โรงแรม 50% คาดภาษี ‘กระตุ้นเมืองรอง’ ผลดียังจำกัด! หนุนรายได้เพิ่มไม่เกิน 5%

โรงแรม 50% คาดภาษี ‘กระตุ้นเมืองรอง’  ผลดียังจำกัด! หนุนรายได้เพิ่มไม่เกิน 5%

ผลสำรวจ 'ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรก' เดือน ก.ค. 2567 จัดทำโดย สมาคมโรงแรมไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 102 รายระหว่างวันที่ 9-27 ก.ค. ระบุธุรกิจ 'โรงแรม' มีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจาก 'อัตราการเข้าพัก' เดือน ก.ค. ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า อัตราการเข้าพักเดือน ก.ค. อยู่ที่ 59% เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. และใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองหลักบางพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ส่วนคาดการณ์อัตราการเข้าพักเดือน ส.ค. อยู่ที่ 56%

ในไตรมาส 3/2567 โรงแรมกว่า 50% “ปรับราคาห้องพักเพิ่มขึ้น” จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และส่วนใหญ่ปรับราคาห้องพักเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% ขณะที่โรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาวยังมีราคาห้องพักใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2566 ทั้งนี้ หากพิจารณารายภูมิภาค พบว่าโรงแรมในภาคกลางและภาคใต้มีสัดส่วนโรงแรมที่สามารถปรับราคาห้องพักได้สูงกว่าพื้นที่อื่น ขณะที่โรงแรมส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีราคาห้องพักใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ด้าน “การจ้างงาน” ผลสำรวจพบว่า เดือน ก.ค. ในภาพรวมโรงแรมที่เผชิญปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” มีสัดส่วนใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยโรงแรมราว 40% ยังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่กระทบเพียงคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบความสามารถในการรองรับลูกค้า ทั้งนี้โรงแรมในภาคกลางส่วนใหญ่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าภาคอื่น

สำหรับประเด็นมาตรการ “กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง” ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ 50% ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง คาดว่ามาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรองปี 2567 จะมีผลดีต่อรายได้อย่างจำกัด โดยส่วนใหญ่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ขณะที่บางส่วนมองว่าทำให้รายได้เพิ่มไม่เกิน 10%

ทั้งนี้ โรงแรมกว่า 70% มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้า “กลุ่มประชุมและสัมมนา” (MICE) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้น้อยกว่า 20% ของรายได้ทั้งหมด และโรงแรมราว 40% ประเมินว่าในครึ่งหลังปีนี้ รายได้จากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะใกล้เคียงกับครึ่งหลังปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม โรงแรมในภาคกลางและภาคเหนือส่วนใหญ่คาดว่ารายได้จากลูกค้ากลุ่ม MICE จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนด้วย

อีกประเด็นที่มีการสำรวจคือ “สัดส่วนค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมการใช้บริการ OTA (บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์) ต่อต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด” พบว่าปัจจุบันโรงแรมราว 50% มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียม OTA ไม่เกิน 15% โดยโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียม OTA ต่อต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมดสูงกว่าโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป นอกจากนี้ โรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนใหญ่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียม OTA สูงกว่าโรงแรมในพื้นที่อื่น

เทียนประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “มาตรการช่วยเหลือ” ที่ผู้ประกอบการต้องการจาก “ภาครัฐ” โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการให้มีมาตรการดังนี้ 1.มาตรการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย โดยอยากให้ภาครัฐช่วยลดค่าสาธารณูปโภคและค่าพลังงาน ชะลอการปรับขึ้นค่าแรง ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และให้สามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังอยากให้มีแพลตฟอร์มการให้บริการ OTA ที่เป็นของคนไทย เพื่อลดต้นทุนจากค่าธรรมเนียมการให้บริการที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง

2.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย เช่น มาตรการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไทยในช่วงโลว์ซีซัน และกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวของกลุ่มลูกค้าประชุมสัมมนามากขึ้น

3.มาตรการด้านแรงงาน โดยมีหน่วยงานรัฐที่ช่วยจัดหาแรงงานสำหรับธุรกิจโรงแรม พร้อมทั้งเพิ่มทักษะด้านภาษาให้กับนักศึกษาสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมมากขึ้น เพื่อให้ทำงานในธุรกิจโรงแรมได้ทันทีโดยไม่ต้องอบรมด้านภาษาเพิ่มเติม

และ 4.มาตรการด้านการเงิน เช่น มาตรการสินเชื่อสำหรับการปรับตัวตามกระแสความยั่งยืนในธุรกิจโรงแรม มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงที่พักเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และมาตรการช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร