เจาะอินไซด์ทำไมแบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม - แฟรนไชส์จีน ลุยตลาดไทยหนัก

เจาะอินไซด์ทำไมแบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม - แฟรนไชส์จีน ลุยตลาดไทยหนัก

สำรวจเทรนด์การลงทุนของแบรนด์ร้านอาหาร และเครื่องดื่มจากจีน ปักหมุดเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก เน้นกลยุทธ์ด้านราคา จากการมองคนไทยต้องการสินค้าราคาประหยัด กระตุ้นแบรนด์ไทยต้องเร่งปรับแผน ชูคุณภาพ เพิ่มมูลค่าให้แก่แบรนด์

นายเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มแฟรนไชส์ และผู้ประกอบการจากจีนในกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง คาดว่าจะมีอีก 3-4 แบรนด์ในกลุ่มเครื่องดื่ม และขนมหวาน โดยผู้ประกอบการจากจีนต่างเน้นตลาดแมส พร้อมกลยุทธ์ราคาถูก เนื่องจากประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทย และกำลังซื้ออยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มราคาประหยัด และคุ้มค่ามีสูงขึ้น 

ทั้งหมดสะท้อนได้จากเข้ามาเปิดสาขาในหลายทำเล ทั้งในเมือง และศูนย์การค้า ต่างเน้นเรื่องราคาร่วมดึงดูดลูกค้า และสร้างกระแสให้แก่คนในประเทศ โดยนอกจากตลาดแมสแล้ว ยังมีแบรนด์เครื่องดื่มกลุ่มพรีเมียมของจีน ที่เป็นชาดัง 5 แบรนด์หลักได้เข้ามาขยายสาขาในไทยครบหมดแล้ว 

ยุคใหม่แบรนด์จีนขยายสาขาไปทั่วโลก

“อยากให้มองภาพรวมว่าการเข้ามาของแบรนด์จากประเทศจีน ไม่ได้เลือกเฉพาะตลาดไทย แต่เป็นการขยายไปทั่วโลก เปิดในหลายประเทศ และไทยเป็นหนึ่งในตลาดลงทุนที่น่าสนใจ อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลจีนได้ให้งบ และออกมาตรการสนับสนุนแบรนด์ของจีนในการไปลงทุนต่างประเทศอย่างเต็มที่ จึงเห็นการเปิดสาขาใหม่ในหลายพื้นที่ และแบรนด์เข้ามาจัดตั้งตามขั้นตอนกฎหมายของไทย มีการจ้างพนักงานคนไทย” 

ทั้งนี้การเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยผู้ประกอบการจีนมีทั้งเข้ามาลงทุนเปิดสาขาเอง และการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเมื่อตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มุ่งเจาะตลาดแมสอย่างเดียว ควรมีการปรับแผนธุรกิจ และกลยุทธ์ ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้แก่แบรนด์และมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เห็นได้ชัดเจนจากหลายแบรนด์ชื่อดังกลุ่มเครื่องดื่มของไทย สามารถตั้งราคาได้สูง และลูกค้าในประเทศต่างให้การตอบรับที่ดีมาก 

เจาะอินไซด์ทำไมแบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม - แฟรนไชส์จีน ลุยตลาดไทยหนัก

เจาะตลาดแฟรนไชส์ไทยกลุ่มมาแรง

เมื่อประเมินภาพรวมตลาดแฟรนไชส์ของประเทศไทย จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีแบรนด์รวมประมาณ 531 กิจการ แต่หากรวมบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดว่า รวมทั้งหมดมีประมาณ 700 กิจการ ตลาดมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท (ไม่รวมกลุ่มร้านสะดวกซื้อ) ซึ่งประเมินว่าในปี 2567 จะขยายตลาดประมาณ 9% 

ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่มีโอกาสขยายตัวสูงตามดีมานด์

  • กลุ่มสุขภาพและความงาม
  • กลุ่มผู้แลผู้สูงอายุ
  • กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง
  • กลุ่มด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับไอที และเอไอ

