‘มิราเคิล’ ลุ้น ทอท. ดึงบิ๊กแอร์ไลน์ใช้ SAT-1 อ้อนหยุดเก็บค่าเช่าที่โรงแรม

อาณาจักร ‘มิราเคิล กรุ๊ป’ ภายใต้การนำทัพของ ‘อัศวิน อิงคะกุล’ ในวัย 80 ปี ได้ให้นิยามสไตล์การทำธุรกิจของตัวเองว่าเป็นผู้อาศัย ‘ความกล้า’ แบบ ‘ไปตายเอาดาบหน้า!’
ล่าสุด เดินหน้าลงทุนธุรกิจในโลเกชัน “สนามบิน” รับแนวโน้มการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศ ล้อคลื่นการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทย จากปัจจุบันธุรกิจของ มิราเคิล กรุ๊ป ประกอบด้วยโรงแรม 4 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักรวม 647 ห้อง มิราเคิล เลานจ์ 18 แห่งในสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ที่พักแบบ แอร์ สลีป (Air Sleep) ห้องพักสำหรับผู้โดยสารรอต่อเครื่องบิน และแบบ แลนด์ สลีป (Land Sleep) ห้องพักสำหรับผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบิน รวมถึงศูนย์อาหาร เมจิก ฟู้ด ในสนามบิน ทั้งหมดขับเคลื่อนบริการด้วยพนักงานในเครือกว่า 1,400 คน
อัศวิน อิงคะกุล ประธานกรรมการบริหาร มิราเคิล กรุ๊ป เล่าว่า “มิราเคิล กรุ๊ป” ได้ขยายธุรกิจ Land Sleep เปิดให้บริการที่พัก และคาเฟ่ภายใต้ชื่อ “ไพร์ม สลีป แอนด์ คาเฟ่ บาย มิราเคิล” (Prime Sleep & Café by Miracle) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.67 ที่ผ่านมา หลังเช่าพื้นที่ขนาด 600 ตารางเมตร ชั้น 6 ตึกอาคารจอดรถโซน 3 ติดกับพิพิธภัณฑ์ ตรงข้าม Gate 8 อาคารผู้โดยสารขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ จากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ภายใต้สัญญาเช่า 7 ปีและสามารถต่อสัญญาได้ โดยใช้เงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท พัฒนาห้องพักจำนวน 25 ห้อง ขนาด 20 ตารางเมตร พร้อมห้องน้ำในตัว เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ลูกค้าสามารถเข้าพักได้ 2 คนต่อห้อง ทั้งแบบรายชั่วโมง และรายวัน เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่มีเที่ยวบินเดินทางเช้า
“หลังจากเปิดให้บริการ สลีป บ็อกซ์ บาย มิราเคิล (Sleep Box by Miracle) รวม 2 จุดบริการในสนามบินดอนเมืองแล้ว เราก็อยากมีที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย แต่พื้นที่ของ Prime Sleep & Café by Miracle มีขนาด 600 ตารางเมตร ทำห้องพักได้แค่ 25 ห้อง เท่ากับว่าวันหนึ่งต้องมียอดขายแสนบาท แต่หลังจากเปิดให้บริการร่วม 1 เดือน พบว่าคนยังใช้บริการน้อยประมาณ 6-7 ห้องเท่านั้น นิยมเข้าพัก 2-4 ชั่วโมง จึงต้องเร่งโปรโมตเพื่อเพิ่มอัตราการเทิร์นห้องพัก ในช่วงโปรโมชันเดือนก.ค. ขายห้องพัก 2 ชั่วโมงแรก ราคา 1,200 บาท”
แรกเริ่มนั้น Sleep Box by Miracle เปิดให้บริการที่สนามบินดอนเมือง บริเวณชั้น 4 อาคารผู้โดยสารในประเทศ มีห้องพักทั้งหมด 55 ห้องจาก 2 เฟส ผลการดำเนินงานปัจจุบันเรียกว่า “พออยู่ได้” โดยมองว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่เวิร์ก แต่อาจต้องใช้เวลา และคาดว่าเมื่อสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ย้ายฐานการบินกลับมาให้บริการที่สนามบินดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 เป็นต้นไป น่าจะได้ลูกค้าผู้โดยสารระหว่างประเทศมาใช้บริการ Sleep Box มากขึ้น
นอกจากนี้ มิราเคิล กรุ๊ป ได้เปิดให้บริการ “มิราเคิล เลานจ์” (Miracle Lounge) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ บริเวณชั้น 4 อาคารเทียบเครื่องบินรอง SAT-1 ทั้งชั้นธุรกิจ และชั้นเฟิร์สคลาส รวมถึงโรงแรม “มิราเคิล ทรานซิท” (Miracle Transit) จำนวน 35 ห้องพัก ให้บริการแบบเดย์รูม รองรับผู้โดยสารต่อเครื่องบิน (Transit) เปิดเมื่อเดือนก.ย.2566 บนพื้นที่รวมกว่า 3,000 ตารางเมตร ภายใต้สัญญาเช่าพื้นที่ 7 ปี ใช้เงินลงทุนกว่า 150 ล้านบาท เป็นการเพิ่มจำนวนห้องพักฝั่ง Air Sleep จากที่มีโรงแรม มิราเคิล ทรานซิท อีกจุด บนชั้น 4 Concourse A เปิดให้บริการอยู่แล้วด้วยจำนวนห้องพัก 33 ห้อง
“เดิมตามแผนการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรอง SAT-1 ของ ทอท. เพื่อรองรับผู้โดยสารต่อเครื่องบิน โดยเฉพาะผู้โดยสารจากสายการบินตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเครื่องบินลำตัวกว้างขนาดจัมโบ้ (Jumbo) มาจอด นี่คือ แผนที่วางไว้ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 พอหมดยุคโรคระบาดใหญ่ รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ มีการตั้งธงอยากเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 ในเดือนก.ย.2566 แต่พบว่าสายการบินที่ ทอท. ดึงมาใช้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรอง SAT-1 ส่วนใหญ่เป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ให้บริการแบบพอยต์ทูพอยต์ (Point-to-Point) ไม่ค่อยมีผู้โดยสารต่อเครื่องบิน และส่วนใหญ่ทำการบินช่วงกลางคืน ห้องพักที่สร้างมาจึงไม่มีลูกค้า”
เมื่อคำว่า “น่าสงสาร” ไม่ได้ช่วยลดการขาดทุนยับเยิน! ทาง อัศวิน จึงได้ทำหนังสือเสนอไปยัง ทอท.ว่า “ขอให้พิจารณาหยุดการเรียกเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่บริการเดย์รูม โรงแรมมิราเคิล ทรานสิท ตรงอาคาร SAT-1 เพื่อช่วยมิราเคิล กรุ๊ป หยุดเลือดไหลก่อน” เพื่อรอตลาดเป้าหมาย “ผู้โดยสารต่อเครื่องบิน” ซึ่งทาง ทอท.กำลังหาทางออก เบื้องต้นอาจจะเจรจาดึงสายการบินตะวันออกกลางรายใหญ่ เช่น เอมิเรตส์ และกาตาร์ แอร์เวย์ส มาใช้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรอง SAT-1 ส่วนบริการ มิราเคิล เลานจ์ ยังคงเปิดให้บริการ เพราะยังมีลูกค้าบัตรเครดิตเข้ามาใช้บริการอยู่บ้าง
ปัจจุบัน มิราเคิล เลานจ์ มีกระจายอยู่ทั่วสนามบินสุวรรณภูมิทั้งด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ขาออกในประเทศ และขาออกระหว่างประเทศ 13 แห่ง ตั้งแต่ Concourse A, C, F, G และ D บนพื้นที่รวมกว่า 3,000 ตารางเมตร หลังเปิดให้บริการมานานกว่า 13 ปี ถือว่าพอมีกำไร แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวจะขึ้นๆ ลงๆ และเมื่อรวมเลานจ์อีก 2 แห่งในอาคารเทียบเครื่องบินรอง SAT-1 และเลานจ์ในสนามบินดอนเมืองอีก 3 แห่ง เท่ากับว่ามี มิราเคิล เลานจ์ เปิดให้บริการรวมมากถึง 18 แห่ง
ด้านธุรกิจโรงแรมในเครือ 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ขนาด 270 ห้องพัก โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ขนาด 192 ห้องพัก ตั้งอยู่ใกล้กันแถวแยกหลักสี่ ส่วนโรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น ขนาด 88 ห้องพัก ตั้งอยู่ในซอยวิภาวดี 64 ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรก ถือกำเนิด อัศวิน ในวงการท่องเที่ยว และโรงแรมมิราเคิล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต ขนาด 97 ห้องพัก ตั้งอยู่ตรงถนนกิ่งแก้ว ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ
“ตอนสร้างโรงแรมอัศวินฯ ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท มีคนชอบมาถามว่าทำไมถึงสร้างใกล้กับโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ฯ ไม่กลัวแย่งลูกค้ากันเองหรือ แต่จริงๆ แล้วโรงแรมทั้งสองแห่งนั้นเสริมกัน และกัน ส่งต่อลูกค้าให้กัน เห็นได้จากช่วงครึ่งแรกของปีนี้โรงแรมอัศวินฯ มีอัตราเข้าพัก 70-80% ขณะที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ฯ มีอัตราเข้าพัก 80-90% โดยกว่า 80% เป็นลูกค้าคนไทย นิยมมาใช้บริการจัดประชุม สัมมนา และงานแต่งงาน สำหรับภาพรวมโรงแรมทั้ง 4 แห่งในปัจจุบันถือว่าอยู่ได้ ต้องประคองไปให้รอด ท่ามกลางปัญหากำลังซื้อในประเทศชะลอตัว” อัศวินกล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์