ศึกชิงเบอร์ 1 เครื่องดื่มชูกำลัง ‘โอสถสภา - คาราบาว’ โชว์ผลงานแข่งโต

ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท มี 3 ผู้เล่นรายใหญ่ ที่ขับเคี่ยวแข่งขันกันสร้างการเติบโต เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ได้แก่ เอ็ม-150 “ผู้นำ” จากค่ายโอสถสภา “คาราบาวแดง” ของคาราบาว กรุ๊ป และ “กระทิงแดง” แห่งกลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP)
ผ่านครึ่งทางของปี 2567 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างทยอยเผยผลประกอบการ ซึ่ง 2 บิ๊กเครื่องดื่มชูกำลังต่างสร้างผลงานการเติบโตได้ ซึ่งน่าสนใจว่าแล้ว “แบรนด์ไหน” ที่สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด หรือเพราะตลาดรวมก็เติบโต กลายเป็น “เค้กขุมทรัพย์” ใหญ่ขึ้น
ทั้งนี้ มาดูผลประกอบการของเบอร์ 1 เครื่องดื่มชูกำลังภายใต้บริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน) ไตรมาส 2 ปี 2567 มีรายได้จากการขาย 7,345 ล้านบาท เติบโต 9.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9%
ด้านยอดขายหมวดสินค้าหลักตบเท้าสร้างผลงานโดดเด่นทั้งเครื่องดื่มที่ขยายตัว 11.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลเติบโต 26.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
ไตรมาส 2 เครื่องดื่มชูกำลังโต 2.1%
เมื่อเจาะกลุ่มเครื่องดื่ม สร้างรายได้จากการขาย 6,103 ล้านบาท เติบโต 11.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ไม่เพียงยอดขายในประเทศที่โต แต่ต่างประเทศก็ร้อนแรง เติบโตถึง 32.5% โดยเฉพาะในตลาดเมียนมา และลาว
สำหรับยอดขายเครื่องดื่มในประเทศที่ทำเงิน 4,253 ล้านบาท ยังเติบโต 4% และเครื่องดื่มชูกำลังที่เป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่ยังเติบโต 2.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลยุทธ์สำคัญมาจากผลิตภัณฑ์(Product)ที่แบ่งตลาดเป็น 2 ราคาอย่างชัดเจน เพื่อขยับสู่ “พรีเมียม” ด้วยราคา 12 บาท และยังคงตลาดวงกว้าง(Mass)ด้วยราคา 10 บาท รวมถึงการมีช่องทางจำหน่ายแข็งแกร่ง เสริมด้วยแคมเปญการตลาดต่างๆ อย่างแบรนด์เรือธงอย่าง “เอ็ม-150” ที่ยืนหนึ่งในตลาดด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ 32.2% ยังมี เครื่องดื่มเอ็ม-150 สปาร์คกลิ้ง เจาะคนรุ่นใหม่ วัยมิลเลนเนียล ใช้ Idol Marketing มาจับกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่งภาพรวมส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของโอสถสภา ปัจจุบันมีสัดส่วน 46.4%
นอกจากเครื่องดื่มชูกำลังที่มีเอ็ม-150 สร้างการเติบโต เครื่องดื่มหมวดอื่นๆ ขยายตัวไม่แพ้กัน อย่างกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหรือฟังก์ชันนอลดริ้งค์ ครองส่วนแบ่งตลาด 45.9% เพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ “ซี-วิท” เครื่องดื่มวิตามินซี ยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 74.4% เติบโต 6.9% ส่วนเปปทีน มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม 1% จากปีก่อน
ครึ่งปีโตกว่าภาพรวมตลาด
ส่วนสินค้าอื่น อย่างข้าวของเครื่องใช้ส่วนบุคคลมีรายได้จากการขาย 715 ล้านบาท เติบโต 26.3% โดยมีแบรนด์เรือธง “เบบี้มายด์” ที่มีแรงส่งสินค้าสบู่เหลวและแป้งเด็ก ขณะที่สินค้าอื่นๆ รายได้ 527 ล้านบาท ลดลง 19.7% จากการรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม)ผลิตภัณฑ์ขวดแก้ว เป็นต้น
สำหรับครึ่งปีแรก บริษัทมีรายได้จากการขาย 14,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2% โดยเครื่องดื่มเติบโต 13.1%และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลโต 17.6% เมื่อดู “เครื่องดื่มชูกำลัง” ยังสร้างการเติบโตได้ 5.2% “สูงกว่า” อัตราการเติบโตของตลาดรวมในประเทศ ด้านกำไรสุทธิ 6 เดือนแรก อยู่ที่ 1,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9%
คาราบาวแดงเร่งฝีเท้าเขย่าเบอร์ 1
ขณะที่ “คาราบาวแดง” ปีนี้ แม่ทัพใหญ่อย่าง “เสถียร เสถียรธรรมะ” ได้ประกาศเป้าหมายว่าจะเขย่าบัลลังก์ผู้นำปัจจุบัน และผลักดันให้แบรนด์ของ “คาราบาว กรุ๊ป” ขึ้นเบอร์ 1 ให้ได้
สำหรับผลงานไตรมาส 2 คาราบาว กรุ๊ป มีรายได้จากการขายรวม 4,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทว่าแยกย่อย รายได้จากการดำเนินการผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเองลดลง 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีมูลค่า 2,900 ล้านบาท ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากยอดขายที่เพิ่ม และ “ต้นทุนที่ปรับตัวลดลง” รวมถึงการคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ การทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ตรึงราคา 10 บาทเข้าสู้!
