‘สรวงศ์’ ปัดฝุ่น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ส่องโมเดล Tax Refund ญี่ปุ่น ดึงทัวริสต์

'กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา' ภายใต้การนำทัพของรัฐมนตรีว่าการคนใหม่ 'สรวงศ์ เทียนทอง' ได้หารือกับ 14 องค์กร ภาคเอกชนท่องเที่ยวเมื่อ 18 ก.ย.67 เห็นตรงกันว่า 'เอกชน' ควรเป็น 'ผู้นำ' ส่งเสริมตลาดผ่านกิจกรรม และอีเวนต์ต่างๆ โดยกระทรวงฯ จะเข้าไปสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
“จาก 1 ปีที่รัฐบาลเพื่อไทยเข้าบริหารประเทศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เข้าทำงานแล้ว 2 คน คนที่ 3 คือ ตัวผม ถ้ารัฐบาลอยู่นานแค่ไหน ผมก็อยู่นานเท่านั้น” สรวงศ์ ย้ำชัดถึงความมั่นใจ
พร้อมระบุว่า จะตั้งดัชนีชี้วัดการทำงาน หรือ “KPI” ของตัวเอง ภายในสิ้นปีนี้ต้องผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไปให้ถึง 36.7 ล้านคน สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวไปให้ถึงเป้าหมาย 3 ล้านล้านบาท ส่วนเป้าของอดีตนายกฯ เศรษฐา ซึ่งเป็นนักธุรกิจมาก่อน ได้ตั้งไว้สูง ยอมรับว่าเป็นเป้าที่เหนื่อย แต่ทุกภาคส่วนพร้อมผลักดันให้ใกล้เคียงเป้าของอดีตนายกฯ มากที่สุด!
ที่ประชุมยังมีความเห็นตรงกันเรื่องนำโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กลับมากระตุ้นตลาด “ไทยเที่ยวไทย” อีกครั้ง เพราะเป็นโครงการที่ได้ผลจริง จึงขอให้ลบความคิดด้านการเมืองไปเลย เพราะอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์ เราต้องทำ
“สำหรับผมไม่เขินที่จะนำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งประสบความสำเร็จในรัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาทำอีกครั้ง เพราะเป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยได้ทุกระดับ จึงมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟสใหม่ เสนอต่อคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน เพื่อของบประมาณมาดำเนินการ หลังจากวันที่ 18 ก.ย.67 นายกฯ แพทองธาร ได้เรียกเข้าพบเพื่อหารือถึงสถานการณ์ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้น จึงได้รายงานว่าจะฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทางนายกฯ เองก็เห็นด้วย”
สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แม้จะช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศได้จริง ส่วนตัวมองว่าเป็น “มาตรการยาแรง” ที่เหมาะกับวิกฤติท่องเที่ยวทรุดมากกว่า หากรัฐบาลตัดสินใจฟื้นโครงการนี้อีกครั้ง จะต้องดำเนินการให้รอบคอบ และรัดกุมมากที่สุด ดูระบบเพื่อป้องกันให้ดี มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพียงพอ
ด้วยที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จากทั้งหมด 5 เฟส พบการทุจริตในเฟส 1-2 มีการดำเนินคดีราว 1,400 คดี แต่ละคดีมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท ดังนั้นความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตน่าจะมากกว่า 1,400 ล้านบาท ส่วนเหตุผลที่ต้องวางระบบ และมีเจ้าหน้าที่เพียงพอ เพราะบางคดีมีผู้เกี่ยวข้องที่ตำรวจต้องสอบปากคำถึง 7,000-8,000 คนแค่คดีเดียว จนถึงปัจจุบันปิดคดีได้แค่ 10 คดีเท่านั้น
ด้านประเด็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ล่าสุด สรวงศ์ ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เร่งดำเนินการว่าควรจัดเก็บอย่างไร และกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินที่จะจัดเก็บเข้ากองทุนให้ชัดเจน ว่าจะนำเงินไปเป็นทุนในการพัฒนาภาคท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง อาทิ การพัฒนาห้องน้ำ ดูแลบุคลากรการท่องเที่ยว และดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบประกันภัยการเดินทาง
อีกประเด็นคือ การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น “ชอปปิง เดสติเนชัน” (Shopping Destination) ตอนนี้มองถึงแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเรื่องขอ “คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม” (Vat Refund) เบื้องต้นอาจใช้โมเดล “ญี่ปุ่น” ที่นักท่องเที่ยวสามารถยื่นขอคืนภาษี ณ ร้านค้าหรือจุดขายได้เลย แน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งกระทรวงการคลัง และภาคเอกชน หลังได้รับรายงานว่าขั้นตอนขอคืนภาษี เป็นไปอย่างล่าช้า ต่อแถวยาวยืด ไม่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว
สรวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เอกชนท่องเที่ยวยังมีข้อเสนออีกหลายประเด็นเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว เช่น การส่งเสริมท่องเที่ยววันธรรมดา บางทีมีมาตรการส่งเสริม แต่พอเดินทางไปถึง สถานที่ไม่พร้อมรองรับ เช่น ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ จึงเห็นว่าควรมีโครงการใหม่ควบคู่ไปด้วย นั่นคือ โครงการ “วัน แมป ทัวริสซึม” (One Map Tourism) เป็นคู่มือการเดินทางครบวงจรของนักท่องเที่ยว ประกอบด้วยข้อมูลสถานที่ ปฏิทินกิจกรรม และไฮไลต์สินค้าท่องเที่ยว “5 Must Do in Thailand”
ด้านแนวทางกระตุ้นท่องเที่ยวใน “ไฮซีซัน” ช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ (ต.ค.- ธ.ค.) ผู้ประกอบการต่างสะท้อนถึงตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น นักท่องเที่ยวอินเดีย ว่าควรเร่งขยาย ด้วยการเพิ่มเที่ยวบินตรง รวมถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เข้าสู่เมืองหลัก และเมืองรองของประเทศไทย พร้อมทำแคมเปญ “ฟิล์ม ซิตี้” เพื่อดึงภาพยนตร์บอลลีวูดเข้ามาถ่ายทำให้เมืองไทย รวมถึงการดึงคู่แต่งงานอินเดียมาจัดงานในไทย เนื่องจากยอดการใช้จ่ายสูงไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทต่องาน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์