เปิดโรดแมป ’โกลบอลเฮ้าส์’ ลุยทำเลทองในอำเภอหลัก-อำเภอรอง-สยายปีกอาเซียน

‘โกลบอลเฮ้าส์’ ลุยเจาะทำเลทองในอำเภอหลัก อำเภอรอง - พร้อมสยายปีกทั่วภูมิภาคอาเซียน จับตามองทุนจีนมาไทย ในเบื้องต้นประเมินไม่กระทบค้าปลีก-ค้าส่งวัสดุก่อสร้าง
นายภิภพ วาสนาอาชาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ฉายภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทยังเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยในช่วงครึ่งปีหลัง จะเปิดสาขาใหม่ของโกลบอลเฮ้าส์ ประมาณ 4 สาขา ทำให้ในสิ้นปีนี้ 2567 มีสาขาครบ 91 สาขา
พร้อมวางแผนในปีต่อไป 2568 จะมีสาขาในประเทศไทยครบ 101 สาขา หรือมีการเปิดใหม่ประมาณ 10 สาขา
สำหรับตลาดในต่างประเทศ มุ่งยึดตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียน จากในปัจจุบันมี 34 สาขา ทั้งในประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา และอินโดนีเซีย
- กัมพูชา มี 2 สาขา ได้ขยายสาขาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวม 1 สาขา
- ลาว มี 7 สาขา วางแผนเปิดสาขาใหม่ครึ่งปีหลัง 2 สาขา
- อินโดนีเซีย มี 13 สาขา วางแผนเปิดสาขาใหม่ครึ่งปีหลัง 3 สาขา
- เมียนมา มี 12 สาขา วางแผนเปิดใหม่ช่วงต้นปีหน้า 2568 ประมาณ 1 สาขา
“แม้ว่าสถานการณ์ในเมียนมาช่วงที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยในประเทศ แต่บริษัทได้ทำธุรกิจในเมียนมาที่มีพาร์ทเนอร์ รวมถึงวางแนวทางร่วมมีพาร์ทเนอร์ในทุกประเทศ จึงร่วมผลักดันสร้างการเติบโตของธุรกิจ ทำให้มีการขยายตัวดีมาตลอด”
นอกจากนี้ ตลาดในประเทศยังได้มีการนำเทคโนโลยีเอไอ และลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน สอดรับกับยุทธศาสตร์ขององค์กรที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาดและความยั่งยืน
เร่งลงทุน 2,000 ล้านบาท ขยายสาขา-รีโนเวท
นายยุทธนา สุริยวนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดูแลงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เสริมว่า แผนลงทุนของบริษัทในปี 2567 วางงบลงทุนไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาใหม่ในประเทศไทย 8 สาขา และการรีโนเวทสาขาเดิม เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า
สำหรับภาพรวมกำลังซื้อในครึ่งปีหลัง ยอดขายในช่วงเดือน ก.ค. สาขาเดิมหดตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากภาพรวมของการก่อสร้างในประเทศยังไม่สดใสและยังไม่มีงบประมาณของภาครัฐออกมากระตุ้น จึงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงสองเดือนนับจากนี้ไป
จับตามองแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนมาไทย
ขณะที่ปัจจัยที่ภาคธุรกิจไทยจับตามองกับการมาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จาก ประเทศจีนคือ เทมู (Temu) ประเมินในเบื้องต้น จะมีผลต่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมากกว่า แต่บริษัทมีการติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดและยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัท
อีกทั้งมีกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาจัดตั้งโรงงานในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เข้ามาจัดตั้งเพื่อส่งออกไปสหรัฐและยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากมีมาตรการทางการค้า ตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) จากสินค้าที่ผลิตจากจีน จึงเลือกมาลงทุนเปิดโรงงานในประเทศไทยแทน
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการนำเข้าสินค้าบางส่วนจากจีนเข้ามาขายเช่นกัน แต่เลือกเฉพาะสินค้าที่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยในช่วงที่ผ่านมามีแบรนด์จากจีนสนใจติดต่อผ่านบริษัท เพื่อนำสินค้ามาจำหน่ายในสาขา
สำหรับภาพรวมผลประกอบการของบริษัทในปี 2567 ประเมินว่า รายได้อาจจะเติบโตใกล้เคียง หรือสูงกว่า จีดีพีของประเทศไทย ที่มีการขยายตัวประมาณ 2% ส่วนรายได้จากต่างประเทศของบริษัท อยู่ที่ประมาณ 1.60-1.70 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาสสองที่ผ่านมา มีรายได้จากขายอยู่ที่ 8,715.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.50% ส่วนรายได้อื่นๆ อยู่ที่ 206.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.68% ทำให้มียอดขายรวม เติบโต 2.75% แต่ยอดขายสาขาเดิมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลกำไรสุทธิรวม 764.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรขั้นต้น (GP) ขยายตัว 26.62%