทุนพันธมิตรไทย-เทศ   ดันคอนเทนต์ ‘หนังไทย’ ผงาดตลาดโลก

อุตสาหกรรมภาพยนตร์เข้าใกล้การฟื้นตัวเต็มร้อย โดยปี 2567 คาดการณ์ตลาดจะมีมูลค่าใกล้เคียง 4,000 ล้านบาท เป็นฉากก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ขณะที่ปี 2566 ตลาดมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท

ขณะที่ค่ายหนังหรือสตูดิโอของไทยต่างพากันสร้างสรรค์หนังไทยเพื่อตอบโจทย์คนดูในประเทศ และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในต่างแดนมากขึ้น

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ฉายภาพว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ครึ่งปีหลัง 2567 ยังมีโมเมนตัมที่ดี เพราะมีหนังจ่อคิวเข้าโรงตอบโจทย์คนดู โดยเฉพาะหนังไทย และคาดหวังทำเงินอีกหลายเรื่อง อย่างของค่าย “จีดีเอช” จะมีอีก 2 เรื่อง ได้แก่ วิมานหนาม เข้าฉายวันที่ 22 สิงหาคม และ “404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN” จากครึ่งปีแรกมี “หลานม่า” เข้าโรงทำเงินและสร้างปรากฏการณ์อย่างมาก

ครึ่งปีแรก มีหนังที่เข้าฉายราว 150 เรื่อง ทำรายได้ 1,223 ล้านบาท (เฉพาะกรุงเทพฯและเชียงใหม่) แบ่งเป็นหนังไทย 23 เรื่อง ทำรายได้ 439 ล้านบาท และหนังต่างประเทศ 127 เรื่อง ทำรายได้ 785 ล้านบาท

‘จีดีเอช’ เดินเกมร่วมทุนพันธมิตรไทย-เทศ   ดันคอนเทนต์ ‘หนังไทย’ ผงาดตลาดโลก

จีดีเอชมีเรื่อง “หลานม่า” เข้าฉายครึ่งปีแรกและสร้างปรากฏการณ์มากมาย โดยเฉพาะการเป็น “หนังครอบครัว” ที่ฝ่ากระแสคนไม่นิยมดู ให้ออกมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์กันอย่างคับคั่ง และทำรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ 172 ล้านบาท ส่วนรายได้ทั่วประเทศอยู่ที่ 339 ล้านบาท ที่สำคัญทำรายได้ทั่วโลกกว่า 1,200 ล้านบาท

หลานม่า ยังเป็นภาพยนตร์ของจีดีเอช ที่ฉายถึง 16 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ทั้งจ่อคิวเข้าฉายที่จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จากปกติหนังไทยของบริษัทจะครองตลาดภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก ส่วนรูปแบบรายได้เป็นการแบ่งกัน จากก่อนหน้านี้ “ฉลาดเกมส์โกง” ขายสิทธิขาดในจีนและทำรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท

แนวทางการสร้างสรรค์หนังของค่ายจีดีเอช จากนี้ไปมองการขยายตลาดเพื่อสร้างการเติบโตให้ “ไกลกว่าในประเทศไทย”

‘จีดีเอช’ เดินเกมร่วมทุนพันธมิตรไทย-เทศ   ดันคอนเทนต์ ‘หนังไทย’ ผงาดตลาดโลก

กลยุทธ์สานเป้าหมายดังกล่าว “จินา” ย้ำว่าจะไม่ใช่การเติบโตเพียงลำพังอีกต่อไป จะเห็นการผนึกพันธมิตร (Collaboration) ทั้งในไทยและต่างประเทศ หาก “จุดแข็ง” ของแต่ละฝ่ายมาเสริมแกร่งแก่กัน ในไทยมีการ “ร่วมทุน” กับ JAI STUDIOS เพื่อสร้างหนังเรื่อง “วิมานหนาม” และการร่วมทุนกับ “รฤก โปรดักชั่น” เป็นการร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ “ยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์” ครั้งแรกเพื่อสร้างหนังผี “404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN” รวมถึงร่วมทุนกับ “Billkin Entertainment” ของ “บิวกิ้น พุฒิพงศ์” และ “PP Krit Entertainment” ของ “พีพี กฤษฏ์” เพื่อสร้างหนัง “Project Red”

“การจะพาหนังของจีดีเอชไปไกลกว่าไทย การทำงานต้องยกระดับให้พรีเมียม มีพาร์ทเนอร์มาร่วมทุนทำหนังทั้งโปรเจกต์ในไทยและต่างประเทศ ซึ่งพันธมิตรที่เราอยากได้ต้องมีจุดแข็งบางอย่างมาเติมเต็มให้งานพัฒนาไปข้างหน้า ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทุน เงินเป็นปัจจัยหนึ่งแต่ไม่ใช่ทุกอย่าง"

อย่างการร่วมกับ รฤก โปรดักชั่น สร้างหนัง 404 สุขีนิรันดร์ ทิศทางหนังผีคอมเมดี้ผสานกับฝีมือผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรงเกิดเคมีใหม่ หรือการร่วมกับบิวกิ้น พีพี ไม่ใช่เพราะเป็นนักแสดง แต่ทั้ง 2 คนมีจุดแข็งด้านอื่น ทำให้หนังขยายตลาดมากกว่าคอนเทนต์หนังได้ ส่วนต่างประเทศจะเห็นการร่วมทุนกับพันธมิตรในเกาหลี อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อต่อยอดธุรกิจภาพยนตร์ในเวทีโลก

‘จีดีเอช’ เดินเกมร่วมทุนพันธมิตรไทย-เทศ   ดันคอนเทนต์ ‘หนังไทย’ ผงาดตลาดโลก

“เราอยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตร 3 ประเทศ ความร่วมมือจะเห็นความชัดเจนปีหน้า พันธมิตรที่แข็งแกร่งจะช่วยพาเราไปเติบโตในต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ สื่อ ช่องทาง การทำตลาด มีความสามารถโปรโมตหนัง เราเปิดกว้าง โลกสมัยนี้ไม่ควรอยู่ได้ด้วยตัวเองคนเดียว ต้องมีเพื่อนฝูงช่วยเพิ่มคุณค่า”

จีดีเอช ยังมองภาพเป็นมากกว่าค่ายหนัง จะมีการต่อยอดธุรกิจสู่การผลิตสินค้าและขยายสู่ตลาดใหม่ๆ เช่น หนังสู่เกมส์ สินค้าสุขภาพ และอื่นๆ 

ล่าสุด จีดีเอช คิกออฟงาน “GDH รุก(เกิน)คาด” เปิดลิสต์หนังที่จะเข้าฉายครึ่งปี หลัง 2567 ส่วนปี 2568 จะมีหนัง 3-4 เรื่องเข้าฉาย และอาจมีซีรีส์ 1 เรื่อง ป้อนให้แพลตฟอร์มรับชมวีดิโอออนไลน์ (โอทีที) ส่วนปี 2569 จะมีหนัง 5 เรื่อง

ปัจจุบันการสร้างหนัง 1 เรื่อง ใช้เงินทุนระดับ 50 ล้านบาท หรือสูง 70-100 ล้านบาท (รวมโปรโมต) จากอดีตราว 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวจะผลักดันรายรายได้ปี 2568 อยู่ที่ 600 ล้านบาท ปี 2569 เติบโต 10-15% ขณะที่ ปี 2567 คาดปิดรายได้ 590 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 400 ล้านบาท โดย “หลานม่า” พลิกการเติบโต