กลุ่มที่มีการขยายตัวแบบคงที่

  • กลุ่มร้านอาหารในขนาดกลาง และขนาดเล็ก
  • กลุ่มธุรกิจร้านซักผ้า และอบผ้า
  • กลุ่มบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์

ส่วนกลุ่มที่ชะลอตัวลง

  • กลุ่มร้านอาหารที่มีต้นทุนสูง และกำไรต่ำ
  • กลุ่มค้าปลีกแบบดั้งเดิม
  • กลุ่มโลจิสติกส์
  • สถาบันติวเตอร์แบบดั้งเดิม 

เปิดกฎหมายลงทุนแฟรนไชส์ในประเทศจีน ง่าย-ยากเพียงใด

อีกทั้งเมื่อหากเปรียบเทียบโอกาสของธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุนแฟรนไชส์ในประเทศจีนที่ผ่านมามีหลายแบรนด์เข้าไปลงทุนแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในเบื้องต้นประเทศจีนมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ทั้ง

  • การเข้าไปลงทุนต้องมีการเปิด 2 สาขา
  • จ้างพนักงานเป็นชาวจีน
  • การขยายแฟรนไชส์ได้เมื่อดำเนินธุรกิจมาครบ 1 ปีแล้วเท่านั้น
  • ต้องสร้างผลประกอบการที่มีรายได้ และกำไรต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายดูแลธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เช่น กฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า และกฎหมายด้านการลงทุนต่างๆ ในประเทศ เป็นต้น 

อินไซด์ชาวจีนเมืองใหญ่นิยมแบรนด์ดังจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ข้อมูลอินไซด์การบริโภคของชาวจีนในเมืองใหญ่ๆ ยังนิยมสินค้าแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มจากแบรนด์ต่างประเทศ โดยกลุ่มลูกค้าในเมืองที่มีกำลังซื้อ เช่น ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ มุ่งให้ความสนใจเรื่องคุณภาพ ทำให้แบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศสร้างยอดขายสูงกว่าแบรนด์ในประเทศ ยกตัวอย่าง แบรนด์ไอศกรีมชื่อดังจากสหรัฐ กับ แดรี่ควีน ยังสามารถแข่งขัน และเป็นผู้นำในตลาดในเมืองใหญ่ได้ 

สำหรับในช่วงที่ผ่านมามีแบรนด์ไทยหลายรายเข้าไปลงทุนในประเทศจีน และเปิดสาขา อย่าง แมงโก้ทรี เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น โดยเป็นอาหารไทยระดับพรีเมียม หรือ ไฟน์ไดน์นิง (Fine Dining) แต่อีกด้านยังมีหลายแบรนด์ไทยที่ไม่ประสบความสำเร็จในจีน สิ่งสำคัญคือ ควรหาพาร์ตเนอร์เป็นชาวจีนจะเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพื่อร่วมสร้างโอกาสขยายสาขา 

"ภาพรวมร้านอาหารไทยในประเทศจีน มีประมาณ 160 ร้านค้า แต่ส่วนใหญ่เป็นร้านของกลุ่มนักลงทุนประเทศจีนเป็นหลัก ส่วนของผู้ประกอบการไทยแท้ มีประมาณ 10 ร้านค้า ทำให้ชาวจีนเมื่อได้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย และได้รับประทานอาหารในประเทศจึงเข้าใจว่า อาหารไทยแท้มีรสชาติอย่างไร"

นอกจากนี้มีแบรนด์อาหาร และเครื่องดื่มชื่อดังของประเทศไทย จำนวนหลายราย ถูกลูกค้าในประเทศจีน นำชื่อไปจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทำให้เจ้าของแบรนด์ไทยไม่สามารถที่จะไปใช้ชื่อแบรนด์ตัวเองในจีนได้แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ในประเทศจีนมีธุรกิจแฟรนไชส์จำนวนประมาณ 2,000 แบรนด์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก และรุนแรงกว่าตลาดประเทศไทย ทำให้หลายๆ แบรนด์มีผลประกอบการและจำนวนลูกค้าแต่ละสาขาไม่ได้สูงมาก 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์