เครื่องดื่มชูกำลังเป็นพระเอกของบริษัท และปี 2567 “เสถียร” ตั้งมั่นในกลยุทธ์การ “ตรึงราคาสินค้า” คาราบาวแดงไว้ที่ 10 บาท สวนทางต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จน “คู่แข่ง” ต่างอั้น และแบกรับภาระไม่ไหว จนต้องขึ้นราคาขายเป็น 12 บาท และเป็นจุดกำเนิดเซ็กเมนต์พรีเมียมอีกด้วย
อาวุธ(ไม่)ลับคาราบาวแดง 10 บาท ที่รับกำลังซื้อชะลอตัว ทำให้โกย “ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น 10%” เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
นอกจากตรึงราคา 10 บาทไว้ คาราบาวแดง ยังงัดแคมเปญ “บาวแดงช่วยคนไทยสร้างอาชีพ” เพื่อมัดใจกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการเสริมแกร่ง เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมผู้บริโภคด้วย
เมื่อผู้ตามตรึงราคาสินค้าไว้ที่ 10 บาท ทำให้ "ยักษ์ใหญ่" ทั้งหลายไม่ยอมออกสงครามการแข่งขัน ต่างงัดสินค้าใหม่ ปรับสูตร เพื่อเข้าสู้ ทั้ง "เอ็ม-150" กับสูตรน้ำผึ้งหรือ "เอ็มน้ำผึ้ง" จากโอสถสภา และฝั่งกลุ่มธุรกิจทีซีพี ส่งกระทิงแดงเอ็กซ์ตร้า ฝาแดง กระทิงแดง ทีโอเปล็กซ์-แอล ทอรีน และ กระทิงแดงเอ็กซ์ตร้า ฝาดำ มาขาย 10 บาทด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยอดขายในประเทศของคาราบาว กรุ๊ปมีการปรับตัวลดลง 5% หรือไตรมาส 2 มีรายได้ 1,445 ล้านบาท เพราะคาราบาว กรุ๊ปยังมีเครื่องดื่มอื่นในพอร์ตโฟลิโอด้วย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มวิตามินซี “วู้ดดี้ ซี+ล็อค” เครื่องดื่มชูกำลังอัดก๊าซคาราบาว และเครื่องดื่มเกลือแร่ คาราบาว สปอร์ต เป็นต้น
"เบียร์" หนุนจัดจำหน่ายกระจายสินค้าโต 19%
ในปีที่ผ่านมา “เสถียร” ได้เดิมพันครั้งใหญ่ “เปิดตัวเบียร์คาราบาว” เข้าทำตลาดชิงขุมทรัพย์ “แสนล้านบาท” โดยสินค้าเบียร์มาเสริมทัพ “น้ำเมา” ที่ก่อนหน้านี้มีทั้งสุราขาว โซจู วิสกี้ ฯลฯ ซึ่งคาราบาวยังรับบทเป็นผู้รับจ้างจัดจำหน่ายให้กับสินค้าในและนอกเครือด้วย ในส่วนนี้สร้างรายได้ 1,723 ล้านบาท เติบโต 19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าขาย และกระจายสินค้าแน่นอนว่า ต้องเจาะร้านค้าปลีกทั่วไทย การขยายเครือข่ายเข้าถึงร้านค้าทั่วไปดั้งเดิม(Traditonal Trade : TT) ให้ครอบคลุมระดับ “อำเภอ” ทั่วประเทศ
สำหรับรายได้รวมครึ่งปีของบริษัทอยู่ที่ 9,970 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,318.97 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์